เมืองที่ยั่งยืน ‘ Sustainable Cities ’ ไม่ได้มีความหมายแค่เพียง การก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เมืองที่ยั่งยืนและชาญฉลาด ยังหมายถึง เมืองที่ผู้คนและชุมชนเชื่อมโยงกับเมืองอย่างเท่าเทียมกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขทีได้อยู่ในเมืองนั้น
งานเสวนา “ MASTERPLAN DESIGN FOR SMART SUSTAINABLE CITIES” การออกแบบผังเมืองของโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์เมืองที่ยั่งยืน ภายในงาน SX 2023 ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเมืองระดับประเทศ มาร่วมกันถ่ายทอดมุมมองถึงเมืองที่ยั่งยืนโดยมีโครงการ One Bangkok ต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้
เริ่มที่ คุณวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก ระบุว่า ในฐานะผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มีแนวคิดที่ถูกนำมาเป็นปัจจัยในการออกแบบโครงการหลายด้าน เช่น ข้อมูลประชากร ระบบการขนส่งสาธารณะ ความหลากหลายของผู้คน พื้นที่สีเขียว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปริมาณขยะ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ เพื่อกำหนดการออกแบบโครงการให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน ทั้งกระบวนการก่อสร้าง วัสดุที่เลือกใช้ การจัดการขยะก่อสร้าง การใช้พื้นที่ของอาคาร เป็นต้น
ดังนั้น เมืองต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ โครงการ One Bangkok ใช้เวลาหลายปีกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ แต่เป้าหมายสำคัญคือเมื่อโครงการเปิดแล้ว ที่นี่จะต้องเป็นเมืองที่ทำให้ผู้คนมีความสุขทั้งที่ได้เข้ามาใช้พื้นที่ในโครงการ รวมไปถึง ชุมชนโดยรอบ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย
ด้านคุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ระบุว่า ปัจจุบันวัสดุก่อสร้างโครงการต่างๆของ เอสซีจี เป็นผลิตภัณฑ์ Low Carbon แล้ว โดยในเฟสแรกปูนซีเมนต์ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ราว 10% แต่ในเฟสต่อๆไปผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างต้อง Low Carbon มากขึ้นไปอีก ใช้พลังงานน้อยลง โดยมีตราสัญลักษณ์ SCG Green Choice ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยในแบบ Smart Living ควบคู่กันไปด้วย
ตัวอย่างจากการร่วมพัฒนา MASTERPLAN DESIGN ของโครงการ One Bangkok มีการนำหัวเสาเข็ม มารีไซเคิล แล้วนำกลับมาพัฒนาใหม่กลายเป็น Precast Panel นอกจากนี้ยังมีการนำวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกหลายอย่าง เช่น นำคอนกรีตมาทำเป็นที่นั่ง อยู่ภายนอกอาคาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลดการใช้พลังงานในการก่อสร้าง ทั้งการใช้รถ EV Mixer Truck หรือ แม้แต่การจัดการขยะจากเศษอาหารของคนงานมาทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย
ด้านคุณวรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด พูดถึงการออกแบบภูมิสถาปัตย์เพื่อเติมเต็มเมืองให้ยั่งยืนว่า เป้าหมายสำคัญคือต้องการทำให้คนในเมืองนั้นมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยพื้นที่รอบโครงการสามารถมีพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างหลายเมืองใหญ่ของโลก เช่น แมนฮัตตัน นิวยอร์ค ฮ่องกง ล้วนแล้วแต่มีพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมกับประชากรทั้งที่เป็นเมืองหนาแน่น นอกจากนี้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างต่างๆต้องเชื่อมต่อกับผู้คน ประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั่นจึงจะทำให้การออกแบบภูมิสถาปัตย์เติมเต็มเมืองที่ยั่งยืนได้
ปิดท้ายที่คุณนิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด เล่าประสบการณ์ในการไปดูงานการประกวดโครงการอสังหาริมทรัยพ์ที่ยั่งยืนในต่างประเทศ พบว่า ความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับนักพัฒนา หรือนักออกแบบไปแล้ว หลายโครงการได้ยกระดับความยั่งยืนไปมากกว่าแค่การประหยัดพลังงาน แต่ไปถึงขั้นผลิตพลังงานได้แล้ว และทำให้เห็นถึงเทรนด์เหล่านี้ท่ีเพิ่มขึ้นต่อไป กรณีของโครงการ One Bangkok ก็เชื่อมั่นว่า จะสามารถไปคว้ารางวัลโครงการอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มความยั่งยืน หรือ Smart City ได้ไม่ยากเช่นกัน