การเงิน

การเงินต้องรู้ เมื่อออกจากงานกะทันหัน

9 ก.ค. 67
การเงินต้องรู้ เมื่อออกจากงานกะทันหัน

ธุรกิจปิดตัว ถูกบริษัทเลิกจ้าง เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด แม้ทำงานในองค์กรหรือบริษัทในเครือขนาดใหญ่ และเมื่อไม่เคยเตรียมพร้อมกับสถานการณ์นี้มาก่อน การรู้ทันและจัดการเรื่องเงินที่อยู่ต่อหน้า จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ถูกให้ออกจากงาน

1.ลาออกเอง vs ถูกให้ออก ได้เงินและภาษีต่างกัน

เมื่อถูกให้ออกจากงาน โดยไม่มีความผิด ตามกฎหมายนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย หากผู้ที่ถูกให้ออกทำงานกับบริษัทมาไม่น้อยกว่า 120 วัน หรือ 4 เดือน โดยจำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับอายุงาน

 เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง

อายุงานไม่น้อยกว่า 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี  เงินชดเชยเทียบกับค่าจ้าง/เงินเดือน  เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือนสุดท้าย (30 วัน)

อายุงาน 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3 ปี เงินชดเชยเทียบกับค่าจ้าง/เงินเดือน   เท่ากับค่าจ้าง 3 เดือนสุดท้าย (90 วัน)

อายุงาน 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 6 ปี เงินชดเชยเทียบกับค่าจ้าง/เงินเดือน เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือนสุดท้าย (180 วัน)

อายุงาน 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี เงินชดเชยเทียบกับค่าจ้าง/เงินเดือน เท่ากับค่าจ้าง 8 เดือนสุดท้าย (240 วัน)

อายุงาน 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 20 ปี เงินชดเชยเทียบกับค่าจ้าง/เงินเดือน เท่ากับค่าจ้าง 10 เดือนสุดท้าย (300 วัน)

อายุงาน 20 ปีขึ้นไปเงินชดเชยเทียบกับค่าจ้าง/เงินเดือน  เท่ากับค่าจ้าง 13.3 เดือนสุดท้าย (400 วัน)

เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ได้รับ ในกรณีถูกให้ออกจากงานแบบไม่ทันตั้งตัว (เช่น ไม่ใช่การสิ้นสุดสัญญาจ้าง ไม่ใช่เพราะเหตุเกษียณอายุ) ล่าสุดได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 18 มิ.ย. 67 ให้มีการปรับเพดานการยกเว้นภาษีเพิ่มเติม (มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) โดยได้รับการยกเว้นภาษีไม่เกินค่าจ้าง 400 วันสุดท้าย (หรือเงินเดือน 13.3 เดือนสุดท้าย) แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ดังนั้นเฉพาะเงินชดเชยส่วนที่เกินกว่านี้เท่านั้น ที่ต้องเสียภาษี

ในบางกรณีบริษัทอาจเสนอเงินก้อนให้เท่ากับหรือมากกว่าจำนวนเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เพื่อจูงใจให้พนักงานลงนามลาออกเองโดยสมัครใจ ซึ่งแม้จำนวนเงินที่ได้รับอาจเท่ากับหรือมากกว่าการถูกให้ออกจากงาน แต่ก็ส่งผลให้เงินก้อนที่ได้รับต้องนำไปยื่นภาษีทั้งจำนวน (ไม่ได้รับการยกเว้นบางส่วน เหมือนกรณีถูกให้ออกจากงาน) รวมถึงสิทธิอื่นๆ ที่อาจเรียกร้องในอนาคต หากการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม เนื่องจากลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง

2.จัดการเงินก้อน ก่อนเสียภาษี

เงินที่ได้รับจากบริษัทที่เลิกจ้างพนักงาน มักประกอบด้วย เงินเดือน เงินโบนัส จากการทำงานในเดือนล่าสุดที่ควรได้รับปกติ รวมถึงเงินก้อนที่ได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เช่น เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินก้อนพิเศษที่นายจ้างให้เพิ่มเติมจากเงินชดเชย (ถ้ามี) และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ โดยเงินก้อนที่ได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานหากมีอายุงานในที่ทำงานปัจจุบันตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกเสียภาษีด้วยการคำนวณแบบ ใบแนบ ภ.ง.ด. 90/91 ได้ ซึ่งจะเป็นการแยกฐานเงินได้ออกจากรายได้ปกติและมีวิธีการคำนวณภาษีที่ต่างออกไป ส่งผลให้ภาษีส่วนนี้มีจำนวนไม่สูงนัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากไม่ต้องการถูกหักภาษีไม่ว่าจะมีอายุงานมากกว่า 5 ปีหรือไม่ ก็มีทางเลือกที่จะไม่นำเงินก้อนนั้นออกมาใช้จ่าย ส่งผลให้ไม่ต้องเสียภาษีด้วย โดยโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม ไปเข้า (1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำงานใหม่ หรือ (2) กองทุน RMF ของ บลจ. ที่เป็นผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เพื่อรอนำเงินก้อนดังกล่าวออกมาใช้หลังเกษียณ เช่น อายุ 55 ปีขึ้นไป

3.การสร้างหนี้และรีไฟแนนซ์ ต้องชะลออไปก่อน

สำหรับคนที่มีแผนจะขอสินเชื่อ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน ฯลฯ รวมไปถึงการขอรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านจากธนาคารเดิมไปธนาคารใหม่เพื่อหวังลดภาระดอกเบี้ยหรือเงินผ่อนลง หากถูกเลิกจ้างก็ต้องชะลอแผนนี้ออกไป เนื่องจากปัจจัยหลักของธนาคารในพิจารณาสินเชื่อ ได้แก่ ความสามารถในการชำระหนี้ และความมั่นคงของรายได้ ดังนั้นเมื่อถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานทำ ย่อมไม่มีรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ หรือแม้หางานใหม่มารองรับได้ทันที ธนาคารก็ต้องพิจารณาความมั่นคงของรายได้จากอายุงานที่ทำงานใหม่ ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องผ่านช่วงทดลองก่อน

4.อย่าลืม รับสิทธิประกันสังคม

สำหรับคนที่ทำงานประจำและจ่ายเงินประกันสังคมมาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา (เช่น กรณีเพิ่งมีการย้ายหรือว่างงานก่อนหน้านี้) หากถูกเลิกจ้างหรือสมัครใจลาออกจากงานเอง ก็สามารถติดต่อประกันสังคม เพื่อขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี

  • กรณีถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้กระทำความผิด >> สามารถขอรับเงินทดแทนได้ 50%ของฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท หรือสูงสุดเดือนละ 7,500 บาท ตลอดช่วงที่ว่างงาน ได้ไม่เกิน 6 เดือน หรือรวมกันไม่เกิน 45,000 บาท
  • กรณีลาออกเองโดยสมัครใจ >> สามารถขอรับเงินทดแทนได้ 30%ของฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท หรือสูงสุดเดือนละ 4,500 บาท ตลอดช่วงที่ว่างงาน ได้ไม่เกินปีละ 3 เดือน หรือรวมกันไม่เกิน 13,500 บาท

โดยต้องติดต่อประกันสังคมภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th ) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐ และรายงานตัวกับสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้งด้วย

เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่เพียงแต่การถูกเลิกจ้าง แต่ยังรวมถึงโรคภัยไข้เจ็บ เสาหลักจากไปก่อนวัยอันควร รวมถึงการสูญเงินลงทุนจากภาวะตลาดหรือการบริหารของผู้ออกตราสาร ฯลฯ การรู้จักเก็บออม กระจายเงินลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง และมีประกันเพื่อโอนความเสี่ยงที่จำเป็น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญและไม่มองข้าม เพื่อให้ชีวิตพร้อมรับมือกับสถานกาณ์ต่างๆ ได้บ้าง ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไปหากเหตุการณ์นั้นมาถึง

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT