ความยั่งยืน

เปิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 5 บริษัทใหญ่ ใครใช้ทรัพยากร-ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุด?

9 ต.ค. 66
เปิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 5 บริษัทใหญ่ ใครใช้ทรัพยากร-ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุด?

ถึงแม้การบริโภคของคนทั่วไปจะสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์จำนวนมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากที่สุดคือการผลิตสินค้าและบริการของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยการใช้ทรัพยากร และการปล่อยขยะและมลพิษจำนวนมากที่เกิดระหว่างขั้นตอนการผลิตหรือการขนส่ง จนทำให้หากตัวธุรกิจไม่ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตของตัวเองให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โลกของเราอาจไม่มีหวังที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ขึ้นเกิน 2 องศาอย่างที่หวังได้เลย

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่ผู้บริโภคตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมและมองหาธุรกิจที่ดีต่อโลกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจอาจไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันนัก เพราะหลายๆ บริษัทในโลกก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว พยายามปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้ผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยลงบ้างแล้วเพื่อจูงใจผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

ซึ่งก็ทำได้ด้วยทั้งการหันไปใช้พลังงานสะอาด ใช้เทคโนโลยีช่วยในการบริหารการใช้พลังงาน ผลิตสินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลได้ ออกแบบผลิตสินค้าให้เหมาะกับการรียูส รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลการใช้ทรัพยากรและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตัวเองให้โปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยก็ได้เริ่มดำเนินการกันบ้างแล้วบนแพลตฟอร์มของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทไทย ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่าแต่ละบริษัทใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรมของไทยใช้ทรัพยากรหรือปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่าไหร่กันบ้าง ในปัจจุบันอุตสาหกรรมไหนจะใช้พลังงานหรือผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นต์มากที่สุด และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 

 

ธุรกิจก่อสร้างไทยใช้ทรัพยากร-ปล่อยคาร์บอนสูงสุด

ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ไทยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนไทยปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจของตัวเองให้มีแบบแผนที่ดีตามหลักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG กันมากขึ้น และได้สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ร่วมเปิดข้อมูลการใช้ทรัพยากรและการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนเว็บไซต์และแพลตฟอร์มของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนติดตามผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติใช้ตัดสินใจเพื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

448256

จากข้อมูลในแพลตฟอร์มดังกล่าว พบว่า ธุรกิจที่ใช้ทั้งทรัพยากรและปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดดเด่นขึ้นมาเหนือบริษัทอื่นๆ คือ บริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปี 2022 ใช้ไฟฟ้าไปถึง 51,834,812,550 kWh สร้างของเสียถึง 1,716,461,000 กิโลกรัม และปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 39,472,546 tCO2e ขณะที่อัตรารีไซเคิลและรียูสของเสียยังต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในลิสต์ ซึ่งอยู่ที่เพียง 0.02%

ทั้งนี้ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทยมีการใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำ และปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นอาจเป็นเพราะการผลิตซีเมนต์เป็นธุรกิจที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติสูงมากคือ หินปูนและหินดินดาน และมีขั้นตอนหลายขั้นตอนที่ต้องใช้พลังงานสูงทั้งพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้าในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองหิน การเผาหิน บดหิน เผาปูน บดปูน และการนำสินค้าเข้าบรรจุภัณฑ์ลำเลียงส่งไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็ต้องใช้เชื้่อเพลิงมาก เพราะผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเป็นของหนัก 

ขณะที่ บริษัทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดในลิสต์ เพราะถึง AIS จะใช้ไฟฟ้ามากในการดูแลระบบ บริษัทกลับใช้น้ำน้อย และผลิตของเสียต่ำ เพราะโมเดลธุรกิจของ AIS เป็นการให้บริการด้านการสื่อสาร ไม่ใช่การผลิตสินค้า ทำให้ไม่มีการต้องใช้ทรัพยากรอื่นๆ ผลิตสินค้าออกมาเป็นชิ้นๆ ทำให้วัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการทำธุรกิจน้อยและจัดการได้ง่ายขึ้น สะท้อนจากอัตราการรียูสและรีไซเคิลที่สูงที่สุดในกลุ่มเพื่อนที่ 85.66%

 

อุตฯ พลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอันดับ 1 

ถัดจากธุรกิจในประเทศไทย คราวนี้มาดูในระดับโลกกันบ้างว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมใดในโลกจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

istock-172730059

จากข้อมูลของ IEA หรือ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยปล่อยคาร์บอนไปถึง 9 Gt คิดเป็น 25% ของปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาทั้งปี และ อุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เชื้อเพลิงและพลังงาน 2. การเกษตร 3. แฟชั่น 4. อาหาร 5. การขนส่ง 

‘อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและพลังงาน’ เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกเพราะการขุดเจาะ หรือนำเชื้อเพลิงต่างๆ มาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตสินค้านั้นเป็นกระบวนการที่ผลิตคาร์บอนสูง นอกจากนี้ยังเป็นตัวการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในขั้นตอนการบริโภคเพราะในปัจจุบันมนุษย์ยังต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและฟอสซิลเป็นหลักในการใช้ชีวิต ตั้งแต่ไฟฟ้าที่ใช้ ไปจนถึงเชื้อเพลิงในรถยนต์การขนส่งต่างๆ ซึ่งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้ใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้นแล้ว 

โดยจากข้อมูลของ IEA ในปี 2022 มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนหน้า โดยปล่อยไปทั้งหมด 41.3 Gt CO2-eq และ 88% มาจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ และการใช้เชื้อเพลงในอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆ สะท้อนว่ามนุษย์ยังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสูง ถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตลดลงทุกปี

ถัดจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและพลังงาน อุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกรองลงมาคือการเกษตร แฟชั่น และอาหาร ที่ต่างมีการใช้ทรัพยากร พลังงาน ในการดำเนินธุรกิจในระดับสูง รวมไปถึงปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์จำนวนมากในขั้นตอนการผลิตสินค้า

ในปี 2016 ‘การทำการเกษตรและการใช้ที่ดิน’ ทั่วโลกสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 18.4% ของทั่วโลก ซึ่งมาทั้งจากการเลี้ยงสัตว์และการปลูกข้าวที่ปล่อยก๊าซมีเทนสูง การตัดไม้ทำลายป่าเคลียร์พื้นที่ รวมไปถึงการเผาผลผลิตและของเสียต่างๆ 

ทางด้าน ‘อุตสาหกรรมแฟชั่น’ จากข้อมูลของ Heatable ในปี 2019 อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 10% ของทั่วโลก จากทั้งการผลิตผ้า และการตัดเย็บขนส่งเสื้อผ้าไปที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากวิธีการผลิตเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ที่เน้นการออกเสื้อผ้าใหม่ถี่ๆ ทำให้คนซื้อเสื้อผ้ามาก แต่ใช้ซ้ำน้อย ทิ้งเร็วขึ้นจนกลายเป็นขยะ 

ส่วนทางด้าน ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนฟุตพริ้นท์นนอกจากจะมาจากขั้นตอนการทำอาหาร การใช้วัตถุดิบ และปริมาณอาหารเหลือที่มีผู้ประมาณการณ์ว่าปริมาณมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตในแต่ละปีแล้ว ยังมาจากการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติก ที่เป็นหนึ่งในขยะที่เป็นปัญหา และสร้างมลพิษให้กับโลกมากที่สุด ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ

 

 

ที่มา: Our World in Data, IEA

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT