ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา แหล่งพลังงานที่มนุษย์นำมาใช้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ยุค ‘ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ที่มีการใช้ไม้ แรงงาน ลม น้ำ และสัตว์ เป็นแหล่งพลังงานในศตวรรษที่ 16 และ 17 สู่การหันมาใช้พลังงานจากถ่านหินในครั้งแรก จนการเข้ามาแทนที่ของน้ำมันและก๊าซ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ ‘ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น’ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยี และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ต้องค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจาก ‘ยุคเศรษฐกิจเกษตรกรรม’ สู่ ‘ยุคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม’ ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างลึกซิ้ง
พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติได้กลายมาเป็นแหล่งพลังงานหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่การใช้พลังงานฟอสซิลเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังมีการแย่งชิงทรัพยากรในระดับโลก รวมถึง การปะทะทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคที่มีแหล่งน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติมาก
คำว่า ‘วันสิ้นโลก’ ดูเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพราะโลกของกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต ด้านภูมิอากาศ จากการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ หรือ ‘Greenhouse Gas’ จำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งลอยขึ้นไปสะสมอยู่บนชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และกระทบต่อทั้งธรรมชาติและระบบนิเวศที่มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติในวงกว้าง ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ที่ใหญ่ที่สุดต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากคลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของมนุษย์ลดลง พายุที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนนับล้านต้องเผชิญกับความยากจนขั้นวิกฤต
จากปัญหาทั้งหมดนี้ ‘กัน โกแลน’ (Gan Golan) และ ‘แอนดรูว์ บอยด์’ (Andrew Boyd) นักกิจกรรมและศิลปินที่มีความสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ได้พัฒนา ‘นาฬิกาสภาพภูมิอากาศ (Climate Clock)’ เพื่อเป็นเครื่องมือในการนับถอยหลังแสดงให้เห็นว่า เวลาในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เร่งด่วนนี้เหลืออยู่ไม่มากนัก
นาฬิกาสภาพภูมิอากาศ เป็นการนับถอยหลังให้เห็นถึงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่ระดับที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ หากมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราเดิม นาฬิกานี้เป็นการเตือนให้โลกรับรู้ถึงความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในแง่ของการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
จุดประสงค์ของ Climate Clock ไม่ใช่เพียงแค่ ‘เตือน’ แต่เป็นการ ‘กระตุ้น’ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และเพื่อให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสที่กำหนดให้จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก
ภายในงาน ‘Sustainability Expo 2024’ มีการจัดการแสดงนาฬิกาสภาพภูมิอากาศ โดยแถบสีแดง แสดงถึง ‘Global Carbon Budget’ ที่จะสามารถปล่อยสู่ชันบรรยากาศได้โดยไม่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปัจจุบันเหลือประมาณ 305 จิกะต้น (Gt) หรือ 3.05 แสนล้านตัน
ในขณะที่แถบสีเขียว แสดงถึง ‘Lifeline’ หรือ เปอร์เซ็นต์การขยายตัวของการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด (Renewable Energy) ที่ต้องทำให้ได้ถึง 100% ก่อนจะถึงเดดไลน์ ปัจจุบันมีเพียงประมาณ 28%
ดังนั้น โลกกำลังเผชิญภารกิจอันยากลำบาก และมีความซับซ้อนมากขึ้น ในการเลี้ยงดูประชากรโลกที่คาดว่าจะสูงถึง 10,000 ล้านคนในปี 2050 โดยธนาคารโลก (World Bank) เตือนว่า “หากเราไม่ดำเนินการใดๆ ในทันที การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจผลักดันให้ผู้คนอีก 100 ล้านคน เข้าสู่ ‘ความยากจน’ ในปี 2030”
สิ่งที่สำคัญ คือ นาฬิกามีการนับถอยหลังลงเรื่อยๆ ในบางปีที่อุตสาหกรรมต่างๆ มีการเติบโต นาฬิกาอาจนับถอยหลังเร็วขึ้น และในปีที่มีการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม นาฬิกาอาจนับถอยหลังช้าลงได้ เวลาของนาฬิกานี้ไม่ได้มีไว้เพื่อวัดภัยคุกคาม แต่เพื่อใช้จุดประกายการรับรู้ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกคน ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ Climate Clock ไม่ใช่แค่นาฬิกาที่นับถอยหลังเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึง ‘ความรับผิดชอบ’ ที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกันในการปกป้องโลกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่มา Better Living Sustainability Expo 2024