สิงคโปร์ ประเทศเกาะขนาดเล็กที่มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด แต่สิงคโปร์ไม่เคยปล่อยให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคในการเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในงานประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียนอาเซียน 2024 ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน Sustainability Expo 2024 Spotlight ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ 2 สตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่จากสิงคโปร์ หนึ่งในประเทศอาเซียนที่ประกาศแผน Singapore Green Plan 2030 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
การประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียนอาเซียน 2024 หรือ ACEF 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยจัดงานเสวนาในหัวข้อ Circular startups in ASEAN – how to pave the way for innovators to scale up and create impact? ซึ่งเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพจากอาเซียนได้เข้าร่วม เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ โดยมีประชาคมอาเซียนเป็นตัวกลาง
Spotlight มีโอกาสไปพูดคุยกับ 2 สตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่จากสิงคโปร์ โดย Kong Qi Herng จาก Moonbeam สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งในปี 2023 พัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะอาหาร หรือ Food waste ด้วยการนำกากกาแฟและกากโกโก้มาทำเป็นคุกกี้ ในชื่อ Sustainable Cookies หรือ คุกกี้แห่งความยั่งยืน
Kong เล่าให้เราฟังว่า กากกาแฟและกากโกโก้มักจะถูกโยนทิ้ง เพราะมนุษย์ไม่สามารถรับประทานได้ ดังนั้นเขาจึงคิดว่าจะสามารถเอาวัตถุดิบเหล่านั้นที่เหลือทิ้งสามารถเอาไปทำอะไรได้อีก และเมื่อค้นพบว่า กากกาแฟและกากโกโก้มีไฟเบอร์ที่สูงมาก เขาจึงนำมาทำเป็นคุกกี้ ขนมที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานได้ ซึ่งรสชาติก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคุกกี้ทั่วไปเลย
ส่วน Taha จาก Bugboom เป็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ราว 1 เดือน แต่ก่อนหน้านั้น เขาเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์มาได้ 6 เดือน ผลิตภัณฑ์ของเขาคือการนำเอาอาหารเหลือทิ้ง หรือ Food waste จากในครัวเรือน เช่น ไก่ และปลา มาผ่านกระบวนการให้กลายเป็นปุ๋ย ซึ่งเศษอาหารเหล่านี้มีสารอาหารเยอะมาก เหมาะกับการไปเป็นสารอาหารให้พืช Taha ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้เขากำลังพัฒนาเครื่องจักรสำหรับแปรรูปเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยได้อยู่
ความสนใจในเรื่องความยั่งยืนของทั้งสองคนบ่มเพาะจากการที่สิงคโปร์เป็นประเทศเกาะขนาดเล็ก ซึ่งทรัพยากรมีจำกัด เช่น พื้นดิน แต่สิงคโปร์ไม่เคยยอมแพ้ต่อข้อจำกัดเหล่านั้น อย่างมีการสร้างเกาะลอยน้ำเพื่อสร้างที่ทิ้งขยะขึ้นมา
รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแผนการ Green Plan 2030 เป็นการตั้งเป้าหมายล่วงหน้า 10 ปี เพื่อปฏิบัติตามการให้คำมั่นของสิงคโปร์ภายใต้ข้อตกลงปารีส และเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 ของสหประชาชาติ และทำให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศขนาดไหน แต่ทั้งสองคนก็มองว่า การเริ่มที่ตัวเราเองก็เป็นสิ่งสำคัญ
Taha ศึกษาอยู่คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง บอกกับเราว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นต่อไปก็จะไม่ได้อาศัยอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุข สิ่งที่เขาศึกษาอยู่นั้นคือการเรียนรู้การจัดการของเสียในด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะขยะอาหารเท่านั้น สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียงเล็กน้อย จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมาก เพราะปัจจุบันน้ำทะเลสูงขึ้น และถ้าหากสูงขึ้นมากกว่านี้มาก สิงคโปร์ก็จะจมอยู่ใต้ทะเลในวันหนึ่ง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาคาดการณ์ว่า สิงคโปร์จะเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1.15 เมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ และภายในปี 2150 ระดับน้ำทะเลอาจจะเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 2 เมตร