การเงิน

4 ทางเลือกเก็บเงิน ให้เงินต้นปลอดภัย

11 พ.ค. 67
4 ทางเลือกเก็บเงิน ให้เงินต้นปลอดภัย

มีเงินเก็บ แต่ยังไม่อยากลงทุนให้ต้องเสี่ยงคงไม่พ้นการฝากเงินไว้กับธนาคาร แล้วจะฝากอย่างไรให้ได้ประโยชน์และผลตอบแทนแทนสูงสุด ลองมาดู 4 ทางเลือกเก็บเงิน ให้เงินต้นปลอดภัยกัน

1.เงินฝาก e-Savings

เงินฝากออมทรัพย์รูปแบบหนึ่ง ที่ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่ให้ดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี* หรือคิดเป็น 3-5 เท่าของดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไป ที่ปัจจุบันอยู่ที่เพียง 0.3%-0.45%ต่อปีเท่านั้น* และหากได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์และ e-Savings รวมกันทั้งปีไม่เกิน 20,000 บาทแล้ว ดอกเบี้ยเงินฝาก e-Savings ถือว่าสูงกว่าดอกเบี้ยสุทธิของเงินฝากประจำ 12 เดือนเลย

เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยสูงสุด แนะนำเปลี่ยนการใช้เงินฝากออมทรัพย์มาใช้เงินฝาก e-Savings แทน เพราะสามารถทำรายการและบริการต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แทบเหมือนกับออมทรัพย์ทั่วไปเลย โดยแนะนำว่าควรมีเงินเก็บในเงินฝาก e-Savings รวมทุกธนาคารไม่เกิน 1.33 ล้านบาท เพื่อให้ดอกเบี้ยไม่เกินปีละ 20,000 บาท จะได้ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

2.เงินฝากประจำ

เงินฝากที่หากฝากครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน ฯลฯ จะได้รับดอกเบี้ยตามที่ประกาศไว้ ที่แม้ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป โดยเมื่อครบระยะเวลาการฝากแต่ละรอบแล้วเงินที่ครบกำหนดพร้อมดอกเบี้ย มักถูกนำไปฝากต่อในเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากเท่าเดิม โดยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับก็ขึ้นอยู่กับประกาศดอกเบี้ย ณ วันที่ฝากใหม่แต่ละครั้ง

แนะนำให้พิจารณานำเงินเก็บส่วนที่เกินกว่า 1.33 ล้านบาท ที่อยู่ในเงินฝาก e-Savings หรือส่วนที่ต้องการกันหรือล็อกเงินไว้ไม่ให้ถูกถอนออกไปใช้จ่ายง่ายๆ มาเก็บไว้ในเงินฝากประจำ ที่มีระยะเวลาการฝากที่เหมาะสมกับเงินเก็บแต่ละก้อน โดยแนะนำว่าควรพิจารณาระยะเวลาฝาก 12-36 เดือนขึ้นไป* เพราะมีประกาศดอกเบี้ยสูงกว่า 1.5%ต่อปี เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยสุทธิสูงกว่า ดอกเบี้ยเงินฝาก e-Savings สุทธิ ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว

เก็บเงิน แบบเงินต้นปลอดภัย

3.สลากออมทรัพย์

ปัจจุบันมีธนาคารแห่งรัฐมากกว่า 1 ธนาคาร ที่มีการออกสลากออมทรัพย์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้มีเงินเก็บ ซึ่งสลากแต่ละรุ่นจะมีระยะเวลาการฝากที่ชัดเจน เช่น 1 ปี 2 ปี ฯลฯ โดยหากฝากครบระยะเวลาทีกำหนด จะได้รับดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารในรูปแบบของส่วนต่างราคาเมื่อถอนสลาก โดยเมื่อครบอายุสลากเงินจะถูกโอนเข้าเงินฝากออมทรัพย์ (เช่น สลากออมทรัพย์ดิจิทัล) หรือค้างไว้ในสลากต้องไปทำการถอนสลากเองที่สาขาธนาคาร เพื่อนำเงินไปฝากหรือซื้อสลากต่อเป็นครั้งๆ ไป

ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของสลากออมทรัพย์ โดยปกติมักต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก e-Savings และเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาฝากเท่ากัน แต่หากซื้อสลากออมทรัพย์ครั้งเดียวด้วยยอดใหญ่เป็นสลากเลขเรียงจนได้รับรางวัลเลขท้ายทุกงวด ผลตอบแทนรวมก็จะสูงขึ้นจนใกล้เคียงหรือสูงกว่าเงินฝากประจำได้เล็กน้อย จึงถือเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับเงินฝากประจำ สำหรับผู้มียอดเงินฝากสูง เช่น 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่เป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนต่ำสำหรับผู้ที่มียอดฝากน้อย

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะยอดฝากเท่าไรก็ตาม ทุกคนก็มีสิทธิลุ้นรางวัลใหญ่ เช่น 1 ล้าน 10 ล้าน 30 ล้าน หรือหลักร้อยล้านตามรุ่นสลากออทรัพย์ที่ซื้อ จึงเป็นอีกหนึ่งผลประโยชน์ที่ได้นอกเหนือไปจากดอกเบี้ยที่ได้รับ แต่ด้วยผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและรางวัลเลขท้ายที่รวมแล้วไม่ต่างจากดอกเบี้ยฝากประจำมากนัก แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องนำเงินเก็บทั้งหมดไปซื้อสลากออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว เพราะไม่ว่าจะฝากด้วยยอดเท่าไร โอกาสที่จะได้รับรางวัลใหญ่ก็แทบไม่ต่างกัน เมื่อเทียบกับผู้ฝากสลากออมทรัพย์ทั้งหมดในรุ่นเดียวกัน

4.เงินฝากที่มีประกันอุบัติเหตุฟรี

ปัจจุบันมีทั้งเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ ที่ธนาคารมีการให้วงเงินคุ้มครองกรณีประสบอุบัติเหตุ จนเสียชีวิตหรือเป็นบุคคลทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะ ตามจำนวนเท่าของยอดฝากคงเหลือ เช่น 20 เท่าของยอดฝากคงเหลือวันก่อนหน้าประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น

ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจากเงินฝากที่มีประกันอุบัติเหตุฟรี มักต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ความคุ้มครองอุบัติเหตุที่ได้รับ ก็ถือเป็นผลประโยชน์ส่วนเพิ่มนอกเหนือไปจากดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินฝากออมทรัพย์ เช่น ต้องการใช้บัตร ATM/เดบิต หรือใช้เป็นบัญชีรับเงินเดือนที่ต้องมีสำเนาหน้าสมุด เป็นต้น โดยเงินที่เก็บไว้ในเงินฝากประเภทนี้ไม่ควรเป็นเงินจำนวนมากเกินไป ควรมีให้เพียงพอกับความจำเป็นในการใช้งาน หรือเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามเงื่อนไขของธนาคารเท่านั้น เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ

เงินเก็บ สามารถเลือกเก็บในบัญชีที่เงินต้นปลอดภัย ที่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากธนาคารละไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ความปลอดภัยที่ได้ต้องแลกกับต้นทุนการเสียโอกาสจากการนำเงินที่เท่ากันไปลงทุนในทางเลือกที่นอกจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีทางเลือกการเก็บเงินหรือลงทุนได้รับสิทธิทางภาษี อย่างกองทุน SSF/RMF/TESG หรือสร้างความคุ้มครองชีวิตเพื่อเป็นหลักประกันให้กับสมาชิกครอบครัวอย่างประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพด้วย

* ข้อมูลอ้างอิงประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีผลบังคับใช้ ณ 3 พ.ค. 67*

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT