Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
พบ 3 ดีไซน์เนอร์ยั่งยืน สร้างงานออกแบบด้วย ‘ขยะ’ ดัน Circular Economy
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

พบ 3 ดีไซน์เนอร์ยั่งยืน สร้างงานออกแบบด้วย ‘ขยะ’ ดัน Circular Economy

3 ต.ค. 65
08:45 น.
|
610
แชร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาขยะและเศษวัสดุเหลือใช้เป็นปัญหาสำคัญที่นอกจากจะทำให้ทั้งน้ำและอากาศเรามีมลพิษมากขึ้นแล้ว ยังบ่งบอกอีกด้วยว่าภาคส่วนการผลิตและการจัดการทรัพยากรของเรายังไม่สามารถใช้ทรัพยากรของโลกได้เต็มประสิทธิภาพของมัน ผู้ผลิตหลายรายจึงได้พยายามแปรรูปขยะที่เหมือนจะ ‘ไร้ค่า’ เหล่านั้นให้กลายมาเป็นสินค้าที่ ‘มีมูลค่า’ อีกครั้ง

แต่การเปลี่ยนสินค้าให้กลับมามีมูลค่าแบบ ‘สูงสุด’ ก็ไม่ได้อาศัยเพียงการนำวัสดุที่ upcycle (การนำวัสดุเดิมมาดัดแปลงสร้างเป็นสิ่งใหม่โดยที่ไม่ได้แปรรูป) และ recycle (นำวัสดุกลับเข้ากระบวนการการผลิต) ได้มาสร้างเป็นสินค้าเท่านั้น

แต่หากยังต้องอาศัย ‘การดีไซน์’ หรือการออกแบบที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเช่นกัน เหมือนกับสินค้าในทุกประเภทที่มีราคาสูงขึ้นได้หากตอบโจทย์เรื่องรสนิยมของผู้บริโภค

และในเมืองไทยก็มีนักออกแบบและศิลปินหลายรายที่นำขยะหรือวัสดุนำมาแปรรูปกลับเป็นสินค้าที่สวยงาม รวมไปถึงผู้พูดทั้ง 3 คนในงานเสวนาหัวข้อ “SUSTAINABLE DESIGN ยั่งยืนได้จริงหรือแค่อิงกระแส” ในงาน Sustainability Expo 2022 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมาด้วย 

โดยทั้ง 3 คน อาทิ ‘ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ กรรมการผู้จัดการจาก Qualy, ‘วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์’ Social Activist artist และผู้ก่อตั้งบริษัท Turn to Art และ ‘อมรเทพ คัชชานนท์’ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ AmoArte เป็นนักออกแบบและศิลปินแถวหน้าที่กำลังทำงานเพื่อเปลี่ยนวัสดุที่ไร้ค่าให้กลับมาเป็นสินค้าดีไซน์สวยเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนัก และหันมาใส่ใจเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคที่เป็นปัญหาของตัวเอง

นักออกแบบและศิลปินแต่ละคนจะมีไอเดียการเปลี่ยนขยะให้เป็นงานดีไซน์ล้ำๆ อย่างไร และเราในฐานะผู้บริโภคจะมีส่วนช่วยในการสร้าง ‘ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน’ นี้อย่างไร ในบทความนี้มีคำตอบ

สร้างของใช้จากขยะพลาสติก 

ใช้ความสร้างสรรค์เปลี่ยน ‘ผู้ร้าย’ ให้เป็น ‘ผู้ช่วยโลก’ อย่างยั่งยืน

line_album_day7_221003_1

เมื่อก่อนพลาสติกเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาช่วยให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันสิ่งที่เคยพัฒนาคุณภาพชีวิตเรากลับกลายเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายโลกและสภาพความเป็นอยู่ของเรา 

แต่สำหรับ ‘ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ ‘ผู้ร้าย’ ตัวนี้อาจกลายเป็นสิ่งที่ช่วยโลกได้หากได้รับการ reuse หรือ recycle กลับมาเป็นสินค้าที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวันในระยะยาวได้

ธีรชัย คือกรรมการผู้จัดการของ ‘Qualy’ แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของไทยที่ใช้ขยะพลาสติกและพลาสติกเหลือใช้มาแปรรูปเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถางต้นไม้ ฐานวางแปรงสีฟัน นาฬิกา แก้วน้ำ ที่รองแก้ว ตู้เสื้อผ้า โดยดีไซน์ให้สวยงาม มีความทันสมัย และยังสื่อเรื่องราวกระตุ้นให้ผู้เห็นตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม จนเรียกได้ว่าเป็นงานดีไซน์ที่มีค่าทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอย และดีไซน์

screenshot2565-10-03at08.

เขากล่าวว่าการผลิตสินค้าที่เกิดการรีไซเคิลวัสดุพลาสติกแบบนี้จะช่วยให้ลูกค้าของ Qualy ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่ผู้ผลิตและใช้สินค้าพลาสติกยังไม่สามารถเลิกการผลิตและใช้พลาสติกได้เด็ดขาด Qualy จะเข้ามาช่วยลดขยะเหล่านี้ และเปลี่ยนให้มันเป็นสินค้าที่มีมูลค่า

screenshot2565-10-03at09.

นอกจากนี้ Qualy ยังทำให้การหมุนเวียนวัสดุในบริษัทมีความยั่งยืนขึ้นไปอีกด้วยการให้ส่วนลด 20 บาทกับลูกค้าที่นำสินค้าเก่าของ Qualy เข้ามาแลกซื้อกับสินค้าชิ้นใหม่ ซึ่งวัสดุจากสินค้าเก่านี้ก็จะถูกนำกลับมาทำสินค้าอีกครั้งเพื่อทำให้สินค้าที่ Qualy ขายออกไปกลายเป็นขยะน้อยที่สุด

screenshot2565-10-03at09._1

ปัจจุบันพลาสติกที่ Qualy นำมารีไซเคิลเพื่อผลิตสินค้ามี 4 ประเภทด้วยกันคือ PA เช่น อวนจับปลา, PE เช่น ถุงพลาสติก, PET เช่น ขวดพลาสติก และ PP เช่น ฝาขวด โดยรับมาจากคนที่มาบริจาค หรือจากคนเก็บขยะในชุมชนที่จะได้รับรายได้จากการขายวัสดุให้ Qualy ด้วย

 

เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้เป็นงานศิลป์ สะท้อนผลกระทบปัญหาขยะ

line_album_day7_221003_0

ในขณะที่ Qualy มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นของใช้ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ Social Activist artist และผู้ก่อตั้งบริษัท Turn to Art มุ่งเน้นเปลี่ยน ‘วัสดุเหลือใช้ทุกชนิด’ ไม่ใช่แค่พลาสติกให้เป็น ‘งานศิลปะ’ หรือ ‘สินค้าดีไซน์สร้างสรรค์’ เช่น เสื้อผ้า และกระเป๋า ภายใต้แนวคิด ‘turning trash to treasured art’ เพื่อกระตุ้นให้ ‘ผู้ผลิต’ ทั้งรายเล็กรายใหญ่คิดใหม่ทำใหม่และเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้าให้ใช้ทรัพยากรใหม่จากธรรมชาติให้น้อยกว่าเดิม

screenshot2565-10-03at09._3

วิชชุลดามองว่างานศิลปะที่ทำขึ้นมาจากวัสดุเหลือใช้ในแต่ละพื้นที่สามารถส่งสารที่มีพลังและรณรงค์ให้คนหมู่มากเกิดการตระหนักเรื่องมลพิษขยะได้ เพราะขนาดของมันสามารถบ่งชี้ ‘ปริมาณขยะที่เหลือใช้’ ในแต่ละพื้นที่ ให้ทุกคนเห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นว่าปัญหาขยะในพื้นที่นั้น ‘ใหญ่’ ขนาดไหน 

และที่สำคัญคือ งานของวิชชุลดามุ่งส่งสารถึงผู้ผลิตทุกคนไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ว่า ทุกผู้ผลิตมีส่วนในการช่วย ‘เพิ่ม’ หรือ ‘ลด’ ขยะ ได้ เพราะการลดขยะควรจะเริ่มที่ ‘ต้นน้ำ’ หรือกระบวนการผลิต และไม่ควรไปลดในปลายน้ำหลังผลิตภัณฑ์หลุดไปสู่มือผู้บริโภคแล้ว เพราะการจัดการขยะในขั้นตอนนั้นใช้เวลาและพลังงานในการจัดการในปริมาณมากกว่ามาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างขยะทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครู้ว่าตัวเองมีศักยภาพในการลดปัญหาขยะได้เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ปัจจุบันวิชชุลดาใช้วัสดุเหลือใช้ไปแล้ว 32 ประเภท หมุนเวียนวัสดุไปแล้ว 3548.5 กิโลกรัม รวมลดปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นไปแล้ว 56,875.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ kgCO2e 

screenshot2565-10-03at09._2

โดยหลังจากเข้าไปในพื้นที่แล้ว วิชชุลดาจะทำงานร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมขยะ คักแยกขยะ และใช้ขยะเหล่านั้นสร้างงานปะติมากรรมขึ้นมา โดยรายได้ 59% จากยอดขายของงานศิลปะจะถูกมอบให้ชุมชนเพื่อกระจายรายได้สู่คนในชุมชนที่ช่วยกันผลิตผลงานนั้นๆ ขึ้นมา

นอกจากนี้วิชชุลดายังเคยร่วมมือกับแบรนด์และหน่วยงานธุรกิจต่างๆ เช่น Volvo, ห้างสรรพสินค้า The Icon Siam และ โรงแรม The Peninsula เพื่อสร้างงานศิลปะที่จะช่วยรณรงค์ให้คนแก้ปัญหาเรื่องมลพิษขยะด้วย

เธอบอกว่าเธอเชื่อว่าทุกคนสามารถช่วยโลกได้ด้วยการใช้ความรู้ในด้านที่ตัวเองถนัดมาลงมือทำ และกล่าวย้ำว่าทุกคนต้องคิดถึงการ rethink-reduce-reuse-recycle มีความรับผิดชอบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ควรคิดถึงสิ่งแวดล้อมก่อนผลกำไร เพราะหากผลิตสินค้าออกมาตามใจโดยไม่คิดถึงความอยู่รอดของโลกและผู้บริโภค ในที่สุดก็จะไม่มีระบบเศรษฐกิจหรือผู้บริโภคเหลือมาซื้อสินค้าของคุณ

 

ส่งต่อประโยชน์ให้ชุมชน ด้วยการเปลี่ยน ‘ไม้ท้องถิ่น’ ให้เป็นเฟอร์นิเจอร์หรู

line_album_day7_221003

ถัดจากข้าวของเครื่องใช้และงานศิลปะ อีกสินค้าดีไซน์ที่มีคนจับมาทำเป็นสินค้าเพื่อความยั่งยืนได้ก็คือ ‘งานเฟอร์นิเจอร์ไม้’ อย่างที่ อมรเทพ คัชชานนท์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ AmoArte ประสบสำเร็จในการนำวัสดุไม้ท้องถิ่นราคาถูกเช่น ‘ไม้ไผ่’ และ ‘ไม้ตาล’ มาเปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยดีไซน์หรูที่มีมูลค่าสูง

อมรเทพกล่าวว่าโปรเจคนี้เริ่มต้นจากความชอบในวัสดุธรรมชาติของเขา โดยเฉพาะ ‘ไม้ไผ่’ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืนเพราะมาจากธรรมชาติ และยัง ‘เติบโตเร็ว’ ตัดไปแล้วปลูกเพียงไม่กี่ปีก็นำมาใช้ผลิตสินค้าได้ ไม่เหมือนไม้ใหญ่ที่ต้องใช้เวลาหลายสิบไปจนถึงร้อยปี อีกทั้งยังมีความเหนียว ความทนทาน ที่ทำให้เหมาะต่อการนำมาแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้

screenshot2565-10-03at09._4

โดย AmoArte ได้เพิ่มมูลค่าให้กับไม้ชนิดนี้ด้วยการเปลี่ยนมันให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการดีไซน์มาแล้วให้สวยงาม ทำให้ไม้ไผ่กลายร่างจากวัสดุราคาถูกที่ชาวบ้านนำมาใช้ผลิตข้าวของและเฟอร์นิเจอร์ง่ายๆ ขายเอง กลายเป็นวัสดุของเฟอร์นิเจอร์หรูที่ขายได้ราคาสูงด้วย ‘การออกแบบ’ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น และอยากปลูกไผ่ส่งให้กับบริษัท

นอกจากไม้ไผ่ก็ยังมี 'ไม้ตาล' ที่ AmoArte พบว่ามีความแข็งแรงเหมาะนำมาทำเป็นเครื่องใช้ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังหาซากได้ทั่วไปเพราะต้นตาลมักจะหักโค่นลงมาเมื่อมีลมแรงหรือฝนตก ทำให้การนำไม้ตาลมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างประโยชน์

ในการออกแบบ AmoArte จะพยายามโชว์ความสวยงามและคุณลักษณะของไม้ทุกชนิดที่นำมาใช้มาเป็นวัสดุ โดยคงลายคงสีไว้ และเมื่อมีคนเข้ามาสนใจที่มาของวัสดุ เฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นก็จะได้กลายเป็น ‘เครื่องมือในการเล่าเรื่องของชุมชน’ อันเป็นที่ให้กำเนิดเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ ด้วย

screenshot2565-10-03at09._5

 

จากงานของนักออกแบบและศิลปินทั้ง 3 คนจะเห็นได้ว่า การผลิตสินค้าจากวัสดุเหลือใช้ ‘การออกแบบ’ และ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ มีส่วนสำคัญมากในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และสามารถสร้างความยั่งยืนได้ในหลายมิติ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาคส่วนธุรกิจจะเริ่มตื่นตัวในการนำวัสดุมาหมุนเวียนใช้กันบ้างแล้ว ผู้บริโภคเองก็มีส่วนช่วยสำคัญ เพราะถึงแม้ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าที่ดีต่อโลกขึ้นมาแล้ว หากผู้บริโภคไม่หันมาใช้สินค้าพวกนี้ ความพยายามทั้งหลายในการทำธุรกิจแบบหมุนเวียนเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ และสืนค้าพวกนี้เองก็อาจจะกลายเป็น ‘สินค้าช่วยโลกตามกระแส’ ที่อาจอยู่ไม่รอด และไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงอย่างที่มันควรจะทำ

แชร์

พบ 3 ดีไซน์เนอร์ยั่งยืน สร้างงานออกแบบด้วย ‘ขยะ’ ดัน Circular Economy