‘Next Normal เรื่องเงินหลังวิกฤติโควิด’
บทความโดย แก้ม - ขวัญชนก วุฒิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ
นอกจากวิกฤติโควิด-19 จะทิ้งบาดแผลทางกายและบาดแผลทางใจไว้อย่างสาสมแล้ว วิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (และยังต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปีนี้กับการพัฒนาสายพันธุ์โอมิครอน) ยังทิ้ง “บาดแผลทางการเงิน” ไว้ให้คนทั้งโลก แบบหนักบ้าง เบาบ้าง แตกต่างกันตามความเปราะบางทางการเงิน
และในขณะที่เราต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตตามวิถีใหม่หรือ “นิว นอร์มัล” (New Normal) ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งการใส่แมสก์ ทั้งการล้างมือบ่อยๆ การพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา และการตรวจ ATK ที่กลายเป็นเรื่องคุ้นเคยไปแล้ว เมื่อลองหันกลับมามองในโลกของการบริหารจัดการเงิน ก็พบว่า เราล้วนได้รับบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เป็นวิถีใหม่ทางการเงินที่เป็น Next Normal ที่ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อหาทางเอาตัวให้รอดในระยะถัดไป
วิถีใหม่ทางการเงินที่เป็น Next Normal ประการแรก นั่นคือ “เงินสดคือพระเจ้า” เราจะยอมรับการถือครองเงินสดเพิ่มขึ้น ลดการแสวงหาผลตอบแทน และเน้นเพิ่มการดูแลความเสี่ยง
ก่อนวิกฤติโควิด-19 จะกระทบกับความมั่นคงทางการเงิน แบงก์ชาติเคยออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่นานเกินไป จะทำให้ประชาชนแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่เรียกว่า Search For Yield และจะรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นการไล่ล่าผลตอบแทนหรือ Hunt For Yield ซึ่งนั่นจะทำให้คนเหล่านั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูงขึ้น และหลายคนอาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ใช้ผลตอบแทนสูงๆ มาเป็นเครื่องจูงใจ
แต่โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง คนส่วนใหญ่หันมาเก็บออมมากขึ้น รักษาสภาพคล่องที่เป็น “เงินสด” ไว้ให้มากที่สุด เห็นได้จากตัวเลขเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 14.73 ล้านล้านบาทในเดือนมกราคม 2564 เพิ่มเป็น 15.03 ล้านล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2564 โดยเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 15.06 ล้านล้านบาทเมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน
เคยมีคนถามว่า เงินฝากเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยต่ำ แปลว่า คนไทยรวยขึ้นหรือ ? (เหมือนเวลายอดขายรถ หรือเห็นข่าวคนต่อแถวซื้อสมาร์ทโฟน ก็จะต้องถามว่า ไหนบอกคนไทยจน) เรื่องเงินฝากเพิ่มขึ้น ต้องบอกว่า ไม่เกี่ยวกับรวยขึ้น แต่เกี่ยวกับ “ออมมากขึ้น” ถือครองเงินสดมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้นและยอม “มั่งคั่ง” น้อยลง
Next Normal ประการที่ 2 คือ “ความสำคัญของเงินสำรองฉุกเฉินจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 6 เท่า” เพราะหลายคนเจอกับภาวะ Income Shock ที่อยู่ๆ รายได้ก็หายไปเลย ออกไปทำงานไม่ได้ ห้างสรรพสินค้าปิด ร้านอาหารปิด ช่างแต่งหน้า ช่างผม ช่างนวด ต้องหยุดรับงานทั้งหมด ตามทฤษฎีการบริหารเงิน จะมีกฎข้อที่หนึ่งเตือนไว้เสมอว่า เราต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อไว้ 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือนเสมอ เช่น ถ้ามีรายจ่ายเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อไว้อย่างน้อย 60,000 บาท หรือถ้ามีรายจ่ายต่อเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 120,000 บาท เพื่อให้ในช่วงเวลาที่เราไม่มีรายได้ อย่างน้อยเราก็ยังมีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ใช้จ่าย
โดยกฎ 6 เดือนที่ว่านั้น มาจากความเป็นไปได้พื้นฐานว่า เราไม่ควรจะตกงาน หางานไม่ได้ หรือหารายได้ไม่ได้ เกินกว่า 6 เดือน ซึ่งในภาวะปกติก็ควรจะเป็นอย่างนั้น
แต่หลังจากเจอกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้รู้ว่า ที่เคยคิดว่า การสำรอง 6 เท่าของรายจ่ายจะ “อยู่ได้” นั้นแทบไม่จริงเลย เพราะเราไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตหรือกลับมามีรายได้ปกติภายใน 6 เดือนหลังการแพร่ระบาด ชีวิตวิถีใหม่ทางการเงินสำหรับหลายคนอาจจะต้องเผื่อเงินสำรองฉุกเฉินสูงถึง 12 เท่าของรายจ่าย เรียกว่า เผื่อไว้สำหรับตกงาน ไม่มีรายได้อย่างน้อย 1 ปีนั่นแหละ !
Next Normal ประการที่ 3 คือ “ความสำคัญของการควบคุมรายจ่ายจะเพิ่มขึ้น” จากที่เคยคิดว่า ออกจากบ้านเมื่อไหร่ ทำงานเมื่อไหร่ก็มี “รายได้” เข้ามา ทำให้กลายเป็นความคุ้นเคยว่า “เราควบคุมรายได้ได้” แต่วิกฤติ-โควิด 19 ทำให้ต้องคิดใหม่ว่า งานที่เคยติดต่อหรือมีเข้ามา พร้อมจะถูก “ยกเลิกได้” และรายได้ที่คิดว่า ควบคุมได้ อาจจะกลายเป็นศูนย์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว “รายได้” เป็นสิ่งที่คนอื่น (นายจ้าง) กำหนด ส่วน “รายจ่าย” เราเป็นคนกำหนดเอง
การควบคุมรายจ่ายให้ดีที่สุดคือ มีรายได้เท่าไหร่ ก็ “จ่าย” ให้น้อยกว่าที่ “หาได้” เสมอ ถ้าเราคิดและทำแบบนี้ตั้งแต่แรก ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่มันก็ไม่สามารถเล่นงานเราจนสะบักสะบอมได้ โดยเฉพาะในวันที่รายได้เหลือศูนย์ และรายจ่ายมียืนเคาะประตูอยู่หน้าบ้าน
และ Next Normal ประการสุดท้าย คือ “ความสำคัญของเงินออนไลน์จะเพิ่มขึ้น” รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงิน แม้กระทั่งการจับจ่ายใช้สอยในตลาดสด หรือร้านหาบเร่แผงลอย จะเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นการใช้โมบาย แบงก์กิ้ง ทำธุรกรรมบนมือถือ การใช้แอปพลิเคชั่น และการใช้ระบบออนไลน์แทน เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเงินสด แม้ว่าจะสะดวกสบายมากขึ้น แต่ต้องพึงระวังเรื่องการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล ที่เจ้าของบัญชีต้องหมั่นตรวจเช็คความผิดปกติของรายการทางการเงินบ่อยๆ ไม่นับรวมความเพลิดเพลินจากการจับจ่ายใช้สอยที่ง่ายและสะดวกที่อาจจะทำให้เสียวินัยทางการเงิน
ในทุกวิกฤติจะทิ้งร่อยรอยบาดแผลไว้เป็น “บทเรียน” ที่ใช้ต้องรับมือกับวิกฤติครั้งหน้าเสมอ ขอแค่ผ่านครั้งนี้ไปให้ได้ แล้วตั้งหลักให้ดีเพื่อรับมือกับมัน ถึงแม้ว่าการมาเยือนของวิกฤติแต่ละครั้งจะแตกต่างกัน แต่วิถีชีวิตทางการเงินแบบ Next Normal จะช่วยลดผลกระทบได้อย่างแน่นอน