ช่วงนี้กระแสใหญ่ในประเทศไทย เห็นจะหนีไม่พ้นปัญหา 'หนี้ครัวเรือน' กับ 'มาตรการแจกเงินดิจิทัล' ของรัฐบาล ที่ประชาชนต่างรออย่างมีความหวัง อยากจะได้เงินดิจิทัลนี้ติดมือไว้เหมือนกัน คนละ 10,000 บาท ถือว่าไม่มากไม่น้อย แต่รัฐบาลก็ต้องใช้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาทเลยครับ แจกให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือนหรือเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท เริ่มใช้เงินได้เดือนพฤษภาคม 2567
แต่สิ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตและชวนคิดไปด้วยกันกับผู้อ่าน คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายรัฐบาลเหลือเกิน ที่ใช้มาตรการแจกเงินในรูปแบบต่างๆ แต่ทำไมหนี้ครัวเรือนของคนไทยก็ยังคงเพิ่มขึ้น
จริงๆ ผมอยากเห็นรัฐบาลผลักดันเรื่องการ 'ออมเงิน การลงทุน' ควบคู่ไปกับเรื่องปากท้องประชาชนเหมือนกันนะครับ เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว การเริ่มสร้างรากฐานสุขภาพทางการเงินที่ดีให้คนไทยมี 'อิสรภาพทางการเงิน' ในอนาคต ผมอยากเห็นรัฐบาลพูดเรื่องนี้จริงจังไปพอๆ กับการแจกเงินดิจิทัลหรือนโยบายประชานิยมต่างๆ ครับ
ช่วง 10 ปี GDP โตปีละ 1.8% หนี้ครัวเรือนพุ่งปีละ 2%ต่อ GDP
ผมได้ฟังท่าน 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี พูดในงานสัมมนาหนึ่งเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมตกใจข้อมูล ที่ท่านพูดถึงคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ขยายตัวเพียงปีละ 1.8% แต่หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตรวดเร็วมาก จากสัดส่วน 76%ต่อ GDP พุ่งขึ้นมาเป็น 96% ของ GDP แล้ว หรือเพิ่มขึ้นราว 20% ถ้ามองเฉลี่ยรายปีก็เพิ่มขึ้นปีละ 2% โตเร็วกว่า GDP ด้วยซ้ำไป
ตอกย้ำ 'คนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นทุกปี ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขยายตัว' หรือตีความอีกด้านหนึ่ง 'เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ก็มาจากการก่อหนี้' จะบอกว่าอย่างไหนดีกว่ากันครับ คนไทยมีหนี้ที่กระจายตัวเป็นวงกว้าง แต่เรื่องของการออมเงิน ฝากเงินกลับกระจุกตัวในสังคมไทย ถ้าพูดภาษาการเงิน คนไทยมีสุขภาพทางการเงิน (Financial Health) อ่อนแอมาก
ผมนึกถึงภาพประเทศไทยในช่วง 10 ปี ที่ทุกภาคส่วนต่างเร่ง Transform ตัวเองเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล จะเห็น 'โลกออนไลน์' เกิดขึ้นราวดอกเห็ด โดยเฉพาะธุรกิจการเงิน ที่เปิดประตูสินเชื่อดิจิทัล ให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก จากอดีต 10 ปีก่อน ช่องทางออนไลน์ยังไม่เกิดเปรี้ยงปร้างเหมือนวันนี้
คนไทยมีหนี้เยอะขึ้นในโลกยุคดิจิทัล เพราะมีต้นตอจากปัญหา 'กับดักรายได้ต่ำ' ที่ฝังรากลึกมายาวนาน ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นอยู่และหนักขึ้นกว่าเดิม เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แก้ไม่ออกไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนๆ ครับ แต่ทุกวันนี้ เรายังเห็นคนไทยมีปัญหาเดิม และเพิ่มเติมปัญหาใหม่และใหญ่ ทำให้กลายเป็นกับดักแฝด..แสบคุณสอง 'รายได้ต่ำ-หนี้สูง' ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นแผลกว้างลึกขึ้นไปอีกในสังคมไทยครับ
หนี้คือภาพสะท้อนสุขภาพทางการเงินของคนไทย แล้วทุกวันนี้ถ้าถามว่า 'หนี้ครัวเรือนของไทยวิกฤตแค่ไหนหรอครับ'
แบงก์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยได้เทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนา เดียวกัน พบว่า หนี้ครัวเรือนไทยโตเร็วเป็นลำดับต้น ๆ
แบงก์ชาติและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ วิเคราะห์สาเหตุว่า ทำไมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยจึงน่ากังวล? หลักๆ มี 2 เรื่อง ได้แก่
ประการแรก หนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ในอนาคต (non-productive loan) กล่าวคือ 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งมักเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ ใช้แล้วหมดไป ไม่ได้ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต และยังมีระยะเวลาผ่อน ที่สั้นแต่ดอกเบี้ยสูงทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูงตามมา
ในขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีหลักประกันของไทยกลับมีสัดส่วนเพียง 35% ของสัดส่วนมูลค่าหนี้ทั้งหมดต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ใกล้เคียงกับไทย เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่กลับมีสัดส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คิดเป็น 62% และ 73% ของมูลค่าหนี้รวมทั้งหมดของแต่ละประเทศตามลำดับ
เห็นภาพไหมครับว่าคนไทยส่วนใหญ่กู้เงินเพื่อสิ่งที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้ชีวิตในสัดส่วนที่สูงมากทีเดียว นี่เป็นเพียงหนี้ที่อยู่ในระบบเครดิตบูโร ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 เท่านั้น ไม่นับรวมหนี้นอกระบบที่เราต่างก็รู้ๆ กันว่าคนไทยมีหนี้นอกระบบมากเพียงใด
ประการที่สอง หนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ โดย 1 ใน 5 ของคนไทยที่มีหนี้นั้น พบว่า กำลังมีหนี้เสียหรือคิดเป็นกว่า 5.8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน (20-35 ปี) มีสัดส่วนสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้เป็นสัดส่วน 'สูงที่สุด' และมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดถึง 1 ใน 4 อีกด้วย! ซ้ำร้าย กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio) สูงที่สุด และสุ่มเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรือบางส่วน อันทำให้เป็นการยากที่จะหลุดพ้น จากวังวนปัญหาหนี้ไปได้
แล้วปัญหาสำคัญ 2 ประการข้างต้นจะส่งผลกระทบอย่างไร? ปัญหาประการแรก ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ แทนการเอาไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการหรือลงทุน ปัญหาประการที่สองยังมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กล่าวคือ หากลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้พร้อมๆ กัน ก็อาจกระทบฐานะการเงินของเจ้าหนี้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียในวงกว้างจนกลายเป็นวิกฤตได้
ทั้งนี้ ปัญหาทั้งสองประการอาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมาเช่น ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ปัญหาสังคมที่คนถูกกดดันจากภาระหนี้ อาจเริ่มก่ออาชญากรรม จนทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคมไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ปัญหาหนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของครัวเรือนที่ลดลงตามจำนวนคนทำงานหารายได้
คนรุ่นใหม่ จำเลยสังคมก่อหนี้แรง วางแผนการเงินไม่เป็น?
เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบัน คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยแบงก์ชาติ ได้วิเคราะห์ข้อมูลของผู้กู้มีความเปราะบางว่า 'คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้สูงขึ้น และเป็นหนี้นานขึ้น'
ซึ่งคำว่า 'เป็นหนี้เร็วขึ้น' ก็คือ 60% ของคนอายุน้อย (อายุไม่เกิน 30 ปี) หรือคนรุ่นใหม่ Gen Y ก็เป็นหนี้แล้ว และ 1 ใน 4 ของผู้กู้ที่อายุน้อยเหล่านี้เป็น 'หนี้เสีย'ด้วย
'เป็นหนี้สูงขึ้น' จากที่ค่ากลางของยอดหนี้ต่อรายปรับเพิ่มสูงขึ้นจาก 70,000 บาท/ราย(ในปี 2562) เป็น 120,000 บาท/ราย (ในปี 2565)
และ 'เป็นหนี้นานขึ้น' จากกลุ่มคนที่เกษียณอายุแล้วก็ยังคงเป็นหนี้อยู่ในระดับสูง กล่าวคือ คนอายุ 60 - 69 ปี มีค่ากลางของยอดหนี้ 120,000 บาท/ราย และคนอายุ 70 - 79 ปี มีค่ากลางของยอดหนี้ 90,000 บาท/ราย
ต้นเหตุที่ทำให้กลุ่มคน Gen Y สร้างภาระหนี้สูงจนไม่มีกำลังจะชำระหนี้ได้ดังที่เกิดในปัจจุบันนั้น ทั้งๆที่ คนรุ่นใหม่สมัยนี้ มีความรู้ทางการเงินที่ดีขึ้นและสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ สะดวกมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถือว่า ยังสามารถบริหารจัดการการเงินของตัวเองได้ดี แต่ก็ยังมี คน Gen Y จำนวนไม่น้อย ที่เริ่มมีภาระหนี้สูงและมีปัญหาในการชำระหนี้ที่เร่งแก้ไข
สาเหตุของปมปัญหาหนี้สูงมาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้ ปัจจัยแรกคือ การใช้ชีวิตตามกระแสสังคม โดยเฉพาะในปัจจุบัน social media ซึ่งมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มาก ๆ เราคงเคยได้ยินกระแส 'ของมันต้องมี' ไม่ว่าจะกินช้อป เที่ยว ต้องถ่ายรูปลง social media ซึ่งเป็นผลให้เกิดกระแสบริโภคนิยม และกระตุ้นให้เกิดการอยากมี อยากได้และใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว
ปัจจัยที่สอง คือ กลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการทางการเงินและคุ้นชิน กับการใช้งานผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในโลกยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Application ต่าง ๆ ที่ให้บริการบน platform online เช่น สินเชื่อดิจิทัล แอปเงินกู้ Buy now Pay later เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์วิถีชีวิตของคน Gen Y และเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวและเป็นหนี้มากขึ้น
สุดท้ายปัจจัยที่สาม เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดละเกิดขึ้นกับคนทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคน Gen Y นั่นก็คือ ขาดการตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน นั่นคือ แม้มีความรู้ทางการเงินแต่อาจจะยังไม่ได้นำไปปฏิบัติจริง
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นได้จากคะแนนทักษะทางการเงินของคนไทยที่สำรวจในปี 2563 ที่แม้ว่าคะแนนโดยรวม จะดีขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรม ความรู้และทัศนคติ ซึ่งสูงถึง 71% และสูงกว่ากลุ่มประเทศ OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) ที่อยู่ที่ระดับ 60.5%
เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกในทางปฏิบัติกลับพบว่าคนไทยยังออมเงินค่อนข้างน้อย โดยมีเพียง 38% เท่านั้นที่มีเงินออมฉุกเฉิน เพียงพอ (อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของรายจ่ายและภาระหนี้ต่อเดือน) ซึ่งการไม่มีเงินออมฉุกเฉินนี้เองเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่อาจทำให้เป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น
เพราะโลกใบนี้มีแต่ความไม่แน่นอนเสมอมา ไม่ว่าคุณจะอยู่ในยุคเก่าหรือยุคใหม่ ต่อให้เป็นโลก AI ก้าวล้ำขนาดไหน ก็หนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตและจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ถ้าคุณไม่ได้เตรียมพร้อมวางแผนทางการเงินที่มีรากฐานที่ดี ชีวิตคุณสุดท้ายก็อาจจบลงด้วยการกู้ยืมเงิน และบางครั้งอาจต้องกู้นอกระบบ ที่ทุกคนก็รู้ว่า ดอกเบี้ยสูงโหดแค่ไหน พลิกชีวิตคุณเกิดเป็นวงจรหนี้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
จริงๆแล้ว อย่างที่รู้ๆกันว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ว่า Gen Y Gen Z ลงมา พวกเขาได้ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรพื้นฐานการวางแผนทางการเงินกันมาแล้ว ทุกวันนี้ โรงเรียนก็มีการสอนเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายในห้องเรียน ปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กเล็กเลยครับ
ตัวผมก็เข้าใจปกติคนที่เรียนจบแล้วเริ่มทำงานหรือเป็น First Jobber ที่พอหารายได้เองได้แล้ว ก็อยากให้ทำอะไรที่ให้รางวัลชีวิตตัวเองกันครับ ก็ไม่ได้ผิดนะครับ แต่ผมก็อยากจะชวนทุกคนหันมามองอีกด้าน ของความสำคัญของฝั่งการเก็บเงินออมเงิน ทำแบบไหนให้งอกเงยไปพอๆ กับการใช้จ่ายการสร้างหนี้ไปพร้อมๆ กันครับ
'ถ้าคุณซื้อแต่ของไม่จำเป็น ไม่นานคุณจะต้องขายของที่จำเป็น' นี่เป็นประโยคเด็ด 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' นักลงทุนชื่อดังระดับโลก ซึ่งเป็นไอดอลของผมด้วยครับ
ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต คือ กลุ่มคนวัยทำงานก่อหนี้สูงมาก ซึ่งผมมองว่า มาจาก 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คนรุ่นใหม่ยังแยก 'ความจำเป็นกับความต้องการ' ได้ไม่ดีนัก ด้วยความที่เพิ่งเริ่มทำงาน จึงอยากให้รางวัลตัวเอง หากใครมีทักษะการบริหารเงินระดับต่ำ ก็จะกลายเป็นให้รางวัลกับตัวเองมากเกินไปผ่านการสร้างหนี้ เพราะหลงใหลไปกับกระแสค่านิยมที่อยากได้อยากมีจากสังคมเพื่อนรอบตัวและโลกออนไลน์ จนกลายเป็นไลฟ์สไตล์ ที่เกินตัว และเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย
ประเด็นที่ 2 การเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี คนส่วนใหญ่ มีรายได้ไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดแพลตฟอร์มการเงินต่างๆ ที่มาแรงคือ 'ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง' หรือ Buy Now Pay Later เป็นที่พึ่งพาของคนรุ่นใหม่ สมัครปุ๊บ ผ่อนของได้ทันที แต่เมื่อถึงวันครบกำหนดจ่าย กลับต้องมองหาช่องทางหยิบยืมต่อๆ กันไป ทำให้ติดกับดักนี้เหมือนพายเรือวนในอ่าง หนี้
ปลดแอกกับดักหนี้ สูตรออมเงิน อุ่นใจ สบายกระเป๋า ลงทุนเมื่อพร้อม
ผมมีวิธี 'ไม่ให้ติดกับดักหนี้' มาบอกครับ ถ้าคุณมีเป้าหมายอยากหลุดพ้นเป็นทาสลูกหนี้ ผมจะบอกเทคนิคการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน และรู้จักวางแผนทางการเงินการลงทุน ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้เส้นทางการเงินที่งอกเงยขึ้นกว่าเดิม คุณลองทำตามนี้เลย เริ่มจาก
- แบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจน จะช่วยให้สามารถบริหารเงินได้ดีและมีวินัยทางการเงิน แต่ละเดือนที่มีเงินเดือนหรือรายได้ เข้ามา ก็จัดแบ่งใส่ถังที่คุณกำหนดเลย หลักๆ จะแบ่งเป็น 3-4 ถังสำคัญ 'ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และเงินเก็บออม' ซึ่งคุณสามารถกำหนดสัดส่วนเงินใส่เข้าไป ในแต่ละถังให้ชัดเจน จะทำให้คุณรู้ว่า แต่ละเดือน เงินที่มีจะนำไปใช้จ่ายส่วนไหนบ้าง และส่วนไหนเก็บไว้ฉุกเฉิน เก็บไว้ออมในบัญชีเงินฝากหาดอกเบี้ยสูง หรือลงทุนกับกองทุน ประกันต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีในรูปแบบต่างๆ กันไป นี่เป็นเทคนิคการเริ่มเก็บเงินง่ายๆ และส่วนใหญ่ก็ทำได้ผลมาแล้ว ถ้าเริ่มทำสูตรการออมนี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน คุณมีโอกาสจะเห็นเงินเติบโตในวัยเกษียณได้
- ช้อปเท่าไหร่ ก็ออมกลับเท่านั้น! เป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับคนทำงานเมื่อเงินเดือนออกก็อยากจะช้อปของที่อยากได้ ที่เล็งๆไว้แล้ว แล้วทำยังไงดีเงินก็อยากเก็บของก็อยากได้ ผมแนะนำให้บอกกับตัวเองเสมอว่า ถ้าจะช้อปของไปเท่านี้ ก็จะต้องเก็บเงินออมใส่เข้าไปด้วยอีกทางหนึ่ง อาจจะเก็บไม่ได้มากเท่าที่จ่าย ก็ยังดีกว่าไม่เก็บครับ สิ่งสำคัญของข้อนี้ คุณต้องหนักแน่นและซื่อสัตย์กับตัวเอง ช้อปเท่าไหร่ ก็ออมกลับด้วย และยุคนี้มีตัวช่วยให้ทำสำเร็จอยู่แล้ว หลายแอปพลิเคชั่นที่ช่วยจัดสรรการออมให้เรา เทคนิคนี้จะทำให้คุณเวลาซื้อของจะฉุกคิด จนบางทีอาจไม่ได้ซื้อเลยก็ได้ กลายเป็นเหลือเงินเก็บมากขึ้นอีก
- ศึกษาและเลือกแบบการลงทุนอย่างชาญฉลาด เพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงยได้อย่างรวดเร็ว หากคุณมีเงินเก็บได้จำนวน หนึ่งและเป็นเงินเย็นคือ เก็บไว้ได้ในระยะเวลานานอย่างน้อย 5 ปี คุณสามารถนำไปลงทุนต่อได้หลากหลายช่องทาง ที่ไม่ยากนัก การลงทุนเป็นช่องทางหนึ่งของการออมเงิน แต่หลักการลงทุนเป็นสิ่งที่คุณต้องศึกษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผู้ที่มีประสบการณ์ก่อนเพื่อความชัวร์ในการลงทุนแต่ละครั้งด้วย เพราะ 'ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง' ครับ
ลงทุน ให้อุ่นใจ อย่างแรกเลย ต้องแบ่งเงินก่อนครับ เพราะการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง แต่จะทำอย่างไรให้ ‘ความเสี่ยง’ ไม่น่ากลัว
แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจลงทุนให้เงินงอกเงย คุณต้องแน่ใจว่า สูตรการออมเงินสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน อาหารการกินอยู่ ค่าใช้จ่ายประจำเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน อย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าผ่อนบ้าน ค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น และค่าใช้จ่ายกิจกรรมที่อยากทำ ซึ่งเงินรองรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ของคุณ ควรจะอยู่ในสัดส่วนที่ลงตัวไม่แกว่งเกินไปในแต่ละเดือน ส่วนเงินสำรองฉุกเฉิน จะต้องเป็นเงินในส่วนที่ใช้ยามฉุกเฉิน หรือวิกฤตเท่านั้น ห้ามถอนออกมาเด็ดขาด เงินสำรองฉุกเฉินจะช่วยรองรับสถานการณ์ยากลำบากของคุณได้อย่างน้อย 3-6 เดือนเพราะฉะนั้น คุณควรมีเงินเก็บฉุกเฉินมากถึง 6 เท่าของรายจ่ายประจำกับรายจ่ายผันแปรรวมกัน ซึ่งจะทำให้ชีวิตคุณอุ่นใจได้ครับ
คุณจะเห็นว่า เงินแต่ละก้อนที่ถูกจัดสรรออกมาเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ มีระดับการใช้ด่วนต่างกันด้วย เช่น ถ้าเป็นเงินที่รีบร้อนต้องใช้ ก็จะเรียกว่า 'เงินร้อน' คือเงินที่รับเข้ามาแล้วต้องจ่ายออกไปทันทีหรือเป็นรายจ่ายประจำเดือน ส่วนใหญ่จะมีเงินที่ไว้ใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายประจำวันหรืออาจมีเข้ามากะทันหัน ในบางวันบางเดือน ส่วน 'เงินเย็น' จะเป็นเงินที่สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปีๆ จุดประสงค์การใช้ชัดเจน เก็บเอาไว้เฉยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ในบัญชี ส่วนนี้นี่แหละที่เราเรียกว่า ‘เงินเย็น’ ครับ
ผมขอย้ำนะครับ อย่าลืมว่าการจัดการเงินก้อนแรกและก้อนที่สองยังคงสำคัญ แต่การมีเงินสำรองฉุกเฉินก็เป็นพื้นฐาน ที่จะช่วยให้คุณใช้เงินอย่างมั่นใจและวางแผนการลงทุนในอนาคตได้อย่างเหมาะสม
ที่นี้ถ้าใครมีสกิลที่ว่ามากพอ วางแผนต่างๆ ได้แม่นยำ เข้าใจเงินก้อน 1 และ 2 แล้วก็ได้ฤกษ์มาโฟกัสกับเงินก้อนที่สาม นั่นคือ ‘การออมและการลงทุน’ แล้วครับ ซึ่งถ้าคุณเก็บเงินก้อนนี้ไปเรื่อยๆ มันก็จะ 'เย็น' ขึ้นเรื่อยๆ ครับ อีกนิดเดียว คุณก็จะสามารถลงทุนได้แล้วครับ
จากเงินส่วนที่เหลือที่อยู่ในถัง 'ออมเงิน' เป็นเงินเย็นที่คุณไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 3-5 ปี ถ้าคุณยิ่งออมเยอะ ออมนาน เงินยิ่ง ‘เย็นมาก’ จะทำให้คุณลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งถ้าวางแผนการลงทุนระยะยาว ก็ยิ่งเข้าทาง เพราะเงินส่วนนั้นจะให้ได้ผลตอบแทนทบต้นได้หลายปีเลยครับ ภายใต้กฎเหล็ก คุณต้องกระจายความเสี่ยงการลงทุน ในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในยามใดที่ตลาดหนึ่งลง ก็จะมีสินทรัพย์ที่อยู่ในตลาดฝั่งขาขึ้น คอยช่วยพยุงพอร์ตลงทุนของคุณให้งอกเงยอยู่ครับ
แต่เตือนไว้ก่อนนะครับว่า ใช่ว่ามีเงินเย็นแล้วจะกระโดดเข้าไปสนามการลงทุนเลยนะครับ เพราะคุณอาจจะโดน 'รับน้อง' เอาได้ เราแนะนำให้คุณเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนให้เข้าใจและมั่นใจซะก่อน ถึงจะเข้าสู่สนามรบแห่งนี้ครับ
เมื่อเงินพร้อม ความรู้พร้อม และใจพร้อม คุณถึงพร้อม แล้วค่อยเริ่มขยับมาลิ้มลองรสชาติของการลงทุนจริงครับ ผมมั่นใจว่า มีพอร์ตเมื่อพร้อม คุณจะลงทุนได้อุ่นใจ สบายกระเป๋า