ประเด็นร้อนแรงในช่วงนี้ที่หลายคนพูดถึงกันเรื่องภาษี คงหนีไม่พ้นเรื่อง เงินได้ต่างประเทศ ต้องเสียภาษีในไทย ที่ส่งผลกระทบผู้มีเงินได้จากต่างประเทศทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศผ่านการทำงาน ไปจนถึงรายได้ผ่านทางการลงทุน
บทความประจำเดือนนี้จึงอยากมาชวนคุย พร้อมสรุปประเด็นที่ควรรู้ 3 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศให้ฟังกันครับ
ข้อแรก:ไม่ใช่ภาษีหุ้นต่างประเทศ แต่เป็นเงินได้จากต่างประเทศ
หลายคนเข้าใจผิดว่า เรื่องนี้จะกระทบกับนักลงทุนหุ้นในต่างประเทศ หรือสินทรัพย์ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้กระทบกับทุกคนที่มีรายได้ในต่างประเทศ และอยู่ในประเทศไทยครับ
ถ้าหากย้อนกลับไปดูข้อกฎหมายที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฏากร เราจะเห็นข้อกฎหมายในทั้งสองวรรค ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
ซึ่งการเสียภาษีในกรณีที่มีเงินได้จากต่างประเทศ เดิมจะใช้การตีความว่า ต้องเข้าเงื่อนไขพร้อมกันทั้งสองข้อถึงจะเสียภาษีในประเทศไทย นั่นคือ
- ผู้มีเงินได้อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันในปีภาษีนั้นๆ (มกราคม - ธันวาคม)
-
ผู้มีเงินได้นำเงินได้ในปีนั้นเข้าไทยในปีเดียวกันกับที่มีเงินได้
และจากการตีความกฎหมายในแนวทางนี้ จึงทำให้หลายคนที่มีเงินได้จากต่างประเทศ ใช้วิธีการวางแผนจัดการภาษีเงินได้โดยการนำเงินเข้าในปีถัดไปแทน ทำให้ไม่เกิดภาระภาษีในประเทศไทย
ข้อสอง:กรมสรรพากรไม่ได้แก้ไขกฎหมายแต่เปลี่ยนแนวทางการตีความใหม่
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เปลี่ยนแปลงการตีความมาตรา 41 ใหม่เป็น “สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากต่างประเทศ หากอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป ไม่ว่าจะนำเงินได้มาเข้าปีไหน ให้นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีนั้นแทน” โดยเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2567 หากใครที่มีเงินได้จากต่างประเทศ และไม่ต้องการเสียภาษีในประเทศไทย สิ่งที่ทำได้คือ ข้อใดข้อหนึ่งตามนี้ครับ
- อาศัยอยู่ในประเทศไทยรวมกันแล้วไม่ถึง 180 วันในปีภาษี (มกราคม – ธันวาคม)
- ไม่นำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย "โดยเด็ดขาด"
ข้อสาม:แม้ว่าจะเปลี่ยนแนวทางการตีความกฎหมายใหม่
แต่ก็มีหลายเรื่องที่ต้องติดตาม
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงตีความกฎหมายใหม่ตาม ป.166/2566 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีในประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes โดยลงนามตกลงให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC) และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (MCAA CRS) ระหว่างประเทศ ด้วยจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแนวทางและวิธีการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลายคนยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน ในกรณีที่มีเงินได้ที่ได้เสียภาษีในต่างประเทศไว้แล้ว หากนำเข้าไทยจะต้องเสียภาษีอย่างไร การพิจารณาจากอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศดังกล่าวจะเพียงพอหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ตามมาอีกบ้าง ก็ต้องบอกตรงๆว่า เราคงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปอีกสักระยะ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำยังไงต่อกับเรื่องนี้ในอนาคต
และหวังว่าทางกรมสรรพากรเองจะมีแนวทางที่ชัดเจนต่อจากนี้เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายครับผม