ตลาดหุ้นไทยปรับตัวได้ดีขึ้นภายหลังจากการออกมาตรการต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุม short selling โดยนำกฎ uptick มาใช้ รวมถึงการเสนอขายกองทุนวายุภักษ์ล่าสุดอีก 1 - 1.5 แสนล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดหุ้น ซึ่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน พร้อมกับเป็นการซื้อเวลาเพื่อรอตัวเลขเศรษฐกิจไทยให้มีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน ขณะที่รอการอัดฉีดเงินผ่านแอปให้ประชาชน นอกจากนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในเดือนกันยายน ลง 0.50% ตอกย้ำว่าวัฐจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยโลกเกิดขึ้นแล้ว และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐน่าจะลดลงไปจนถึงปี 2568 ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินไหลกลับสู่ประเทศเอเซีย
อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยยังคงมีความท้าทายในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยเราคาดหวัง 3 ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค, การส่งออก และการท่องเที่ยวดีขึ้น จากปัจจุบันมาบรรจบกันในช่วงปลายปีที่ถือว่า เป็นเวลาไฮซีซั่นของประเทศไทย ท่ามกลางปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และเพดานหนี้ภาครัฐที่รอการบริหารจัดการให้ดีกว่าเดิม
สิ่งที่ดูจะเป็นปัจจัยท้าทายในระยะยาว สำหรับมุมมองของเรา คือ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันต่อเวทีการค้าโลกของไทย และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจระดับ SME ไทยยังขาดแรงผลักดันแก้ไขจากภาครัฐ จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยขาดความยืดหยุ่นหากเราต้องเผชิญแรงกดดันจากประเทศคู่ค้าและการเมืองระหว่างประเทศ
แน่นอนครับ บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนไปทางบวกมากขึ้น สภาพคล่องเม็ดเงินที่ไหลเข้ากลุ่มประเทศเอเซียดูจะเป็นปัจจัยหลักที่ดันตลาดหุ้นเอเซียให้วิ่งขึ้นจากภาวะซบเซา และกลบปัจจัยพื้นฐานตัวเลขเศรษฐกิจกลุ่มเอเซียที่ต้องการมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไทย
สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยราคาย้อนหลัง 100 วันเพิ่มขึ้น 300% เทียบกับช่วงเวลาเดือนตุลาคม2566-เม.ย 2567 ซึ่งบ่งชี้ว่า ราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยโดยส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม หมายถึง ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ได้ถูกผลักดันจากหุ้นใหญ่ 50 บริษัทใน SET50 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำหรับการเข้าซื้อของกองทุนวายุภักษ์ เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างแรงซื้อจากนักลงทุนที่ถือเงินสดแล้วอยู่ระหว่างตัดสินใจให้ซื้อหุ้นต่างๆ ส่งผลให้ราคาหุ้นจำนวนมากในกระดานเพิ่มขึ้นในวงกว้างจนเสียงนักวิจารณ์การเงินหลายท่านที่ประเมินภาพตลาดหุ้นไทยที่จะดิ่งต่อไป 1100-1200 จุดเงียบหายไป
ข้อดี คือ ตลาดหุ้นไทย ฮ่องกง และจีน ถือว่าปรับตัวขึ้นได้น้อยมากในระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาเทียบกับตลาดหุ้นต่างๆปรับตัวขึ้นไปแล้วในระดับ 13-18%ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ตลาดหุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสวิ่งตามเพื่อนขึ้นไปได้ในภาวะสภาพคล่องดีขึ้น และมาตรการกระตุ้น ช่วยเหลือของรัฐในแต่ละประเทศ ประกาศออกมา เช่น ล่าสุดธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดสัดส่วนเงินสำรองธนาคาร เพื่อให้ธนาคารสามารถอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านกลไกการเงินเพิ่มเพื่อให้ GDP สามารถขยายตัวได้ถึงเป้าหมาย 5-5.25%
สรุป บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ในโค้งสุดท้ายน่าจะยังเป็นทิศทางที่ดีจากปัจจัยหนุนหลายประการ แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นมาจากระดับ 1280 จุด ถือว่าต่ำสุดปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 14% แต่หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากต้นปี-ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรูปดอลลาร์สหรัฐเพียง 7.69% เทียบกับดัชนี MSCI Asia AC ex Japan (USD) ผลตอบแทนเท่ากับ 12%ดังนั้น ท่านที่ต้องการลงทุนในกองทุน RMF, SSF, Thailand ESG เพื่อใช้สำหรับลดหย่อนภาษี ไม่ควรชักช้า รอซื้อกองทุนฯ ดังกล่าวในเดือนธันวาคม หรอกครับ
YTD % | Div yield | P/E (x) | P/E (x) est. | P/BV (X) | |
SET | 7.69 | 3.13 | 18.19 | 16.24 | 1.38 |
MSCI AC Asia ex Japan | 12 | 2.38 | 16.92 | 12.5 | 1.71 |
MSCI AC Asia | 12.5 | 2.31 | 16.35 | 13.3 | 1.61 |
Source: MSCI factsheet, SET, BLS research
กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)