'บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG' เป็นผู้ประกอบธุรกิจอาหารชั้นนำครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผลิตสินค้าออกมาขายโดยใช้แบรนด์ 'เบทาโกร' โดยเร็วๆ นี้ 'เบทาโกร' กำลังจะเข้าเป็นหุ้นน้องใหม่ โดยใช้ย่อหุ้นว่า 'BTG'
ล่าสุด 'เบทาโกร' ประกาศราคาขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) จำนวนไม่เกิน 434.80 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 40 บาท เมื่อคำนวณแล้วการระดมเงินทุนในครั้งนี้จะมีมูลค่าถึง 17,392 ล้านบาท
เบทาโกร เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรชั้นนำในประเทศไทย โดยครอบคลุมตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สุกรและสัตว์ปีก ไข่ไก่ อาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฟาร์ม และการดำเนินงานด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
เปิดไทมไลน์กำหนดเปิดจองซื้อเป็น 2 ช่วง ได้แก่
- ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทฯ และพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในวันที่ 10-17 ต.ค. 2565
- ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อและผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchaser) วันที่ 20-25 ต.ค. 2565
โดยมี บล.เกียรตินาคินภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นปรึกษาทางการเงิน และ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
ทั้งนี้ บริษัทจะให้สิทธิผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายหลังการเสนอขายหุ้นที่จัดจำหน่ายเพื่อให้ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินสามารถจัดหาหุ้นเพื่อส่งมอบคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ให้ยืมหุ้นเพื่อการจัดสรรหุ้นส่วนเกินเป็นจำนวนไม่เกิน 65.20 ล้านหุ้น
ใครบ้างมีสิทธิ์จองซื้อหุ้น IPO ของ 'เบทาโกร'
โดยลงทุนทุนที่มีสิทธิ์ซื้อหุ้น IPO ของ 'เบทาโกร' มีดังนี้
- ผู้ถือหุ้นเดิม 'เบทาโกร' จำนวนประมาณ 7.50 ล้านหุ้น
- ผู้ลงทุนในประเทศรวมประมาณ 320.11 ล้านหุ้น แบ่งเป็น นักลงทุนบุคคลตามการพิจารณาของผู้จัดจำหน่าย150.50 หุ้น
- บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทฯ 5.20 ล้านหุ้น
- พนักงานของบริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ 12.30 ล้านหุ้น
- ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ 23 ล้านหุ้น
- ผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศ (ไม่รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นCornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศ) และนิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ 27.08 ล้านหุ้น, ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศ 102.03 ล้านหุ้น
- ผู้ลงทุนในต่างประเทศรวมประมาณ 107.20 ล้านหุ้น แบ่งเป็น ผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในต่างประเทศ (ไม่รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ) 27.08 ล้านหุ้น และ ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ 80.12 ล้านหุ้น
สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้กำหนดราคาเสนอขายที่ 40 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64-30 มิ.ย. 2565 ซึ่งเท่ากับ 3,650.1 ล้านบาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.89 บาทต่อหุ้น และ P/E ประมาณ 21.2 เท่า
แต่หากภายหลังจากการเสนอขายหุ้นครั้งนี้มีจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้ว 2,000 ล้านหุ้น ที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จะมีกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.83 บาทต่อหุ้น และ P/E ประมาณ 21.9 เท่า ขณะที่ บริษัทได้เปรียบเทียบอัตราส่วน P/E ของบริษัทเทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 3 บริษัท ที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) อยู่ที่ 25 เท่า, บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) 32.8 เท่า และ บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) 27.3 เท่า
'เบทาโกร' จะนำเงินจาก IPO จำนวน 1.74 หมื่นล้านบาทไปทำอะไรบ้าง?
'เบทาโกร' จะใช้เงินจากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 17,392 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการเข้าซื้อหรือก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ 8,000 ล้านบาท, ชำระหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาวออีก 8,960-10,500 ล้านบาท โดยที่เหลือใช้เป็นทุนหมุนเวียน
บริษัทมีรูปแบบการทำธุรกิจแบบครบวงจร (Vertically Integrated Business Model) ที่ครอบคลุมในหลายด้านของห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะเลี้ยง และจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์สัตว์ การทำฟาร์มเชิงพาณิชย์ การชำแหละและการแปรรูปเนื้อสัตว์ ไปจนถึงการขาย โรงงานผลิตและแปรรูปอาหารที่มีมาตรฐานสูงและมีประสิทธิภาพ
ผลิตภัณฑ์ที่วางขายภายใต้แบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม อาทิ แบรนด์ "BETAGRO" และ "S-Pure" สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อนามัย เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารแปรรูป, แบรนด์ "ITOHAM" สำหรับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเกรดพรีเมียม แบรนด์ "betagro" "Balance" และ "MASTER" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ แบรนด์ "Better Pharma" และ "Nexgen" สำหรับผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ และแบรนด์ "Perfecta" "DOG n joy" และ "CAT n joy" สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง
หุ้น IPO ของ 'เบทาโกร' มีความน่าสนใจยังไง?
'เบทาโกร' ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลากว่า 55 ปี ปัจจุบัน BTG ทำธุรกิจอาหารแบบครบวงจร (Vertically Integrated Business Model) ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ การจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฟาร์ม ปศุสัตว์ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ อาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง การดำเนินงานด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
สำหรับโมเดลธุรกิจ ของ BTG ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ เช่น การผลิตอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ตลอดจนธุรกิจปลายน้ำ การผลิต แปรรูปอาหาร เพื่อจำหน่ายผ่านทางช่องทางที่หลากหลาย ทำให้ BTG สามารถบริหารจัดการการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและช่องทางการจัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดและความต้องการของผู้บริโภค (Optimization) อีกทั้งยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และมีกระบวนการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น ที่สำคัญ ยังทำให้ BTG สามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารผ่านการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ภายใต้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) อีกด้วย
'เบทาโกร'มีธุรกิจหลักแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจเกษตร
- กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน
- กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ
ขณะที่กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจมีการเติบโตของปริมาณการขายและราคาสินค้าที่โดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ทำให้ BTG มีรายได้รวมอยู่ที่ 54,193.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีกำไรสุทธิ 3,892.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 233.1%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
จุดเด่นธุรกิจของ 'เบทาโกร' ไม่เพียงมีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย แต่ยังมีช่องทางการขายสินค้าทั้งกลุ่มอาหารและโปรตีนที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ทั้งการจำหน่ายให้แก่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และแบบดั้งเดิม ผู้ค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ร้านอาหารเครือข่ายหรือผู้จัดจำหน่ายของร้านอาหารเครือข่าย บริษัทส่งออกระหว่างประเทศ ผู้จัดจำหน่ายในประเทศที่จัดหาสินค้าให้แก่ร้านอาหารและผู้ให้บริการด้านอาหาร พร้อมทั้งจำหน่ายผ่านช่องทางของตนเอง ดังนี้
สาขาเบทาโกร 97 แห่ง
- ร้านเบทาโกรช็อป 207 แห่ง
- ร้านเบทาโกรเดลี 32 แห่ง
- ร้านเนื้อสัตว์อนามัย 715 แห่ง
(ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565)
นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดต่างประเทศ มีสาขาเบทาโกร 4 สาขา ในประเทศกัมพูชา เบทาโกรช็อป 5 แห่ง ในสปป.ลาว และส่งออกไปกว่า 20 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง อีกทั้งมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรให้แก่ฟาร์มอิสระ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรผสมผสาน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่โดยตรงหรือผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง
ผลประกอบการ 'เบทาโกร' ระหว่างปี 2562-2565
- ปี 2562 มีรายได้ 75,188.4 ล้านบาท กำไร 1,267.5 ล้านบาท
- ปี 2563 มีรายได้ 80,631.5 ล้านบาท กำไร 2,341.0 ล้านบาท
- ปี 2564 มีรายได้ 86,743.7 ล้านบาท กำไร 839.0 ล้านบาท
- 6 เดือนแรก 2565 มีรายได้42,975.5 ล้านบาท กำไร 1,168.5 ล้านบาท