อินไซต์เศรษฐกิจ

ไทยควรรับมืออย่างไร เมื่อสินค้าจีนราคาถูก ทะลักเข้ามาในประเทศ?

18 ต.ค. 67
ไทยควรรับมืออย่างไร เมื่อสินค้าจีนราคาถูก ทะลักเข้ามาในประเทศ?

การบุกเข้ามาของสินค้าจีนในไทย ทำให้ผู้บริโภคไทยซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง แต่ก็ตามมาด้วยผลกระทบด้านลบต่อผู้ผลิต และผู้ประกอบการไทย รวมถึงความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไทยควรรับมืออย่างไร เมื่อสินค้าจีนราคาถูก ทะลักเข้ามาในประเทศ?

KKP Research มองว่า การรับมือกับปัญหาที่ใหญ่ หลายมิติ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเช่นนี้ ‘ภาครัฐไทย’ ต้องเข้ามาวางแนวทางเชิงรุก ในการช่วยลดผลกระทบแก่ผู้ประกอบการและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะหากมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการไทย 

ซึ่งมาตรการสกัดกั้นหรือตอบโต้สินค้าจากจีน อาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง ทั้งในด้านเม็ดเงินลงทุน ภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรของไทย 

KKP Research ประเมินว่า การพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหานี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงจุดสมดุล และผลได้ผลเสีย หาวิธีป้องกันหรือลดทอนผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นตามมา รวมถึงพิจารณาคุณลักษณะของกลุ่มสินค้าหรือ กลุ่มผู้ขายจากต่างประเทศ ดังนี้:

  1. การแข่งขันที่เป็นธรรม - สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีการลักลอบ หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือการตั้งราคาต่ำกว่าต้นทุนที่เข้าข่ายเป็นการทุ่มตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม หรือกฏระเบียบ ข้อตกลงที่มีอยู่ สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทยหรือไม่? 
  2. คุณภาพและมาตรฐาน - สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดโดยมาตรฐานสินค้าและอาหารของหน่วยงานภาครัฐไทยหรือไม่? 
  3. อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ - สินค้านำเข้ากำลังแข่งขันกับการผลิตในประเทศ ในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจไทย และการจ้างงานในภาพรวมหรือไม่? 

ในกรณีที่สินค้ามีลักษณะที่ตรงตามเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นหลักการกว้างๆ ในการพิจารณากลุ่มสินค้า ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยในกรณีที่มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมที่มี ความสำคัญกับเศรษฐกิจมีเวลาปรับตัวมากขึ้นกับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปเพื่อรักษา ผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ตัวอย่างมาตรการจากอินโดนีเซีย

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเจอกับปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน จนสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อผู้ประกอบการในประเทศ แต่ประเทศอื่นๆ ก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน และมีวิธีการรับมือและตอบโต้ในรูปแบบแตกต่างกันไป

ในบางประเทศมีการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าบางชนิด เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และแคนาดา ที่ตั้งกำแพงภาษีกับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีน 

ส่วน ‘อินโดนีเซีย’ ออกมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น:

  1. เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties: ADD) กับสินค้านำเข้าจากจีน เช่น เซรามิก สิ่งทอ และเหล็ก เนื่องจากนำเข้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน กระทบต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่น 
  2. เพิ่มภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนหลายรายการ ซึ่งรวมถึงสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ เซรามิก และรองเท้า มากถึง 200% เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนราคาถูกเข้าสู่ตลาดในอินโดนีเซียนอย่างไม่จำกัด 
  3. ตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อจัดการกับการนำเข้าสินค้าอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือที่ไม่ได้รับการควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าหลบเลี่ยงภาษีเข้าสู่ตลาด 
  4. กำหนดโควต้านำเข้าจากจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันชั่วคราว เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศมีเวลาปรับตัวต่อการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ 
  5. ออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจากจีน เช่น TikTok โดยรัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามการทำธุรกรรมซื้อ-ขายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยให้อนุญาตเฉพาะการโฆษณาและการโปรโมทเท่านั้น หากต้องการทำธุรกรรมซื้อ-ขาย จะต้องเข้ามาจดทะเบียนในประเทศ และได้รับใบอนุญาตพิเศษสำหรับอีคอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,300 บาท สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าราคาถูกเข้ามาท่วมตลาด 

การตอบโต้ที่ได้ผล ต้องพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจ ลักษณะและระดับของปัญหา และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในด้านอื่นด้วย ซึ่งในขณะเดียวกัน การเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสม ควรคำนึงถึงการช่วยลดผลกระทบด้านลบในระยะสั้นได้อย่างทันที ขณะที่สร้างการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ KKP Research สรุปว่า ภาครัฐอาจต้องช่วยส่งเสริมด้วยการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม การปรับปรุงการผลิต การบุกเบิกตลาดใหม่ ซึ่งหากไทยสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปใน ทิศทางดังกล่าวได้สำเร็จ ก็จะช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทยได้อย่างยั่งยืน

ที่มา KKP Research

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT