กลุ่มมิตรผล นำโดยดร.ศรายุธ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม Health Product and Sustainability กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า แนวทางการดำเนินกิจการของกลุ่มมิตรผลยึดบนหลักของการ “ร่วมกันอยู่ ร่วมกันเจริญ” เน้นการเติบโตไปด้วยกันระหว่างบริษัทกับชาวไร่อ้อย และการต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ
โดยปัจจุบันบริษัทได้นำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อที่ออกโดยสหประชาชาติ มาปรับใช้แล้ว 12 ข้อ นอกจากนี้ ยังได้รับการจัดให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอันดับที่ 2 ของโลกในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร
สำหรับความท้าทายจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นั้น การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการผลิตและการจัดการ ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจอันดับแรกของผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเกษตรอย่างมิตรผล
รวมถึง ยังมีแรงผลักดันจากทางด้านของฝั่งลูกค้าที่มีการออกข้อกำหนดด้านความยั่งยืน หรือ ESG ต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องยกระดับขีดความสามารถของผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเกษตรกรหลายแสนครอบครัวทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งมิติทางด้านการศึกษา การเพิ่มผลผลิต การลดอัตราการปล่อยมลภาวะ การใช้พลังงานฟอสซิลของฟาร์ม ฯลฯ
สำหรับแนวทางการรับมือนั้นบริษัทใช้แนวทางของการ “Lead-Adapt-Change” เช่น การจัดทำกรณีตัวอย่างที่อุทยานมิตรผลด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันสามารถบรรลุสถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แล้ว และจะต่อยอดปรับเปลี่ยนในที่อื่น ๆ ต่อไป
นายแอนโทนี วาตานาเบ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญใน “วิสัยทัศน์ 2030” ของบริษัท ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประกาศเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลขวด PET เป็นหนึ่งแสนล้านขวดต่อปี ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า
“การเก็บขวด คือ ความท้าทายสำคัญ เพราะถ้าเราไม่สามารถเก็บขวดคืนมาได้ เราก็ไม่สามารถนำมันกลับมาใช้ใหม่ได้”นายแอนโทนี กล่าว
นายแอนโทนี่ ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นด้านการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Mitigation) เช่น การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน ฯลฯ ตนเห็นพ้องกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนของ 50 องค์กรชั้นนำของโลกที่ได้ลงมติในการประชุม “สัปดาห์ภูมิอากาศ” ณ นครนิวยอร์กเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าการเตรียมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation) เป็นปัญหาและความเสี่ยงสำคัญอันดับ 1 ของธุรกิจ เนื่องจากพบว่าจากเดิมที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติระดับที่สร้างความเสียหายเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นเฉลี่ย 2-3 ปีต่อครั้ง ปัจจุบันความถี่นี้ได้เพิ่มเป็นทุก ๆ 2-3 สัปดาห์
ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นพื้นฐานสำคัญของบริษัทซึ่งได้จัดสรรงบประมาณถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ตาม นอกจากการช่วยสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการที่จะสร้างสมดุลในระหว่างเป้าหมายทั้งสองอย่างนี้ไปพร้อมกัน
“ภาพใหญ่ของธุรกิจวันนี้ Resilient สำคัญมาก เราเจอสงครามการค้า โควิด-19 สงคราม ฯลฯ อะไรต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนไปมาก มีกฎระเบียบเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น CBAM (ข้อตกลงการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน) ที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ ทำให้ลูกค้าเราได้รับผลกระทบ เราต้องช่วยลูกค้าของเราให้ลดการปล่อยคาร์บอน ประหยัดพลังงาน ฯลฯ ซึ่งนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างมากในขณะนี้ ในการที่จะช่วยทำให้ทั้งห่วงโซ่อุปทานมีความเข้มแข็ง”
สุดท้าย ดร.ชญาน์ ชี้ว่าจากกรณีของ GC และองค์กรอื่น ๆ ที่เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้จะเห็นได้ว่าในเรื่องของความยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานหรือภาคส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย นอกจากนี้ อยากฝากว่าทุกคนสามารถเริ่มต้นมีส่วนทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นและช่วยส่งต่อไปยังผู้อื่นได้
“SX Sustainability Expo 2023” มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 บนพื้นที่จัดงานรวมกว่า 70,000 ตารางเมตร ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยความร่วมมือของ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, เอสจีซี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
มาร่วมเปลี่ยนโลก เพื่อสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า Good Balance, Better World ภายใต้มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) ตั้งแต่วันนี้ถึง 8 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G และ LG งานนี้เข้าชมฟรี!