เมื่อมีข่าวว่าการจ่าย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” แบบถ้วนหน้าอาจสิ้นสุด หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากมองให้ลึกๆ แล้ว จะรู้ว่าข่าวแบบนี้ส่งผลให้เราต้องหันมาตื่นตัวกับการเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ต้องมีให้พร้อม เพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่ายจนถึงอายุอย่างน้อย 80-85 ปี ดังนั้นวันนี้มี 4 เรื่องที่ต้องพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมหลังเกษียณ
ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่เหมาะสมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นกับวิถีชีวิตหรือคุณภาพชีวิตของแต่ละคน โดยสามารถประมาณการได้จาก 70%ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน หรือ 50%ของรายได้ปัจจุบัน (ยังไม่คำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อ หรือต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี) เนื่องจากหลังเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่หายไปหรือลดลง เช่น ค่าผ่อนบ้าน/รถ ค่าเลี้ยงดูบุตรหลาน ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ฯลฯ
หากใครยังจินตนาการหรือคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่เหมาะสมกับตนเองไม่ได้ ลองพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนคนกรุงเทพฯ ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่เดือนละ 27,970.47 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดเล็กสมาชิกประมาณ 2 คน ดังนั้นหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนและคำนึงถึงความแตกต่างเรื่องรายได้ของในกรุงเทพฯ แล้ว ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองอาจต้องมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ขั้นต่ำไม่น้อยกว่าเดือนละ 14,000 – 20,000 บาทต่อคน
จากข้อมูลสารประชากรมหิดล ม.ค. 66 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งระบุอายุคาดหมายเฉลี่ยสำหรับผู้ชายและผู้หญิงที่ปัจจุบันอายุ 60 ปี ไว้ที่อายุ 77.5 ปี และ 83 ปี ตามลำดับ ดังนั้นการเตรียมเงินให้เพียงพอกับการใช้ชีวิตไปจนถึงอายุ 80-85 ปี ก็ถือเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อรู้ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องเตรียมแล้ว ก็จะสามารถคำนวณจำนวนเงินที่ควรเตรียมเบื้องต้นได้
ตัวอย่างเช่น หลังเกษียณต้องการใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ระยะเวลา 25 ปี (ระหว่างอายุ 60-85 ปี) แสดงว่าควรเตรียมเงินก้อนไว้ที่ 6 ล้านบาท ( = 20,000 บาทต่อเดือน x 12 เดือนต่อปี x 25 ปี) ซึ่งหาก ณ ตอนเกษียณ ยังมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 – 1,000 บาทอยู่ ก็อาจช่วยให้เตรียมเงินน้อยลงประมาณ 204,000 บาท เหลือยังมีส่วนที่ต้องเตรียมอยู่ที่ 5.8 ล้านบาท (ยังไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ)
ปัจจุบันตัวช่วยเก็บเงินมีอยู่มากมาย สามารถเลือกให้เหมาะกับตนเองได้ โดยมีทั้ง
สำหรับการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายเกษียณ ที่มักเป็นการเก็บเงินระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป หากรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ควรเน้นเลือกเก็บหรือลงทุนในทางเลือกที่ (3) ที่เป็น SSF/RMF กองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าเงินฝากหรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์/บำนาญ สอดคล้องกับเงื่อนไขการลงทุนระยะยาวของ SSF/RMF เช่น 10 ปีขึ้นไป หรือจนถึงอายุ 55 ปี และยังได้เงินคืนภาษีเป็นผลประโยชน์ส่วนเพิ่มอีกด้วย
เป้าหมายที่จำนวนเงินเท่ากัน ด้วยเวลาหรือทางเลือกการลงทุนที่ต่างกัน เงินที่ต้องเก็บหรือลงทุนในแต่ละเดือนย่อมต่างกัน เช่น เป้าหมาย 1 ล้านบาท ระยะเวลา 15 ปี หากเก็บเงินด้วยเงินฝาก e-Savings ที่ดอกเบี้ยประมาณ 1.5%ต่อปี ต้องเก็บเดือนละ 4,995 บาท แต่หากเปลี่ยนเป็นการลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7%ต่อปี จะเหลือลงทุนเดือนละ 3,316 บาท แต่หากเตรียมตัวได้เร็วขึ้นหรือมีเวลามากขึ้น เช่น 30 ปี หากเลือกลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นจะเหลือลงทุนเดือนละ 882 บาทเท่านั้น
หากมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น อย่างเป้าหมายเงินก้อนเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณจำนวน 6 ล้านบาท หากมีเวลาเตรียมตัว 30 ปี และเลือกลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7%ต่อปี จะต้องลงทุนเดือนละประมาณ 5,292 บาท ( = 882 บาทต่อเดือน x 6 ลบ.) ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องลงทุนดังกล่าว อาจไม่ใช่จำนวนที่สูงหรือทำได้ยากเกินไปเลยสำหรับคนวัยทำงาน อายุประมาณ 25-30 ปี ที่คิดอยากจะเริ่มเก็บเงินหรือเตรียมตัวให้พร้อมรับวัยเกษียณ
ชีวิตหลังเกษียณ แม้มีตัวช่วยหรือสวัสดิการอยู่บ้าง เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินบำนาญประกันสังคม ฯลฯ แต่หากสามารถเตรียมตัวได้เองโดยไม่ต้องหวังพึ่งตัวช่วยจากภาครัฐ ก็จะทำให้สามารถมั่นใจได้มากขึ้นว่า เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หลังเกษียณ ไม่ว่ากฎเกณฑ์ของตัวช่วยหรือสวัสดิการต่างๆ จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม
นักวางแผนการเงิน CFP