หนึ่งในประเด็นที่คาใจของคนทำธุรกิจคือคำถามว่า “ควรจดบริษัทดีไหม” พร้อมกับคำถามในเชิงชวนให้ตัดสินใจต่อว่า “รายได้เท่าไรควรจดบริษัท” บทความนี้จะชวนทุกคนกลับมามองอีกด้านหนึ่งกันบ้างครับ
เวลาได้ยินคำถามเกี่ยวกับการจดบริษัท ผมมักจะถามกลับไปว่า ทุกวันนี้รู้หรือยังว่ารายได้เท่าไร ต้นทุนมีแบบไหน และกำไรเป็นเท่าไร โดยถามเป็นตัวเลขแบบจริงจัง เพื่อให้เจ้าของธุรกิจนั้นลองทบทวนดูว่าตัวเองพร้อมจดบริษัทหรือเปล่า
หากใครสงสัยว่าทำไมต้องถามคำถามแบบนี้ด้วย ก็เพราะว่าสิ่งที่จะช่วยให้จดบริษัทแล้วลุล่วงไปได้ด้วยดี แถมประหยัดภาษีได้ คือ การบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลทางการเงินครับ
คำถามว่า “รายได้เท่าไร” เป็นการเช็คว่าทุกวันนี้ธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดามีการจัดการยังไง แยกบัญชีรับเงินจากธุรกิจกับการใช้ส่วนตัวได้ดีหรือยัง เพราะถ้าหากเริ่มต้นจากตรงนี้ไม่ได้ ก็จะลำบากและต้องปรับตัวมากๆ เมื่อตัดสินใจจดบริษัทครับ เพราะทุกอย่างจะต้องมีที่มาที่ไป และที่มาแรกที่ต้องพิสูจน์และจัดการให้ชัด ก็คือเรื่องของจำนวนรายได้
ส่วนคำถามว่า “ต้นทุนมีแบบไหน” นอกจากการเกี่ยวเนื่องในการจัดการเอกสารแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิด และใช้วิธีคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาเป็นตัวกำหนด นั่นคือ ธุรกิจบางกลุ่มสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในการคำนวณภาษีงินได้บุคคลธรรมดา แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ เมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว ต้องใ้ช้ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงและเกี่ยวข้องกับรายได้ของธุรกิจมาคำนวณ กำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษี ซึ่งแปลว่าไม่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหมือนตอนที่เป็นบุคคลธรรมดาได้อย่างเคยครับ ซึ่งถ้าหากไม่เตรียมตัวพร้อมในเรื่องนี้ เมื่อจดบริษัทก็อาจจะมีความผิดพลาดด้านของการบันทึกบัญชีค่าใช้จ่ายและการคำนวณภาษีได้เช่นกัน
และหนึ่งในปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่สามารถจดบริษัทได้ ก็คือประเด็นนนี้นั่นแหละครับ เพราะบางธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถหาค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจน หรือบางคนก็มีต้นทุนที่แรงงานของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อไม่สามารถพิสูจน์ค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน หากตัดสินใจจดบริษัทโดยไม่ดูให้ดีก่อน ก็อาจจะเป็นปัญหาตามมาได้เช่นกันครับ
ส่วนคำถามสุดท้ายคือ “กำไรเท่าไร” มันคือสิ่งที่ตอบได้ว่า ธุรกิจนั้นมีการจัดการบัญชีอย่างไร มีการทำบัญชีรับจ่ายในตอนที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือเปล่า เพราะในการจดบริษัท ข้อมูลกำไรนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องของการเงินและภาษีของธุรกิจ การตอบคำถามนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แปลว่าเจ้าของนั้นเริ่มต้นใส่ใจข้อมูลธุรกิจแล้วล่ะครับ และจะช่วยต่อยอดได้ดีขึ้นเมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัท
เอาจริงๆ ถ้าหากตอบได้ครบทั้ง 3 ข้อที่ว่ามานี้ ตัวธุรกิจเองก็เริ่มจะตอบได้แล้วครับว่า หากตัดสินใจจดบริษัทนั้นจะดีกว่าไหม โดยพิจารณาในมุมต้นทุนบริหารจัดการต่างๆที่เพิ่มขึ้นมา เช่น ค่าทำบัญชี ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการต่างๆ เปรียบเทียบกับภาษีที่ประหยัดได้ว่าคุ้มค่าหรือเปล่า
แต่ถ้าให้พร้อมจริงๆ และมองถึงสิ่งที่จะได้รับในอนาคต ผมก็อยากจะชวนพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของเงินทุนที่กิจการต้องใช้ในการจดบริษัท จำนวนผู้ถือหุ้นที่เริ่มต้นลงทุน และเงินหมุนเวียนต่างๆที่ต้องมี เพื่อให้ธุรกิจของเราจดบริษัทแล้วไปได้สวยโดยไม่มีปัญหาเรื่องเงินและเรื่องอื่นๆมากวนใจครับ
เอาล่ะครับ มาถึงตรงนี้ ผมขอสรุปไว้ 3 ข้อสั้น ๆ ว่าความพร้อมในการจดบริษัทจะมาจากอะไรบ้าง โดยแยกเป็นประเด็นต่างๆ ตามนี้ครับ
สุดท้ายที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ เพราะต้องการแนะนำให้เจ้าของธุรกิจเตรียมความพร้อมเรื่องเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจจดบริษัทครับ เนื่องจากเมื่อไรก็ตามที่จดบริษัทโดยที่ยังไม่เห็นข้อมูลที่แท้จริงของธุรกิจ สิ่งที่ตามมาอาจจะเป็นปัญหามากกว่าเก่าก็ได้ครับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms