Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
“ทุกสงครามเหยื่อรายแรกคือผู้หญิง” แม้ไม่ใช่สังคมปิตาธิปไตย
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

“ทุกสงครามเหยื่อรายแรกคือผู้หญิง” แม้ไม่ใช่สังคมปิตาธิปไตย

14 มี.ค. 68
17:19 น.
แชร์

“ในทุกสงคราม เหยื่อรายแรกคือหญิง และเด็กผู้หญิง รวมทั้งเด็กๆ” ตันยา ฟายอน (Tanja Fajon) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกิจการยุโรปสโลวีเนียกล่าว

ผู้หญิงคือเหยื่อคนแรกในวิกฤตไม่ใช่คำพูดใหม่ แต่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหลายครั้ง เพราะไม่ว่าโลกเราจะเผชิญกับปัญหาใด ไม่ว่าจะเป็นสงคราม วิกฤตสภาพอากาศ หรือความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนผู้หญิงจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ปัญหาของผู้หญิงท่ามกลางวิกฤตจึงเป็นสิ่งที่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดในเวทีโลก เพื่อใช้ความร่วมมือในระดับนานาชาติแก้ไขปัญหาเหล่านี้

นางตันยา ฟายอน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกิจการยุโรปสโลวีเนีย

ปัญหานี้ถูกกล่าวถึงเป็นส่วนหนึ่งในการเสวนา “Women in multiateralism” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 มีนางตันยา ฟายอน (Tanja Fajon) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกิจการยุโรปสโลวีเนีย ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบทบาทสตรี ถกบทบาทและปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญในไทย, สโลวีเนีย และในระดับความร่วมมือนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตำแหน่งสูง ความไม่เท่าเทียมทางเพศในเวทีการเมือง สังคม หรือศาสนา และความจำเป็นรวมถึงวิธีการในการรวมผู้หญิงอยู่ในการตัดสินใจและออกนโยบายด้วย

Spotlight ขอหยิบยกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากการเสวนา นั่นคือผู้หญิงเป็นเหยื่อรายแรกในวิกฤตการณ์ต่างๆ มาขยายความในประเด็นเกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งเป็นประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนระอุในหลายมุมทั่วโลกขณะนี้ และมีผู้หญิงมากมายได้รับผลระยะยาวจากความขัดแย้งในช่วงเวลาก่อนหน้า


ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากวิกฤตก่อนอย่างไร: ผู้หญิงในฐานะเหยื่อสงคราม

ความโหดร้ายของสงครามส่งผลต่อผู้หญิงในหลายมิติ นอกเหนือจากความรุนแรงทางตรงที่มีราคาคือชีวิตหรือความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้หญิงเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในสงครามและความขัดแย้ง ที่เห็นได้ชัดคือการเสี่ยงเป็นผู้หญิงพลัดถิ่น เนื่องจากผู้พลัดถิ่น ราว 50 เปอร์เซ็นของผู้อพยพทั่วโลกคือผู้หญิง และราว 80 เปอร์เซ็นคือผู้หญิงและเด็ก พวกเธอเหล่านี้ประสบปัญหาในผู้อพยพในหลายมิติ เช่นการศึกษา สาธารณะสุข และความรุนแรงทางเพศ


การเข้าถึงการศึกษา

เด็กมากถึง 470 ล้านคนทั่วโลก หรือราว 1 ใน 6 ของเด็กๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และในโลกที่แยกหญิงชายออกจากกันด้วยขนบปิตาธิปไตยหรือการให้อำนาจผู้ชายมากกว่า หากต้องเลือกให้การศึกษาที่มีจำกัดแล้ว ผู้หญิงย่อมเป็นตัวเลือกสำรองที่ต้องต่อแถวหลังเข้าถึงการศึกษาหลังผู้ชาย และแน่นอนว่า สงครามความขัดแย้งที่นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมยิ่งทำให้ช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาดังกล่าวขยายกว้างมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก UNICEF ปี 2024 ชี้ว่า เด็กผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่าเด็กผู้ชายถึง 2.5 เท่าในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เด็กผู้หญิงระดับมัธยมต้นที่อยู่ในในพื้นที่ความขัดแย้งมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่าพื้นที่อื่นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และเด็กผู้หญิงราว 68 ล้านคนหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุนี้


ภาระทางเศรษฐกิจ

ระหว่างที่ผู้ชายอาจถูกเกณฑ์ไปเข้าร่วมกับกองกำลังก่อน (ซึ่งแน่นอนว่าต้องเผชิญกับความรุนแรงเช่นกัน) ภาระทางเศรษฐกิจ การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครัวเรือนนั้นจะตกเป็นของผู้หญิง จนเรียกได้ว่า ผู้หญิงคือคนที่แบกระบบเศรษฐกิจเอาไว้ในช่วงสงคราม บางครั้งการก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจนี้เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ผู้หญิง (empower) ได้เช่นกัน เช่นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคเศรษฐกิจอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก้าวเข้ามาทำงานในโรงงาน การขนส่งสาธารณะ การเกษตร และงานในสำนักงาน (แต่เมื่อสงครามจบลง พวกเธอก็ถูกผลักออกอีกครั้งด้วยวิถีการรณรงค์บทบาททางเพศตามขนบ เพื่อคืนงานให้ผู้ชาย) แต่ผู้หญิงหลายคน การต้องแบกรับภาระทางการเงินของครอบครัวโดยไม่ได้เ้ตรียมตัวอาจไม่ใช่เรื่องที่สร้างพลังให้นัก

ผู้พลัดถิ่น คือกุญแจสำคัญในการสร้างรายได้ให้ชุมชน มีการประมาณการว่าหญิงผลัดถิ่นสร้างรายได้ถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐให้ GDP ต่อหัวต่อปี อย่างไรก็ตามผู้อพยพหญิงมักเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงอาชีพ ข้อมูลที่แสดงให้เห้ฯได้ชัดคือในบางประเทศที่มีนโยบายรับผู้อพยพ มีผู้หญิงเพียง 4 ใน 10 สามารถหางานได้ เทียบกับผู้ชายราว 7 ใน 10 คน ทำให้ครอบครัวที่มีผู็หญิงเป็ฯผู้นำมีแนวโน้มจะมีปัญหาทางการเงินมากกว่า อาจนำไปสู่ปัญหาในการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก หรือการก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานของเด็กเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัว มิใช่แค่นั้น ช่องว่างระหว่างรายได้ของชาย-หญิงอพยพเฉลี่ยอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์


สาธารณสุขหายไป

การเข้าถึงบริการสาธารณสุขมักถูกจำกัดสำหรับผู้หญิงในช่วงสงคราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพ อย่างบริการด้านสุขอนามัยเจริญพันธุ์ มีวิธีการคุมกำเนิดจำกัด เข้าถึงผลิตภัณฑ์สำหรับการรักษาความสะอาด ขาดที่พักฟื้นหลังคลอด นอกจาก นี้ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตระหว่างคลอดที่ป้องกันได้นั้น เกิดขึ้นระหว่างสงครามความขัดแย้ง และการพลัดถิ่นอีกด้วย

ผู้หญิงหลายคนต้องกลายเป็นแม่หม้ายและรับผิดชอบครอบครัวในช่วงสงครามเพียงลำพัง ระหว่างระยะเวลา 17 เดือนของสงครามอิสราเอลปาเลสไตน์ มีผู้หญิงราว 3,000 คนต้องกลายเป็นแม่หม้าย 

ไม่ใช่แค่หน้าที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่แม่หม้ายสงครามต้องแบกรับ รายงานปี 2022 เกี่ยวกับสถานการณ์แม่หม้ายในพม่าอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในประเทศ ยังเผยว่า แม่หม้ายที่สามีหรือคู่หายไประหว่างสงครามกลางเมืองเมียนมา มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศมากกว่า 

ผู้หญิง และแม่หม้ายหลายคนในสงครามเป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ กรณีนี้เห็นได้ชัดในกลุ่มแม่หม้ายชาวโรฮิงญา หนึ่งในปัจจัยหลักคือการขับให้พลัดถิ่นของรัฐบาลเมียนมา ผสมรวมกับอีกปัจจัยคือการขาดโอกาสในการเข้าถึงงานและความยากจน


การล่วงละเมิด-คุกคามทางเพศ (ต่อพลเมือง)

การข่มขืนกับสงครามไม่ใช่สิ่งไกลกัน การข่มขืนมักถูกใช้เป็นการสงครามจิตวิทยาที่ใช้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามอับอายหรือเกรงกลัว ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ หญิงบำเรอ หรือผู้หญิงปลอบขวัญ (comfort women) ที่ปรากฎในกองทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมักเป็นผู้หญิงจากดินแดนที่กองทีพญี่ปุ่นยึดครอง 

พวกเธอถูกใช้ปรนนิบัติทหารในกองทัพ มีหญิงบำเรอในกองทัพญี่ปุ่นราว 200,000 คนและร้อยละ 80 เป็นชาวเกาหลี ตามมาด้วยชาวฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และประเทศอื่นๆ แม้จะไม่มีการรายงานหญิงบำเรอในไทยมากนัก เนื่องจากในสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยถือเป็นพันธมิตรทำให้การข่มเหงประชาชนในลักษณะนี้ทำไม่ได้โจ่งแจ้งเท่า แต่ก็มีรายงานการซื้อขายหรือให้บริการทางเพศระหว่างหญิงไทยและทหารญี่ปุ่นอยู่เช่นกัน 

การบังคับขู่เข็ญผู้หญิงมาเป็นหญิงบำเรอเป็นจำนวนมาก สร้างบาดแผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี โดยเฉพาะต่อความรู้สึกของคนเกาหลีที่ยังไม่ได้รับเยียวยาเพียงพอมาเป็นเวลานาน

ด้านสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์เองก็ไม่ต่างกัน เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา นักสืบสวนมนุษยธรรมอาวุโส รายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า มีการใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเพศโดยกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ รวมถึงเด็กเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ตุลาคม 2023 และถูกใช้เป็น “วิธีการทำสงคราม” ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวรวมไปถึงการควบคุมการเจริญพันธุ์อีกด้วย


การล่วงละเมิด-คุกคามทางเพศ (ต่อสมาชิกกองทัพ)

ไม่ใช่แค่นางบำเรอและประชาชน (ซึ่งโดยมากไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ) แต่สมาชิกหญิงในกองทัพเองก็ต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ รายงานเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศฉบับหนึ่งเมื่อปี 2019 เปิดเผยว่าผู้หญิง 1 ใน 4 ในกองทัพรัสเซียเคยเผชิญกับการคุกคามทางเพศ นอกจากนี้รายงานปี 2022 ยังเปิดเผยว่าผู้หญิงที่รับใช้ในกองทัพอิสราเอลราว 1 ใน 3 คนเคยประสบกับการคุกคามทางเพศ และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่รายงานประสบการณ์ดังกล่าว

ในหลายความขัดแย้งเด็กผู้หญิงก็ถูกเกณฑ์ไปเข้าร่วมกองกำลังต่อสู้ไม่ต่างจากเด็กผู้ชาย ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจ ความเชื่อในอุดมการณ์ ถูกบังคับขู่เข็ญ หรือไม่มีทางเลือกอื่นใดในชีวิตซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น เด็กผู้หญิงในกองกำลังการต่อสู้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับอันตรายมากกว่า เช่นการถูกคุกคามทางเพศ การถูกบังคับให้เป็นนางบำเรอ การถูกบังคับแต่งงานในกองกำลัง มักถูกมอบหมายหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเพศมากกว่าการสู้รบและยังไม่ถูกศึกษาและมีพื้นที่ในสื่อน้อยกว่าเด็กชายในกองกำลังการต่อสู้อีกด้วย 

นอกจากวิกฤตจากสงคราม วิกฤตอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และปัญหาเศรษฐกิจก็มีผู้หญิงนี่เองที่ยืนอยู่ที่หัวแถวคอยรับผลร้ายจากวิกฤตเหล่านั้นก่อน และอาจมีผลกระทบซับซ้อนขึ้นอีก หากมีอัตลักษณ์ซับซ้อน เช่นเป็นสมาชิกของกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีรายได้ต่ำ

การรวมเอาผู้หญิง และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เข้าร่วมอยู่ในกระบวนการเขียนนโยบายหรือการตัดสินใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อให้ปัญหาของพวกเธอหรือพวกเขาถูกมองเห็นและป้องกันได้


แชร์
“ทุกสงครามเหยื่อรายแรกคือผู้หญิง” แม้ไม่ใช่สังคมปิตาธิปไตย