ปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมากกว่า 15 ปีนั้นเกิดจากหลายปัจจัยทั้งจากไฟป่า ปัญหาภาคการเกษตร รวมถึงหมอกควันข้ามแดน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะแก้ไขได้ในระยะสั้นนี้
สำหรับชาวเชียงใหม่นั้นปีที่แล้วเราสูดควันพิษเกินมาตรฐานยาวนานติดต่อกันกว่า 3 เดือน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนทุกคน โดยเฉพาะ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย และผู้มีรายได้น้อย ที่ขาดอุปกรณ์ที่จะใช้ปกป้องตัวเอง เนื่องจากเครื่องฟอกอากาศในท้องตลาดมีราคาสูง ดังนั้น การทำเครื่องฟอกอากาศแบบง่ายไว้ใช้เองได้จึงหมายความว่า เราพึ่งพาตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองได้ ลดความเสี่ยงจากโรคทางเดินหายใจและลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของครอบครัวที่อาจจะตามมาได้อีก
บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาไปรู้จักกับโครงการ Beyond the Village โดย มรว.พริมา ยุคล นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรรี่ เยาวชนไทยที่มองเห็นปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม จึงต้องการเผยแพร่ความรู้ในการจัดทำเครื่องฟอกอากาศแบบต้นทุนต่ำ และการทำห้องปลอดฝุ่น PM2.5 แบบง่าย (DIY : Do it yourself) โดยโครงการฯยังได้ระดมทุนเพื่อแจกจ่ายอุปกรณ์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำวิธีทำห้องปลอดฝุ่นแบบง่ายแก่ชุมชนในภาคเหนือที่ห่างไกล โรงเรียนและสถานพยาบาล ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และภาคอื่น เช่น อ่างทอง โดยมีทีมอาสาสมัครลงพื้นที่ใกล้ชิด
เครื่องฟอกอากาศ DIY นี้ เครื่องฟอกอากาศนี้ มีต้นแบบจาก ศูนย์ AiroTec ม.ราชภัฏเชียงใหม่ โดย ดร.ชยานนท์ สวัสดีนฤนาท แม้จะมีรูปลักษณ์เรียบง่ายแต่ประสิทธิภาพนั้นเป็นที่น่าพอใจ ได้รับการพิสูจน์แล้วจากการติดตั้งในหลายจังหวัด ประกอบด้วยวัสดุที่หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด ใช้เวลาทำไม่เกินครึ่งชั่วโมงด้วยราคาเพียง 1500 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องฟอกอากาศระบบOAUจากโรงงาน ซึ่งมีต้นทุนประมาณเครื่องละ 10000-25000 บาทนั้น จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันทีแก่ผู้มีรายได้จำกัด
โครงการฯได้ส่งมอบและติดตั้งห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน ในศูนย์ดูแลเด็กและสถานพยาบาลมาแล้วมากกว่า 100 แห่ง กับขยายผลไปทั่วในพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร รวมทั้งในเขตภูเขาสูง และไม่หยุดยั้งในการพัฒนาวิธีการให้สร้างอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้นอีก ตั้งแต่การเลือกใช้ วัสดุอุปกรณ์ เช่น แผ่นกรอง พัดลม ปรับปรุงสื่อการสอนให้เข้าใจง่ายขึ้น รวมทั้งแปลเป็นภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้เดือดร้อนได้มากที่สุด
ในวันที่ค่าฝุ่นพิษสูงเกินมาตรฐานมาก เช่น AQI 300 µg/m³ เราจะปรับบ้านหรือห้องเป็นแบบแรงดันบวก และนำเครื่องฟอกอากาศ DIY นี้ปรับใช้เป็นเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ในห้องนั้น
เมื่อเติมอากาศเข้าห้องแรงดันอากาศในห้องจะสูงกว่าข้างนอก เพื่อสกัดไม่ให้ฝุ่นจากข้างนอกเข้ามา หากทำถูกหลักการแม้ในห้องจะไม่มีเครื่องฟอกเลยห้องนั้นก็จะมีอากาศดีได้ อากาศที่เติมเข้าตัวบ้านจะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจน ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงและกันฝุ่นจากภายนอกเข้ามา เราจะรู้สึกสดชื่นไม่อึดอัด ลดการใช้เครื่องฟอกอากาศหลายเครื่องได้
ทั้งนี้มีวิธีทำง่ายเพียง 7 ขั้นตอน ทุกคนทำเองได้ ปรับใช้ได้กับความต้องการเฉพาะของแต่ละชุมชน โดยโครงการฯให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านหลายช่องทาง เช่น Line, Facebook เพื่อตอบทุกคำถาม
รายการอุปกรณ์หาซื้อได้ง่ายที่ Shopee Lazada และร้านค้าทั่วไป สามารถค้นหาได้ตามนี้
ในท้องที่ที่ทำโครงการเราเน้นให้เด็กนักเรียน ครู พนักงาน ลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะได้พบว่าไม่ยากเลย ทุกคนจะรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของและช่วยกันดูแลเครื่องฟอกอากาศด้วย เสน่ห์ของ”การสร้างอุปกรณ์ด้วยตนเอง”หรือ DIY นี้คือแต่ละท้องที่จะมีความคิดสร้างสรรของตัวเองเพิ่มเติม เช่น ตกแต่งอุปกรณ์เพื่อหาวิธีป้องกันการถูกขโมย ไปจนถึงการใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ในการปิดผนึกห้อง เช่น ถุงขยะ เป็นเรื่องที่น่ายินดี เราเองได้เรียนรู้เพื่อปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง และยังแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ต่ออีกด้วย
ระยะทางที่ห่างไกลในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งการเดินทางอาจมีอุปสรรค เราใช้วิธีทำงานร่วมกับตัวแทนชุมชนเพื่อให้เขาส่งต่อความรู้ไปยังชุมชนอื่นๆในเขตอำเภอเดียวใกล้กันได้ โรงเรียนแห่งหนึ่งที่เราเข้าไปช่วยเหลือนั้นสามารถส่งต่อความรู้ได้อีกมากถึง 10 โรงเรียน ในอำเภอเดียวกัน
นอกจากนี้ การให้คำแนะนำการทำห้องปลอดฝุ่นทางวีดีโอคอลแก่โรงเรียนห่างไกล ก็ทำให้ไม่ต้องเดินทาง ขอเพียงแค่ส่งอุปกรณ์ให้ครบเท่านั้น โดยกระบวนการจะเริ่มจากสำรวจสภาพห้องหาจุดลมเข้าที่ต้องปิด และช่องที่จะนำอากาศบริสุทธิ์เข้า โดยเราส่งรูปและวีดีโอแสดงขั้นตอนการติดตั้งให้ศึกษาก่อนล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาติดตั้งจริง ผู้รับในทุกที่สามารถติดตั้งได้รวดเร็วมาก การแนะนำทางวีดีโอคอลรูปแบบนี้ช่วยให้เราส่งอุปกรณ์ไปได้ไกลกว่าเดิมอีกมาก
โครงการฯ มี อาสาสมัครจากที่ต่างๆมาเข้าร่วม เช่น กลุ่มนักปั่นจักรยานเสือภูเขา นักศึกษาจิตอาสา และยังได้มีโอกาส ไปเผยแพร่ความรู้ในหลายที่ เช่น งานมหกรรมรวมพลคนหลังกำแพง โดยกรมราชทัณฑ์ และวิทยาลัยการอาชีพโพธิ์ทอง มีผู้สนใจเข้าฟังจำนวนมาก ได้นำเสนอประโยชน์ในราคาประหยัด เพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวในฤดูหมอกควัน
มรว. พริมากล่าวว่านอกจากจะดีใจที่โครงการได้เข้าถึงผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริงแล้ว ยังขยายผลได้ออกไปเป็นเครือข่ายที่ช่วยกันส่งต่อความรู้อีกด้วย สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการนี้ คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งเหนียวแน่นในเชียงใหม่ ทุกคนนำความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวมาช่วยกันจัดการปัญหานี้ ได้พบ อาจารย์ผู้ไม่เคยหยุดคิดค้นนวัตกรรม, ได้พบนักอุตุนิยมวิทยาผู้คอยแนะนำจังหวะเวลาชิงเผาให้เหมาะสม, นักวิชาการผู้พัฒนาแนวทางจัดการน้ำ, พบชาวบ้านที่รวมตัวกันสร้างเส้นทางเพื่อลดการเกิดไฟป่า
วิกฤตหมอกควันนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนและมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประสบการณ์นี้สอนให้เห็นถึงความสำคัญของความสามัคคีว่าดีกว่าการเอาแต่กล่าวโทษกัน เป็นประสบการณ์ที่ทำให้มีความหวัง และการที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันช่วยเหลือไม่ว่าจะมากหรือน้อย สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกได้แม้ในวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่
Video
เปลี่ยนห้องสมุดให้เป็นสถานที่หลบภัยฝุ่น PM2.5
Video แนะนำ วิธีทำห้องปลอดฝุ่น DIY 7 ขั้นตอน แบบกระชับ
ผู้สนใจความรู้เรื่องเครื่องฟอกอากาศ และห้องปลอดฝุ่น DIY หรือขอรับการสนับสนุนเครื่องฟอกอากาศ สามารถติดต่อได้ที่
Line: @btv1 Instagram: beyond.the.village Facebook: Beyond the Village