หากคุณคิดว่าผ้าขาวม้าเป็นเครื่องแต่งกายที่โบราณ คร่ำครึ ไม่ทันสมัย คุณเข้าใจถูกแล้ว! เพราะผ้าคาดเอวสารพัดประโยชน์ผืนนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่ากว่าพันปี! แทรกซึมอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อคนไทยเริ่มแต่งกายตามสมัยนิยมมากขึ้น ผ้าขาวม้าจึงเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา
แต่หากลองมองลึกลงไปในเส้นใย ลอดลายตารางของผ้าขาวม้า จะพบว่าผ้าแต่ละผืน อุดมไปด้วยเรื่องราว วิถีชีวิต คุณค่าของแต่ละชุมชน รวมถึงวิถีการผลิตที่คิดถึงธรรมชาติ เป็นผู้มาก่อนกาลด้าน ‘ความยั่งยืน’ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายอยากที่จะหยิบผืนผ้าทรงคุณค่าผืนนี้ ขึ้นมาปรับโฉมเสียใหม่ เปลี่ยนคัทติ้ง เพิ่มฟีเจอร์ โดยยังคงรักษาแก่นของความเป็นวิสาหกิจชุมชนไว้ แล้วบอกเล่าสู่ชาวประชา ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มทั้งในไทย หรือระดับอินเตอร์อย่าง ‘Amazon Fashion Week Tokyo’
มีสมมติฐานมากมายที่พยายามจะบอกที่มาของผ้าขาวม้า โดยสมมติฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ สมมติฐานที่ว่า คำว่า ‘ขาวม้า’ น่าจะเพี้ยนมาจากภาษาอิหร่านว่า ‘คามาร์ บันด์ (Kamar Band)’ ซึ่งแปลว่า ผ้าคาดเอว โดย "กามาร์" หมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย "บันด์" แปลว่า พัน รัด หรือ คาด โดยเป็นภาษาอิหร่านที่ใช้ในสเปน เนื่องจาก
ในอดีต อิหร่านและสเปนมีการติดต่อกัน ทําให้เกิดการถ่ายเททางวัฒนธรรมและภาษาซึ่งกัน
และกัน โดยในสเปนใช้ผ้าคามาร์ที่ว่านี้ในการคลุมบ่าหรือคาดเอว
นอกจากนี้ กามาร์บันด์ ยังปรากฏอยู่ในภาษาอื่นๆ เช่นกัน อย่างเช่นคำว่า "กามาร์บัน" (Kamarban) ในภาษามลายู "กามาร์บันด์" (Kamar band) ในภาษาฮินดี หรือศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า "คัมเมอร์บันด์" (Commer band) หมายถึง ผ้ารัดเอว ในชุดทัคซิโด้ (Tuxedo) ซึ่งเป็นชุดสำหรับออกงานราตรี ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ผ้ารัดเอวในชุดทักซิโด้ และผ้าขาวม้าบ้านเรา จะเป็นญาติกัน
หลักฐานการใช้ผ้าขาวม้าของคนไทย ปรากฏตั้งแต่สมัย ‘โยนกเชียงแสน’ ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นอาณาจักรแรกของชาวไทย ในดินแดนสุวรรณภูมิสร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-12 มีการใช้งานหลากหลายตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งเป็นผ้าพาดบ่า คาดเอว คล้องคอ ตลบห้อยชายทั้งสองไว้ด้านหลัง ตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงปัจจุบัน ผ้าขาวม้ามี ‘ฟังก์ชัน’ มากมาย อาทิ ใช้นุ่งอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย เช็ดตัว ปูรองนั่ง โพกศีรษะกันแดด นุ่งแทนกางแกงหรือผ้าถุง ห่อของแทนย่าม ฯลฯ
.
เมื่อเราพูดถึงผ้าขาวม้า เรามักนึกถึงผ้าลายตาราง หลากหลายสีสัน แต่รู้หรือไม่ว่า ผ้าขาวม้าที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในแต่ละชุมชน มีสีสัน ลวดลาย รวมถึงกรรมวิธีในการผลิตบางขั้นตอนที่แตกต่างกัน อย่างเช่น
ผ้าขาวม้าในจังหวัดนครสวรรค์ สีของผ้าขาวม้าจะเป็นสีที่ตัดกัน ทอเป็นลายตาสก็อต นิยมใช้เส้นด้ายฝ้ายในการทอผ้าขาวม้า
ผ้าขาวม้าจังหวัดชัยนาท เป็นผ้าทอด้วยไหมประดิษฐ์ ด้ายโทเร และฝ้าย ทอเป็น ลายสก็อต ลายทาง หรือลายสี่เหลี่ยม และผ้าขาวม้าของตําบลเนินขาม อําเภอหันคา มีชื่อ เรียกว่า “ผ้าขาวม้า 5 สี” คือมีสีแดง เหลือง ส้ม เขียว ขาว
ผ้าขาวม้าเกาะยอ จังหวัดสงขลา เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าขาวม้าเกาะยอคือการทอ อย่างประณีต ส่วนลวดลายนั้นไม่แตกต่างจากภาคอื่นเท่าใดนัก สีของผ้าขาวม้าเกาะยอมีสีสันสดใส มีลวดลายที่ตัดกัน ผ้าขาวม้าจะใช้ฝ้ายที่มีคุณภาพดี
ตัวอย่างลวดลายของกลุ่มชุมชนทอผ้าต่างๆ ในประเทศไทย
ประวัติการก่อตั้งหมู่บ้านกุดครองมีความเกี่ยวพันกับการทอผ้า นั่นคือเมื่อครั้งมีการก่อสร้าง
พระธาตุพนม ชาวบ้านนัดหมายกันว่าจะไปร่วมก่อสร้าง ถ้าเป็นชายให้ผูกผ้าขาวม้าไว้ที่เอว
ผู้หญิงให้ห่มสไบ แต่เมื่อไปถึงองค์พระธาตุได้สร้างเสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้าน
กุดครอง และทุกครัวเรือนได้สืบทอดการทอผ้าขาวม้าจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน จุดเด่นของ
ผ้าขาวม้าบ้านกุดครอง คือ เป็นผ้าฝ้ายลวดลายสวยงามและสีไม่ตก โดยนําด้ายร้อยเปอร์เซ็นต์
นํ้าหนึ่งมาทอโดยใช้วิธีการทอแบบดั้งเดิม
กลุ่มทอผ้าก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2544 เพื่อผลิตไว้ใช้ในครัวเรือนและใช้ในงานประเพณีต่อมาปรับ
เป็นการทอเพื่อจําหน่ายในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง จุดเด่นของผ้าขาวม้าบ้านหนองกุงใหญ่ คือ
นิยมทอเป็นลายเล็กๆเนื้อแน่นสม่ำเสมอ และได้พัฒนาดิ้นเงินดิ้นทองสอดใส่ในชายผ้า ปัจจุบัน
ผลิตภัณฑ์ได้รับการคัดสรรให้เป็นสินค้าโอท็อประดับ 4 ดาว
เดิมคนในชุมชนนิยมปลูกฝ้ายเพื่อนํามาทอใช้ในชีวิตประจําวัน ต่อมาสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับการสืบทอดองค์ความรู้เรื่องการทอผ้า ได้รวมกลุ่มกันส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านปลูกฝ้ายเพื่อนําฝ้ายมาแปรรูปเป็นเส้น ย้อมสีธรรมชาติ และทอด้วยเครื่องทอที่สืบทอดกันมา จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์“ผ้าผืน” ได้รับการคัดสรรให้เป็นสุดยอดหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว
ผ้าขาวม้าไหมลายปลาโดเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษสืบทอดสู่ลูกหลาน โดยนําริ้วลายบนตัวปลาชะโดซึ่งเป็นปลานํ้าจืดในภาคอีสานมาคิดค้นเป็นลวดลายการทอ ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าใช้ไหมแท้เลี้ยงเอง ใช้สีธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ และมีลายปลาโดเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมไทยบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน
ผ้าฝ้ายทอมือบ้านห้วยทรายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยแม่ทอน นันต๊ะเสน ได้สืบทอดองค์ความรู้จากคุณยายทวดและนํามาเผยแพร่แก่ชาวบ้าน จากกลุ่มเล็กๆ ที่ทอผ้าใช้ในครัวเรือนขยายเป็นการผลิตเพื่อขาย จนได้รับเลือกเป็นโอท็อประดับ 4 ดาว ผลงานเด่นของชุมชน คือ ผ้าต่องบ้านห้วยทรายมีลักษณะเฉพาะคือใช้เส้นด้ายขนาดกลางและมัดลวดลายให้เป็นลายสายฝน สลับกับสีพื้น ทอด้วยกี่โบราณจนเกิดลายผ้าขาวม้าที่สวยงาม
ผ้าขาวม้าลําชีเป็นผ้าอเนกประสงค์ ส่วนใหญ่ทอจากฝ้าย หรือด้ายโทเร หรือไหม บางท้องถิ่น อาจใช้ด้ายดิบหรือป่าน ทอสลับสีเป็นลายตาหมากรุกหรือลายทาง เป็นลายที่ใช้มาทุกยุคในหมู่บ้านทางภาคอีสาน ปัจจุบันนํามาทําเป็นผ้าขาวม้า เสื้อ กางเกง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ฯลฯ
กลุ่มทอผ้าไหมบ้านปราสาทผลิตผ้าไหมทอมือลายโบราณที่สืบทอดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษซึ่งแต่เดิมใช้ผ้าในงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช ฯลฯ และยังใช้ในชีวิตประจําวันด้วย ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าไหมบ้านปราสาททอผ้าโดยใช้กี่ทอมือ เลี้ยงไหมเอง ผลิตเป็นผ้าไหมทอมือที่มีสีสันสวยงามทันสมัย
นอกจากนี้ ยังมีผ้าขาวม้าของที่มีสีสัน และลวดลายสวยสดงดงามอีกมากมาย สามารถเข้าไปชมได้ที่นี่
ภาพจาก Shunichi Oda, wwdjapan.com
แม้จะเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่ถักทอไปด้วยคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น แต่ผ้าขาวม้าไทย ประสบปัญหาในการ ‘ขยายฐานลูกค้า’ มาเป็นเวลานานแล้ว แต่หนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการผ้าขาวม้าไทย เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เมื่อเสื้อผ้าที่สร้างจากผ้าขาวม้า ได้ไปโลดแล่นบนรันเวย์ระดับโลก ‘Amazon Fashion Week Tokyo 2017’ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2017
ซึ่งเป็นผลงานของ ลินดา เจริญลาภ ดีไซเนอร์และสไตลิสต์ระดับโลก ทำงานร่วมกับชาวบ้านในหลายจังหวัด อาทิ กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก จังหวัดสกลนคร , กลุ่มแม่บ้านตำบลบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ,ผ้าทอบ้านเขาเต่าหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และวิสาหกิจชุมชนคอตตอนดีไซน์ จังหวัดปทุมธานี นำมาแปรเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าคอลเลกชั่นพิเศษ LALALOVE X PAKAOMA ซึ่งเป็นการนำเรื่องราวของผ้าขาวม้า มาบอกเล่าผ่านเส้นใยและคัทติ้งสมัยใหม่
นับเป็นคอลเลกชั่นหนึ่งในโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” โดย ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการที่นำ ‘Young Designer’ รุ่นใหม่ โคจรมาพบกับกลุ่มทอผ้าจากชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างสันผลิตภัณฑ์ที่นำผ้าขาวม้าจากหลากหลายท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ถูกใจคนรุ่นใหม่ เพื่อให้คนหลากหลายกลุ่ม เข้าถึงผ้าขาวม้าไทยได้อย่างขึ้น
ในงาน Sustainability Expo 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2022 หนึ่งในไฮไลต์สำคัญก็คืองาน ‘ผ้าขาวม้าทอใจ 2565’ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 17 ชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับ 16 มหาวิทยาลัยในโครงการ Eisa (Education Institute Support Activity) และ 3 สโมสรฟุตบอล ภายใต้โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ได้นำผ้าขาวม้าที่ยกระดับปรับโฉมเป็นรูปแบบใหม่ๆ มาอวดโฉมบนเวที ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบของชุดเดรส ชุดกีฬา Casual Wear ฯลฯ โดยเป็นการเดินแบบพร้อมกัน ทั้งนางแบบนางแบบที่เป็นคนจริงๆ และนายแบบนางแบบที่เป็น Avatar บน Metaverse
โครงการดังกล่าว สร้างรายได้ สร้างองค์ความรู้ สร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับชุมชน สานต่องานผลิตและแปรรูปผ้าขาวม้าสู่คนรุ่นใหม่ แถมยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนทอผ้าในโครงการ รวมแล้วกว่า 185 ล้านบาท
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ได้ถ่ายทอดไอเดียสำคัญในการผลักดันให้ผ้าขาวม้าไทย ออกสู่สายตาชาวไทยและชาวโลกได้อย่างยั่งยืนว่า เช่นเดียวกับการที่สมาร์ทโฟน สมาร์ทได้เพราะมีการพัฒนาแอพลิเคชัน และมีผู้ใช้งาน คนรุ่นก่อนได้สร้างต้นทุนซึ่งรุ่มด้วยคุณค่า มูลค่า และอัตลักษณ์ เพียงแต่ นิสิตนักศึกษา รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาประยุกต์แล้วก็เพิ่มเติมพัฒนาต่อยอด ทั้งผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่ายบนโลกออนไลน์ ก็จะสามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้นได้
“ในวันนี้ที่เราเน้นให้ความสำคัญคือน้องๆเยาวชน ที่ได้กลับมาที่ในบ้านเกิดของตัวเอง กลับมาในท้องถิ่นที่น้องๆเติบโตขึ้นมา แล้วก็ได้นำอัตลักษณ์ของในชุมชนมาบอกเล่า บอกกล่าวให้สะท้อนถึงความภาคภูมิใจ ให้คนทั่วทั้งประเทศไทยหรือแม้กระทั่งทั่วโลกได้มีโอกาสรับรู้” นายฐาปน กล่าว
ในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นผ้าขาวม้าไทย เข้าไปร่วม Collabs กับแบรนด์ดังๆ มากขึ้น พร้อมทั้งอาจได้เห็นการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยขยายฐานให้วันหนึ่ง ทุกคนจะต้องมี 'ผ้าขาวม้า' ติดบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม
ที่มา : ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, Creative Thailand