ทำไมกล้อง 'ไลก้า' ถึงมีราคาแพง และทำไมคนถึงยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของกล้องเยอรมันแบรนด์นี้
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแล้ว กล้องยี่ห้อหนึ่งที่หลายๆ คนใฝ่ฝันถึงอยากจะได้มาเป็นเจ้าของก็คือ ‘ไลก้า’ (Leica) กล้องสัญชาติเยอรมันที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ มาพร้อมโลหะบุหนังสีดำ และจุดสีแดงแรงฤทธิ์ที่มองผ่านๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นกล้องยี่ห้อไหน
แม้จะขึ้นชื่อเรื่องราคาที่แพงกว่ากล้องทั่วไป ยิ่งรุ่นพิเศษแบบ Limited Edition ก็ยิ่งมีราคาสูงไปทะลุหลายแสนหรือหลักล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็ยังคงใฝ่ฝันหรือตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของกล้องไลก้าให้ได้สักวันหนึ่ง
เพราะสิ่งที่ทำให้ไลก้าโดดเด่นนั้นไม่ใช่แค่การเป็นกล้องถ่ายภาพ หากแต่เป็น "ตำนานที่พลิกโฉมการถ่ายภาพทั่วโลก" ในฐานะผู้บุกเบิกวงการกล้องฟิลม์ 35 มม. ทั้งยังเป็นกล้อง Handcraft ที่ถือเป็น "ผลงานศิลปะในตัวเอง" มีประวัติความเป็นมายาวนาน อัดแน่นด้วยมวลความรู้ทางวิศวกรรมการออกแบบที่เป็นต้นแบบให้กับกล้องยี่ห้อต่างๆ ในปัจจุบัน และเหนืออื่นใดก็คือ เป็นแบรนด์ที่สามารถรักษา "คุณค่า" ได้อย่างเหนียวแน่นมากว่า 100 ปี
ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนรอยความเป็นมาของกล้องไลก้า และเปิดเหตุผลว่าทำไม ไลก้าถึงเป็นกล้อง ‘ทรงคุณค่า’ ที่หลายคนอยากเป็นเจ้าของ
ก่อนที่จะมีกล้องขนาดเล็กที่ทำให้เราจับภาพได้ทุกที่ทุกเวลาแบบทุกวันนี้ กล้องถ่ายภาพเคยเป็นกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่พร้อมขาตั้งเทอะทะน้ำหนักมากมาก่อน ช่างถ่ายภาพในสมัยก่อนนอกจากจะต้องมีฝีมือแล้วยังต้องมีร่างกายแข็งแรงแบกอุปกรณ์ไปไหนมาไหนได้ด้วย
นี่คือปัญหาใหญ่สำหรับ "ออสการ์ บาแน็ค" (Oskar Barnack) วิศวกรและนักออกแบบวัย 35 ปี ของบริษัทผลิตกล้องจุลทรรศน์ Ernst Leitz Optische Werke เพราะเขาเป็นคนที่ชื่นชอบการปีนเขาและถ่ายภาพกลางแจ้งมาก แต่กลับป่วยเป็นโรคหอบหืดจนไม่สามารถยกกล้องหนักๆ ไปไหนมาไหนได้
และด้วยความอยากได้กล้องขนาดเล็กที่พกขึ้นเขาไปถ่ายวิวทิวทัศน์ได้นี่เอง จึงทำให้บาแน็คพยายามคิดค้นกล้องขนาดเล็กขึ้นมา โดยการออกแบบตัวกล้องและเลนส์ที่สามารถบันทึกภาพที่คมชัดลงฟิล์มเนกาทีฟขนาดเล็กได้
โดยหลังจากทดลองกับเลนส์หลายชนิดจากบริษัทและฟิล์มในหลายขนาด ในปี ค.ศ. 1914 บาแน็คก็สามารถคิดค้นกล้องฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร ตัวแรกที่ชื่อว่า ‘UR-Leica’ ขึ้นมาได้สำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน 2 คน คือ Emil Mechau ที่ช่วยให้เขาคิดค้นม้วนฟิล์มเนกาทีฟขนาดเล็ก 24 x 36 มิลลิเมตร และ Max Berek ที่ช่วยคิดเลนส์ Leica Elmar 50mm f/3.5 เลนส์ตัวแรกของ Leica ที่มีคุณภาพสูงจนสามารถอัดรายละเอียดจำนวนมากลงฟิล์มขนาดเล็กได้ ทำให้เมื่อนำฟิล์มเหล่านั้นไปล้างขยายแล้วยังได้ภาพใหญ่ที่คมชัดได้โดยคุณภาพไม่ตก
ชื่อ “อัว ไลก้า” (Ur-Leica) คำว่า Ur แปลว่า Original ส่่วน Leica มาจาก (Lei)tz+ (ca)mera ดังนั้น Ur Leica จึงมีความหมายว่่า “กล้องถ่ายภาพกล้องแรกของบริษัท Leitz”
และเมื่อบาแน็คสร้างกล้องนี้ขึ้นและลองใช้ เขาก็รู้ทันทีว่า "อุปกรณ์ชิ้นนี้จะปฏิวัติวงการถ่ายภาพไปตลอดกาล" แต่ก่อนที่เขาและบริษัทจะได้ผลิตสินค้าชิ้นนี้ออกไปวางขาย ทุกอย่างก็ชะงักไปก่อนเพราะมีสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น
จนเมื่อสงครามจบ และทุกคนได้กลับมาทำงานเหมือนเดิม กล้องฟิล์มรุ่นแรกของ Leica คือ ‘Leica-I’ จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นและผลิตออกจัดจำหน่ายในปี 1925 โดย Leica-I เป็นกล้องฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตรตัวแรกที่มี Rangefinder หรือสิ่งที่ช่วยให้นักถ่ายภาพกะระยะโฟกัสได้โดยไม่ต้องกะเองจากสายตาจนทำให้บางทีรูปออกมาเบลอ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้กล้องตัวนี้ขายดีถล่มถลายจนชื่อ Leica เป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทผลิตกล้องและเลนส์กล้องชั้นนำ
แต่รายชื่อนวัตกรรมที่บริษัท Leitz ฝากไว้ให้วงการถ่ายภาพก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะเพียง 5 ปีถัดมา Leica ก็ผลิต Leica-II ซึ่งเป็นกล้องที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ตัวแรกของโลกได้ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติที่จะเป็น "ต้นแบบ" ให้กับกล้องรุ่นใหม่ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น SLRs, DSLRs และ Mirrorless ที่เราคุ้นเคยกันดี
การพัฒนากล้องฟิล์มขนาดเล็กยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อ "การรายงานข่าวด้วยภาพถ่าย" หรือ วารสารศาสตร์ภาพถ่าย (Photojournalism) ที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น
เพราะในขณะที่สมัยก่อนช่างภาพที่เป็นนักข่าวต้องแบกกล้องใหญ่ๆ ไปเซ็ตแล้วถ่ายจนทำให้ภาพข่าวที่ออกมาในสมัยก่อนมักเป็นภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว (aftermath) เช่น ภาพบ้านเมืองที่ยับเยินหลังสงคราม แต่ช่างภาพสมัยใหม่ที่มีกล้องขนาดเล็กจะสามารถยกกล้องขึ้นมาถ่ายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นได้เลย อีกทั้งยังสามารถหลบสังเกตการณ์อยู่เบื้องหลังเงียบๆ เพื่อรอช็อตเด็ดที่ต้องการได้โดยไม่ต้องเปิดเผยให้คนที่กำลังถูกถ่ายรู้ตัว
ความเงียบนี่เองที่ทำให้นักถ่ายภาพสตรีทชื่อดังยุคแรกๆ ที่ต้องการเก็บภาพบรรยากาศบนท้องถนน ผู้คน และสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติแบบ ‘ไม่ปรุงแต่ง’ (candid) จึงนิยมใช้กล้อง Leica เป็นอุปกรณ์ในการบันทึกภาพ
โดยนักถ่ายภาพที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งที่ใช้กล้อง Leica เป็นเครื่องมือคู่ใจคือ ‘อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง (Henri Cartier-Bresson)’ บิดาแห่งการถ่ายภาพสตรีทที่มักจะไปไหนมาไหนกับกล้อง Leica M3 คู่ใจอยู่เสมอ จนภาพที่เขาจับหรือห้อยกล้อง Leica เป็นภาพคุ้นตา โดยเฉพาะในหมู่นักถ่ายภาพรุ่นหลังที่เมื่อเห็นไอดอลตัวเองห้อยกล้อง Leica ก็เกิดอยากได้กล้องยี่ห้อนี้ซักตัวมาไว้ในครอบครองบ้าง
นอกจากนี้กล้อง Leica ยังเป็นกล้องที่อยู่คู่กับนักถ่ายภาพมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นเครื่องมือที่นักถ่ายภาพมืออาชีพใช้บันทึกภาพที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่น ภาพทหารเรือจูบพยาบาลสาวในวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ่ายโดย Alfred Eisenstaedt ในปี 1945 หรือภาพของนักปฏิวัติ เช เกวารา (Che Guevara) ถ่ายโดย Alberto Korda ช่างภาพชาวคิวบาในปี 1960 ที่ได้กลายไปเป็นโฉมหน้าและสัญลักษณ์ของการปฏิวัติทั่วโลกในเวลาต่อมา
และด้วยความเป็นมาที่ยาวนานขนาดนี้ กล้อง Leica สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพจึงไม่ได้เป็นแค่กล้อง แต่ยังเป็นนวัตกรรมชิ้นประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นกำเนิดวิธีการถ่ายภาพสมัยใหม่ และกำหนด ‘วิธีการมองโลก’ ให้กับนักถ่ายภาพทุกรุ่นที่มีชีวิตหลังจากนั้น
นอกจากประวัติความเป็นมายาวนานแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้กล้อง Leica ยังคงเป็นกล้องที่นักถ่ายภาพทุกคนอยากได้มาอยู่ในครอบครองก็คือ ‘ดีไซน์ที่คลาสสิก’ และ ‘ความทนทาน’ ที่ทำให้คุณค่าของกล้อง Leica ไม่มีวันตกแม้เวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน
ในยุคที่ผู้ผลิตกล้องรายอื่นหันไปใช้เครื่องจักรและวัสดุที่ราคาถูกกว่าเพื่อลดต้นทุนการผลิตมานานแล้ว ช่างฝีมือที่ Leica ยังคงผลิตกล้องทุกตัว ‘ด้วยมือ’ จากชิ้นส่วนนับพันชิ้นที่ยังคงทำมาจากวัสดุชั้นดี และยังคง 'เมด อิน เยอรมนี' จนถึงทุกวันนี้
โดยเฉพาะ 'เลนส์' ซึ่งเป็นสินค้าที่ Leica เชียวชาญด้วยต้นกำเนิดที่เป็นบริษัทผลิตกล้องจุลทรรศน์ และประกอบโดยช่างฝีมือที่เป็น ‘ผู้หญิง’ ที่มือเล็ก และมีความละเอียดละออในการประกอบสินค้ามากกว่า ทำให้ในสายตาของผู้ซื้อ กล้องและเลนส์ของ Leica ทุกตัวไม่ใช่แค่เครื่องมือบันทึกภาพธรรมดา แต่ยังเป็น ‘งานศิลปะทำมือ’(Handcraft) ที่จะยิ่งมีคุณค่าเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับนาฬิกา Patek Phillips ที่ยิ่งเก็บยิ่งราคาขึ้น
การยึดมั่นในการรักษาคุณภาพ และ craftmanship นี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ Leica ยังคงรักษา Brand Value และวาง Position ตัวเองเป็นสินค้าคุณภาพสูงในระดับของสะสม ที่ถึงแม้จะราคาสูงถึงหลักแสนหลักล้านก็ยังมีกลุ่มลูกค้ารอซื้อจนผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย โดยเฉพาะใน ‘ไทย’ ที่เป็น ‘ตลาดที่มียอดขายสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน’
โดยข้อมูลของ บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายกล้อง Leica รายเดียวของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2016 ยอดขายกล้อง Leica มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในประเทศไทยจากฐานลูกค้าที่ขยายใหญ่ขึ้น
ในปี 2017 Leica ประเทศไทยทำรายได้ไป 147 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 152 ล้านบาท ในปี 2018 และ 167 ล้านบาท ในปี 2019 ส่วนในปี 2020 นั้นแม้รายได้จะลดมาอยู่ที่ 138 ล้านบาท แต่ก็เป็นเพราะปัญหาการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไม่ใช่เพราะลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง แต่เป็นเพราะ ‘ไม่มีของขาย’ เพราะผู้ผลิตที่ประเทศเยอรมนีไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าในช่วงที่มีการล็อกดาวน์และจำกัดเวลาการทำงานภายในประเทศได้
The Leica 0-series no. 105 กล้องของ ออสการ์ บาแน็ค ที่เจ้าตัวคิดค้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือกล้องที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดในโลก โดยถูกประมูลไปในราคาถึง 15 ล้านดอลลาร์ (ราว 570 ล้านบาท) ในปี 2022 นี้
และด้วยภาพลักษณ์ที่เป็น ‘งานศิลปะทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา’ นี้เอง หน่วยงานสำคัญในหลายๆ ประเทศจึงนิยมสั่งทำกล้อง Leica รุ่นพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิ วาระครบรอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ประเทศต่างๆ และโอกาสอื่นๆ ซึ่งมักจะจัดทำในจำนวนจำกัดเพื่อให้เป็นของที่ทรงคุณค่า
เช่น Leica งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีของสุลต่านบรูไนเมื่อปี 1992 ซึ่งเป็น Leica M6 เคลือบทองประทับตราพระองค์พร้อมเลนส์ Summilux-M 1.4/50mm มูลค่า 27,114 เหรียญสหรัฐ (ราว 1 ล้านบาท) ที่ผลิตออกมาเพียง 350 ชุดในโลกเท่านั้น
ในประเทศไทยเอง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ก็กำลังจะจัดโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ขึ้นภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ “SX 2022” แพลตฟอร์มงานด้านความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในระดับอาเซียน ที่ 5 องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของไทยจะร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ย. ถึง 2 ต.ค. นี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
การจัดทำกล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับบนกล้องได้
โดยได้จัดทำกล้องถ่ายภาพเป็น 2 รูปแบบคือ ชุดสีเหลือง จำนวน 10 ชุด (ชุดละ 1,500,000) และชุดสีเขียว จำนวน 20 ชุด (ชุดละ 1,000,000 บาท)
ในชุดสีเขียวประกอบด้วยกล้อง Leica รุ่น M 10-P ประดับหนังจระเข้สีเขียวชุบทองคำแท้แบบไม่มันวาวพร้อมเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH
ในชุดสีเหลืองประกอบด้วยกล้อง Leica รุ่น M 10-P ประดับหนังจระเข้สีเหลืองชุบทองคำแท้แบบไม่มันวาว ที่มาพร้อมเลนส์ถึง ‘2 ตัว’ ด้วยกันคือ เลนส์ APO Summicron- M 1:2/50 ASPH และเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH โดยตัวเลนส์ APO 50 ตัวแรก ซึ่งเป็นเลนส์ขนาด 50 มิลลิเมตรที่ดีที่สุดในโลก จะอยู่ในเปลือกเลนส์แบบวินเทจหรือที่เรียกกันว่าเวอร์ชั่น1 (v1) มะเฟือง ซึ่งไม่เคยมีการผลิตมาก่อน
นอกจากนี้ ทั้งชุด กล้อง และเลนส์ทุกตัวจะมีหมายเลขกำกับ 1/10 ถึงลำดับหมายเลข 10/10 สำหรับชุดสีเหลือง และ 1/20 ถึงลำดับหมายเลข 20/20 สำหรับชุดสีเขียว ทำให้กล้องชุดนี้มีคุณค่าในเชิงสะสมเนื่องจากมีเพียง 30 ชุดในโลกเท่านั้น อีกทั้งตัวกล้องและสายยังเป็นหนังจระเข้ ทำให้แต่ละกล้องมีลวดลายไม่เหมือนกัน มีความเฉพาะตัวสูง
รายได้ทั้งหมดจากการจัดประมูลกล้อง Leica รุ่นพิเศษ ในงาน SX 2022 จะถูกมอบให้ 22 องค์กรการกุศลเพื่อนำไปสร้างประโยชน์แก่สังคมตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรต่อไป ซึ่งมูลนิธิและองค์กรการกุศล ประกอบด้วย
จึงเรียกได้ว่าผู้ประมูลกล้องในโครงการนี้ นอกจากจะได้กล้อง Leica ที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์และชื่อเสียงด้านวิศวกรรมยาวนานกว่า 120 ปีแล้ว ยังได้ของสะสมล้ำค่าจากความร่วมมือร่วมใจของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และทั้ง 22 องค์กร ที่มาร่วมมือกันเพื่อสร้างประโยชน์สุขเพื่อสังคม และประเทศชาติให้พัฒนาอย่าง ‘ยั่งยืน’
ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ ‘ดีเอ็นเอ’ ของ Leica บริษัทเจ้าของนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ยัง ‘ทรงอิทธิพล’ ยาวนานมาถึงปัจจุบัน และจะยัง ‘ทรงคุณค่า’ ต่อไปอีกในอนาคต