Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ถอดบทเรียนชีวิตคู่ : วางแผนทรัพย์สินให้ลงตัว ลดความบาดหมางก่อนจากลา
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ถอดบทเรียนชีวิตคู่ : วางแผนทรัพย์สินให้ลงตัว ลดความบาดหมางก่อนจากลา

12 มิ.ย. 67
13:24 น.
|
651
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • โลกนี้ล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและการเป็นสามีภรรยากันก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น การวางแผนจัดการทรัพย์สินและการทำสัญญาก่อนสมรสจึงเป็นส่วนสำคัญก่อนการเริ่มต้นชีวิตคู่
  • สินส่วนตัว หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีอยู่ก่อนจะสมรส สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
  • สินสมรส หมายถึง ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสกันตามกฎหมาย โดยการจัดการทรัพย์สินประเภทนี้จะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
  • การสิ้นสุดลงของการสมรสไม่ได้มีแต่การหย่าร้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสียชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ภายหลังการจดทะเบียนสมรส เงินเดือนครึ่งหนึ่งจะถือเป็นสิทธิของสามีหรือภรรยาตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยเป็นปัญหานักในวันที่ความรักยังหวานชื่น แต่เรื่องเงินทองไม่เคยเข้าใครออกใครและการเป็นสามีภรรยากันก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

เพราะเมื่อถึงคราวหย่าร้าง การจัดการทรัพย์สินได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่าง (อดีต) สามีภรรยาลุกลามมากยิ่งขึ้น และอาจต้องขอความช่วยเหลือจากศาลในการจัดการทรัพย์สินให้ลงตัว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว

SPOTLIGHT ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกฎหมายสินสมรส ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินและผลของการจดทะเบียนสมรส

ทรัพย์สินของคู่รักสามีและภรรยาตามกฎหมายเป็นอย่างไร?

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามารถแบ่งประเภททรัพย์สินของสามีและภรรยาได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ สินส่วนตัวและสินสมรส

ทรัพย์สินส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า "สินส่วนตัว"

‘สินส่วนตัว’ หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีอยู่ก่อนจะสมรส สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น บ้าน ที่ดิน ยานพาหนะ เงิน ทอง ของหมั้น เป็นต้น สินส่วนตัวยังรวมถึงทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว หรือเครื่องประดับตามฐานะ เช่น สร้อยคอ นาฬิกา เสื้อผ้า นอกจากนี้ เครื่องมือที่จำเป็นในการประกอบอาชีพก็ยังนับว่าเป็นสินส่วนตัวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีทรัพย์สินบางประเภทที่แม้ว่าจะได้มาในระหว่างสมรส แต่ถูกนับเป็นสินส่วนตัว เช่น มรดกที่ไม่ได้ระบุในพินัยกรรมว่าให้เป็นสินสมรส ทรัพย์สินที่เป็นการให้โดยเสน่หา รวมถึงทรัพย์สินหรือเงินที่ได้มาจาการเอาสินส่วนตัวไปแลกหรือขาย ในส่วนนี้จะยังคงถือเป็นสินส่วนตัวด้วยเช่นกัน โดยตามกฎหมายจะเรียกว่า “ของแทนสินส่วนตัว”

ทรัพย์สินภายหลังจากจดทะเบียนสมรส ที่เรียกกันว่า "สินสมรส" 

‘สินสมรส’ หมายถึง ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มารหลังจากที่มีการจดทะเบียนสมรสแล้ว หรือที่เรียกว่า ระหว่างสมรสกันตามกฎหมาย โดยการจัดการทรัพย์สินประเภทนี้จะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินโบนัส เงินบำนาญ ค่าชดเชย มรดกที่ระบุในพินัยกรรมว่าให้เป็นสินสมรส เป็นต้น

"สินสมรส" ยังรวมถึงสิทธิและนิติกรรมสัญญาใด ๆ ที่ทำในระหว่างสมรส เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาเช่า ซึ่งการกระทำการใด ๆ จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากสามีภรรยาทั้งสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัวจะถูกนับเป็นสินสมรส ประกอบด้วย ‘ดอกผลธรรมดา’ เช่น ผลไม้จากสวน ข้าวจากนาข้าว แม่วัว มีน้ำนม ลูกวัว และ ‘ดอกผลนิตินัย’ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล กำไร เป็นต้น

ชีวิตคู่กับทรัพย์สิน

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า หากเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินและผลของการจดทะเบียนสมรสแล้ว สามีภรรยาจะสามารถวางแผนในการรักษาทรัพย์สินควบคู่ไปกับการมีชีวิตคู่ที่ราบรื่นได้ และหากการสมรสสิ้นสุดลงในด้านทรัพย์สินก็น่าจะไม่เกิดปัญหา

ทั้งนี้ ผู้บริหารของ KBank Private Banking ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่คู่สามีภรรยาต้องพึงระวังในการจัดการทรัพย์สินระหว่างกัน ได้แก่

  1. การใช้ทรัพย์สินส่วนตัวในการทำธุรกิจร่วมกันเป็นเวลานาน เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ่าน อาจเกิดความสับสนจนทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินธุรกิจกลืนกันไปในที่สุด
  2. การไม่ได้ระบุรายการทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายเอาไว้ก่อนสมรสไว้ ทำให้การตกลงแบ่งสินสมรสหลังหย่าทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลยจนต้องพึ่งกระบวนการทางศาล เพิ่มความบาดหมางระหว่างกันมากขึ้น
  3. การทำสัญญาก่อนสมรสต้องทำก่อนจดทะเบียนสมรส (Prenuptial Agreement) มิเช่นนั้นจะกลายเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่บอกเลิกได้ระหว่างสมรส หรือภายใน 1 ปีหลังหย่า รวมทั้งต้องทำให้ถูกหลักเกณฑ์และมีข้อตกลงที่ไม่ขัดกับกฎหมาย
  4. แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยาก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการไม่จดทะเบียนสมรส จึงอาจไม่ใช่ทางออกอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวเมื่อถึงคราวหย่าร้าง ผู้บริหารของ KBank Private Banking แนะนำให้คู่สมรสวางแผน ดังนี้

  1. ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินและผลของการสมรส ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัว สินสมรส หรือเป็นทรัพย์สินที่ถือร่วมกันเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
  2. จัดทำทะเบียนทรัพย์สินและระบุรายละเอียดการได้มา และควรแจ้งให้บุคคลที่ 3 ที่เชื่อถือได้/หุ้นส่วนธุรกิจรับทราบตรงกัน
  3. แบ่งแยกการถือครองสินส่วนตัวให้ชัดเจน เช่น ไม่ใส่ชื่ออีกฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมในสินส่วนตัวของตน เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมภายหลัง หรือหากต้องการให้อีกฝ่ายบริหารจัดการให้ ก็ควรมีเอกสารชี้แจงชัดเจน
  4. ทำสัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) เพื่อระบุสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายและแนวทางจัดการทรัพย์สินระหว่างกันให้ชัดเจน หากข้อตกลงมีความซับซ้อน เช่น มีหนี้จากการทำงานร่วมกัน หรือมีทรัพย์สินของครอบครัวแต่ละฝ่ายร่วมด้วย ควรปรึกษาทนายเพื่อให้มั่นใจว่าสัญญาก่อนสมรสเป็นไปตามหลักเกณฑ์และบังคับใช้ได้
  5. ใช้เครื่องมืออื่น ๆ เข้ามาจัดการทรัพย์สินแต่ละประเภท เช่น การใช้ทรัสต์ช่วยบริหารทรัพย์สินครอบครัว การทำพินัยกรรมส่งต่อสินส่วนตัว หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพื่อส่งต่อสภาพคล่องให้ทายาทโดยตรง เป็นต้น

โลกนี้ล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและการเป็นสามีภรรยากันก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น การวางแผนจัดการทรัพย์สินและการทำสัญญาก่อนสมรส แม้จะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับสามีภรรยา เพราะทำให้หลายคู่รู้สึกว่ามีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ความรู้สึกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน ยามจืดจางน้ำตาลยังว่าขม แต่สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกคือการสิ้นสุดลงของการสมรส ไม่ได้มีแต่การหย่าร้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสียชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วย ดังนั้นการวางแผนจัดการทรัพย์สินจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่นั่นเอง

ที่มา : ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์, KBank Private Banking

แชร์
ถอดบทเรียนชีวิตคู่ : วางแผนทรัพย์สินให้ลงตัว ลดความบาดหมางก่อนจากลา