Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
5 เทคนิคอ่านงบแบบกระชับ  หุ้นดี หรือ หุ้นเสี่ยง รู้ก่อนเลือกเข้าพอร์ต
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

5 เทคนิคอ่านงบแบบกระชับ หุ้นดี หรือ หุ้นเสี่ยง รู้ก่อนเลือกเข้าพอร์ต

27 มิ.ย. 66
08:30 น.
|
773
แชร์

งบการเงิน เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้น  ในมุมของนักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากงบการเงินได้เป็นอย่างมาก ทั้งในระดับการอ่านจุดสำคัญๆ อย่างรวดเร็ว หรือการอ่านอย่างละเอียดที่ต้องใช้เวลามากก็ตาม  ในเว็บไซต์ของ SET และ settrade ก็ได้จัดข้อมูลให้ครบทั้ง งบแบบสรุป  และแบบละเอียดครบทุกบรรทัดให้อย่างจุใจทุกหุ้นในตลาด ขาดเพียงรายที่มีปัญหาไม่ส่งงบเท่านั้นเอง

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ แนะวิธีการดูข้อมูลงบการเงินในจุดสำคัญๆ ไม่ใช่ตำราการวิเคราะห์งบการเงินฉบับเต็ม ที่ต้องเขียนเป็น 100 หน้า และอ่านนานเป็นวันๆ  แต่จะสรุปเฉพาะจุดสำคัญที่ท่านควรดูเป็นขั้นต่ำ โดยไม่ใช้เวลามาก (จนหมดกำลังใจที่จะอ่านต่อ)  สามารถเห็นได้ว่าหุ้นที่ดูนั้นเป็นหุ้นดีที่น่าสบายใจ หรือเป็นหุ้นแย่ที่มีจุดเสี่ยงจุดเปราะที่ควรหลีกเลี่ยง

เทคนิคอ่านงบแบบกระชับ 5 ข้อ ได้แก่ 1) รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชี 2) ดูการเติบโตของรายได้ กำไรสุทธิ สินทรัพย์ 3) ดูตัวเลขที่แสดงว่าบริษัทนี้มีคุณภาพกำไรในอัตราที่ดีหรือไม่ เช่น Net Profit Margin, ROE 4) ความเสี่ยงและสภาพคล่องทางการเงิน และ 5) ตรวจตัวเลข ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ

5 จุดสำคัญของงบการเงินที่ควรจะดูเป็นขั้นต่ำ 

1.รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชี 

แม้ว่าจะค่อนข้างยาว โดยส่วนหนึ่งเป็นการแจงของผู้สอบบัญชีว่าได้สอบถามตรวจทานมาอย่างไร และกล่าวถึงว่า ผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำงบ เป็นต้น จุดที่สำคัญที่สุดที่ต้องหาให้ได้คือ ถ้อยคำว่า ”งบการเงินนี้ถูกต้องตามที่ควรในสาระสําคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน” หรือ “ไม่พบสิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อว่าข้อมูลทางการเงินดังกล่าวไม่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชี”   แต่ถ้าอ่านเจอคำว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท” แบบเดียวกับหุ้นที่กำลังโด่งดังอยู่ขณะนี้ ต้องเลี้ยวหนีทันทีนะครับ

นอกจากนั้น ในรายงานผู้สอบบัญชี  ให้ดูต่ออีกนิดว่า มี ”ข้อสังเกต” หรือไม่  ถ้ามีก็ควรอ่านดูครับว่า  ประเด็นข้อสังเกตนั้นทำให้เรากังวลหรือไม่กังวลครับ

แต่ถ้าใครอยากได้ตัวช่วยสรุปความเห็นผู้สอบบัญชีเร็วขึ้นไปอีก ให้ไปดูจาก Factsheet ในเว็บไซต์ของ settrade เขาได้ช่วยสรุปความเห็นผู้สอบบัญชีไว้ให้เรียบร้อยสั้นๆ  เช่น ไม่มีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เป็นต้น ครับ

2.ดูการเติบโตของรายได้ กำไรสุทธิ สินทรัพย์

ควรใช้ตัวช่วยจากตัวเลขสรุป 5 งวดปี ที่เว็บไซต์ SET และ settrade ช่วยนำข้อมูลมาเรียงเป็นตารางให้เรียบร้อย ธุรกิจโดยทั่วไปที่ไม่ใช่หุ้นวัฏจักรแบบเข้มข้น (Cyclical Stock) ควรมีแนวโน้มเติบโตให้เห็นได้  จากการเรียงข้อมูลประมาณ 5 ปี โดยไม่จำเป็นต้องโตทุกปีก็ยอมรับได้ เพราะการลดหย่อนนิดๆ หน่อยในบางปีไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศที่เศรษฐกิจไม่ได้เติบโตมากแบบไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อาจต้องยอมเว้นวรรคข้ามการดูปี 2563 และ 2564 ที่เป็นช่วงวิกฤตโควิดอย่างหนักจนตั้งหลักไม่ทันครับ  เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้บ่อยๆ

การเรียงข้อมูลเทียบแค่ 2 ปี หรือ 3 ปี ไม่เพียงพอให้เห็นทิศทางที่ผ่านมาว่าเติบโตหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหุ้นธุรกิจวัฏจักรเข้มข้น เช่น ปิโตรเคมี  น้ำมัน  โลหะ สินค้าเกษตร สายการบิน เป็นต้น ทั้งนี้ หุ้นวัฏจักรแบบเข้มข้น จะมีพฤติกรรมราคาสินค้าและกำไรผันผวนมากเป็นวัฏจักร ช่วงที่ดีจะขึ้นแรงจนตะลึงประมาณ 2 ปี แล้วสลับด้วยการดิ่งเหวประมาณ 2 ปี ยามลงแรงอาจถึงขั้นผลดำเนินงานขาดทุน แล้วก็จะกลับเข้าสู่วงจรขาขึ้นรุนแรงใหม่ สลับกันเช่นนี้ไปเรื่อย ดังนั้น ใครเอางบแค่ 2-3 ปี มาดูก็จะเข้าใจผิดว่าเป็นหุ้นเติบโตสูง  หรือในช่วงแย่ก็นึกว่าเป็นหุ้น Sunset คือ ชีวิตธุรกิจจบสิ้นแล้ว  ซึ่งจะกลายเป็นการมองผิดพลาดเป็นอย่างมาก  แต่เมื่อเรียงงบ 5 ปี ก็จะเห็นได้ถึงพฤติกรรมของวัฏจักรได้ชัดเจนครับ

ตัวเลขยอดรายได้ และกำไรสุทธิที่นำมาดู ควรเป็นรายได้และกำไรที่เป็นปกติของการดำเนินธุรกิจ  ไม่ใช่ฟลุค ที่เป็นรายการพิเศษครั้งเดียว เช่น  ขายที่ดินกำไรครั้งเดียวโดยไม่ได้มีอาชีพจัดสรรที่ดิน  หรือกำไรจากการแก้ไขปัญหาหนี้แล้วเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ เป็นต้น

3.ดูตัวเลขที่แสดงว่าบริษัทนี้มีคุณภาพกำไรในอัตราที่ดีหรือไม่ 

นอกเหนือไปจากเราจะดูตัวเลขกำไรสุทธิ กำไรต่อหุ้น ที่อยู่บรรทัดล่างของงบกำไรขาดทุนแล้ว คงต้องเอาตัวเลขมาหารหาอัตราส่วนกำไรด้วย เช่น กำไรสุทธิหารด้วยยอดรายได้ (Net Profit Margin) กำไรสุทธิหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)

ธุรกิจที่ดี ควรมีอัตรากำไรที่สูง และเทียบยาวๆ  5 ปี อัตรากำไรไม่หดแคบลง ถ้ามีเวลาอีกนิด น่าจะลองไปดูของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันจะเห็นได้ชัดขึ้นครับ

ควรเลี้ยวไปเหลือบมองงบกระแสเงินสดสักนิดครับ ในบรรทัดที่เขียนว่า เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน  หรือพูดง่ายๆ คือ เงินสดจากกำไรของกิจกรรมค้าขายที่บวกกับบรรดาค่าเสื่อมราคาที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ต้องเงินออกไป (เพราะซื้อมาก่อนแล้ว) และไม่รวมการลงทุนต่างๆ ไม่รวมการกู้ยืมหรือคืนเงินกู้  ในบางรายที่โชว์ว่ามีกำไรสุทธินั้น แต่พอไปดูบรรทัดเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานกลับติดลบ กรณีนี้ ถ้าเรายังจะสนใจหุ้นนี้  ก็คงต้องเพิ่มการบ้าน  ให้ไปเจาะดูเพิ่มอีก เช่น  ดูว่ามียอดลูกหนี้สูงขึ้นมากใช่ไหม  หรือสต็อคสินค้าคงเหลือในบริษัทพุ่งขึ้น จึงทำให้ตัวเลขกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบ ถ้าเป็นเช่นที่ว่านี้ ดูไม่สวยงามนัก ท่านอาจต้องพิจารณาเพิ่มให้ดีว่า ลูกหนี้มีปัญหาค้างชำระเกินสมควรหรือไม่ และทำไมสต็อควัตถุดิบและสินค้าพุ่ง เป็นเพราะขายไม่ออกหรือไม่ครับ 

กรณีที่กล่าวไปนี้  เรายังไม่นับรวมกรณีตุกติกทางบัญชี  ซึ่งต้องเรียนว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะจับทันได้ทั้งหมดจากการดูในงบการเงินที่แจ้งออกมา  นักลงทุนและนักวิเคราะห์คงต้องพยายามเลือกหุ้น โดยค้นหาประวัติและพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้บริหาร ทีมงาน กรรมการ และผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งก็คงกรองได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายที่เขาเนียนกริ๊บ แสดงหลักฐานว่ามียอดขาย มีใบเสียภาษีต่างๆ ยืนยันอีกด้วย 

4.ความเสี่ยงและสภาพคล่องทางการเงิน 

โดยหลักแล้ว บริษัทที่มีหนี้น้อย ส่วนของทุนมาก และบริหารโครงสร้างการเงินดี ย่อมมีความเสี่ยงที่ต่ำ มีแรงทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอหรือถดถอยได้ดี ให้ดูอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ตัวเลขที่ต่ำเป็นตัวเลขที่สบายใจในแง่ความเสี่ยงทางฐานะการเงิน 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่แข็งแรงและมีการเติบโตดีจริง อาจไม่ใช้สัดส่วนนี้ต่ำมากๆ เนื่องจากความจำเป็นต้องขยายงาน และในความเป็นจริง ต้นทุนดอกเบี้ยกู้นั้น ต่ำกว่าต้นทุนที่ถูกเรียกร้องจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Cost of Equity ) ดังนั้น เราอาจเห็นบริษัทดีๆ มีสัดส่วนเกิน 1 เท่าไปบ้าง อาจจะใกล้ 2 เท่าก็ไม่ต้องตกใจ แต่หากเห็นกิจการที่กำไรไม่ค่อยดี แล้วมีระดับ D/E 3-4 เท่า อันนี้น่าเสียวไส้ครับ เพราะเป็นการแบกความเสี่ยงทางการเงินที่สูงเมื่อเทียบกับพลังในการสร้างกำไรมาจ่ายคืนหนี้   และหากมีสถานการณ์ธุรกิจชะลอหรืออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปมาก ภาระนี้ก็คงหนักหนาขึ้น โอกาสทำกำไรก็จะยิ่งยากเป็นเท่าตัว

ในเรื่องหลักเกณฑ์อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนใกล้ 1 เท่านี้  ไม่ไปใช้กับธุรกิจธนาคาร  ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องระดมหนี้จากเงินฝาก เอามาเป็นสินค้าที่เอาไปขาย (ปล่อยกู้)  และกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย  ทำให้อัตราส่วนจะไปเกือบ 10 เท่านะครับ  วิธีวิเคราะห์งบธนาคารจะมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดแตกต่างไปจากธุรกิจอื่นมาก ในวันนี้เรายังไม่เข้าไปเขียนถึงครับ

กรณีที่ค่า D/E สูง อาจต้องดูอัตราส่วนสภาพคล่องการเงินระยะสั้นอีกสักนิด ที่เรียกว่า Current Ratio นั่นคือ ในงบดุล ให้เอาบรรทัดสินทรัพย์หมุนเวียนมาหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน โดยทั่วไปเราคงต้องการให้เกิน 1 เท่า เพื่อให้พอหมุนเวียนจ่ายหนี้ระยะ 1 ปีทัน  เงินไม่ช็อตไปเสียก่อน 

แต่ถ้าจะเอาให้ชัวร์ ควรไปถึงขั้นใช้ Quick Ratio คือ สินทรัพย์หมุนเวียนที่ไม่นับรวมสินค้าคงเหลือในมือ แล้วหารด้วยหนี้สินหมุนเวียนเเบบเต็มคาราเบล ตัวเลขก็จะต่ำกว่า Current Ratio ลงไปบ้าง  ซึ่งเป็นวิธีที่คัดกรองความเสี่ยงทางสภาพคล่องได้มั่นใจขึ้น โดยเฉพาะกรณีของกิจการที่แอบมีสินค้าคงเหลือเกินปกติ ถ้าคำนวณ Quick Ratio ตัวเลขจะลดฮวบลงมาเยอะเช่น Current Ratio อยู่ที่ 1.1 แต่ Quick Ratio ทรุดมาที่ 0.7 เป็นต้น

5.ตรวจตัวเลข ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ ว่าดูเป็นปกติดี ตัวเลขเหล่านี้ถ้าดูอันตราย มักเป็นจุดเริ่มต้นของหุ้นที่จะมีปัญหา

ปกติจะมีตัวเลขที่ขยายสอดคล้องไปกับการเติบโตของการขาย  ซึ่งอาจเร็วช้ากว่ากันนิดหน่อยได้  แต่กรณีที่ต้องระวัง คือการพุ่งขึ้นพรวดพราดของยอดลูกหนี้  และหรือสินค้าคงเหลือ  เช่น ยอดขายเพิ่มขึ้น 10% แต่ยอดลูกหนี้พุ่งขึ้น 70 % อันนี้ท่านลองไปดูคำอธิบายในเอกสาร คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) ที่เขาส่งมาพร้อมงบการเงิน  อาจอธิบายไว้ในนั้น ท่านต้องชั่งใจดูว่า คำอธิบายสมเหตุผลน่าสบายใจไหม  และถ้าไม่มีคำอธิบาย  ผมว่าเราต้องระวังครับ

ลองคำนวณตัวเลขลูกหนี้เทียบระยะเป็นจำนวนวันหรือเดือนของการขาย เช่น ถ้ามียอดขาย ปีละ 2,400 ล้านบาท  เท่ากับเฉลี่ยได้เดือนละ 200 ล้านบาท แต่มียอดลูกหนี้พุ่งขึ้นเยอะเป็น 1,200 ล้านบาท  เมื่อเอายอดลูกหนี้หารด้วยยอดขายต่อเดือน  ปาเข้าไปประมาณ 6 เดือน ถือว่าค้างกันนานมาก ลองมองปีก่อนเทียบกัน ว่าพุ่งมาจากระดับกี่เดือน  และหรือดูลักษณะธรรมชาติทางธุรกิจของเขาว่าเป็นการขายของเงินผ่อนประชาชนหรือไม่  ถ้าไม่ใช่ก็แสดงว่าอาจมีปัญหาลูกหนี้เกิดขึ้นครับ

คำนวณตัวเลขสินค้าคงเหลือว่าค้างผิดปกติหรือไม่ โดยเทียบระยะเป็นจำนวนวันหรือเดือนของต้นทุนสินค้าขาย  โดยทั่วๆ ไป น่าจะคงเหลือไว้ไม่นานไปกว่า 2-3 เดือน ขึ้นกับลักษณะธุรกิจ  ถ้าคงเหลือค้างนานเท่ากับรอขายครึ่งปี แบบนี้ต้องไตร่ตรองดีๆ ว่ามีคำอธิบายที่สมเหตุผลหรือไม่ครับ  ผมจำได้ว่าเคยมีเคสที่มีปัญหา เป็นหุ้นในอดีตรายหนึ่งเมื่อสัก 15 ปีก่อน ที่ทำธุรกิจโชว์รูมรถหรูนำเข้า  มียอดสินค้าคงเหลือนาน 6-7 เดือน ซึ่งผมก็รู้สึกแปลกใจมาก เพราะโดยทั่วไปน่าจะเป็นการจองโดยมีแค่รถโชว์ไม่กี่คัน  ซึ่งต่อมาหุ้นนี้มีปัญหามากมายหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสินค้าคงคลังกลายเป็นสินค้าทิพย์เกือบทั้งหมด คือไม่มีสต็อคอยู่จริง

ทั้งหมดนี้ เป็นเทคนิคอ่านงบแบบกระชับ 5 ข้อ ที่ผมหวังว่าจะช่วยให้นักลงทุนได้นำไปใช้คัดกรองให้ได้หุ้นที่ดี หนีหุ้นที่แย่ได้พอสมควร และหากว่านักลงทุนอยากสบายง่ายกว่านี้ ผมแนะนำให้อ่านบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานของนักวิเคราะห์ที่มีใบอนุญาตในสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ ที่ได้ร่วมกันส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้สมาคมนักวิเคราะห์ฯร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไว้ภายใต้หัวข้อ ผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ (IAA Consensus) อยู่ในเว็บไซต์ settrade กว่า 300 หุ้น ดูตาม Linkนี้ ก็ได้ครับ
https://www.settrade.com/th/research/iaa-consensus/main



แชร์
5 เทคนิคอ่านงบแบบกระชับ  หุ้นดี หรือ หุ้นเสี่ยง รู้ก่อนเลือกเข้าพอร์ต