ความยั่งยืน

เปิด 5 อันดับเมืองใหญ่ที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก เขาทำอย่างไร ทำไมกทม. ทำไม่ได้?

14 เม.ย. 67
เปิด 5 อันดับเมืองใหญ่ที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก เขาทำอย่างไร ทำไมกทม. ทำไม่ได้?

ในสภาพอากาศร้อนจัดแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยชาวเมืองคลายร้อนและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมลพิษได้ก็คือ ‘พื้นที่สีเขียว’ ซึ่งในปัจจุบันเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถใช้ประเมินคุณภาพเมืองได้ว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในเมือง ในการลดอุณหภูมิที่จะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของประชากรได้หรือไม่

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่าปัจจุบัน ‘กรุงเทพฯ’ เมืองหลวงของไทย มีพื้นที่สีเขียวให้ชาวเมืองเท่าไหร่บ้าง และเมืองใหญ่หรือมหานครใดในโลกที่สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับผู้อยู่อาศัยได้มากที่สุด 

กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 38.26 ตร.ม./ คน แต่น้อยกว่านั้นหากรวมประชากรแฝง

จากข้อมูลของ สำนักสิ่งแวดล้อม และ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (กรุงเทพมหานคร) ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 213,801,892.16 ตารางเมตร คิดเป็น 13.6% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 38.26 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลประชากรที่กรุงเทพมหานครใช้คำนวณอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรมีเพียง 5,588,222 คน ซึ่งน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะกรุงเทพมหานครมีประชากรแฝงเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมืองมากมาย และอาจมีจำนวนรวมถึงประมาณ 10 ล้านคน ทำให้พื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรในกรุงเทพฯ อาจน้อยกว่าที่กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลประมาณครึ่งหนึ่ง

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครฯ แบ่งพื้นที่สวนเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สวนเฉพาะทาง, สวนชุมชน, สวนถนน, สวนระดับเมือง, สวนระดับย่าน, สวนหมู่บ้าน และสวนหย่อมขนาดเล็ก รวมทั้งหมด 9,132 สวน แบ่งเป็น

  1. สวนขนาดเล็ก 4,875 แห่ง
  2. สวนถนน 2,900 แห่ง
  3. สวนหมู่บ้าน 1,135 แห่ง
  4. สวนชุมชน จำนวน 104 สวน
  5. สวนเฉพาะทาง 26 แห่ง
  6. ส่วนระดับย่าน 20 แห่ง
  7. สวนระดับเมือง 2 แห่ง

อย่างไรก็ตาม แม้จากตัวเลขกรุงเทพฯ เหมือนจะเป็นพื้นที่ที่มีสวนมาก จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริง สวนสาธารณะ หรือสวนที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน นั้นมีไม่มีกี่ประเภทเท่านั้น เช่น สวนชุมชน, สวนหมู่บ้าน, สวนระดับย่าน และสวนระดับเขต ทำให้แท้จริงแล้วชาวกรุงเทพอาจมีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าที่ทางกรุงเทพฯ ระบุ

จากรายงานของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสวนที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็น ‘สวนสาธารณะ’ อย่างเป็นทางการทั้งหมด 112 แห่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนสวนทั้งหมด แบ่งเป็นสวนสาธารณะหลัก 40 แห่ง และสวนสาธารณะรอง 72 แห่ง โดย สวนสาธารณะที่มีพื้นที่มากที่สุดในกรุงเทพมหานครคือ ‘สวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน’ ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 644 ไร่

green-city

'ออสโล' เมืองสีเขียวอันดับ 1 'สิงคโปร์-เฉิงตู' ติด 5 อันดับแรก 

ถัดจากกรุงเทพมหานคร เรามาดูกันบ้างว่า ในระดับโลกมีเมืองใดบ้างที่ประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สีเขียว และเมืองเหล่านั้นทำอย่างไรจึงสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวจำนวนมากให้กับประชากรในตัวเมืองได้ ทั้งที่เป็นเมืองหลวงหรือเมืองเศรษฐกิจใหญ่ในรูปแบบเดียวกับกรุงเทพมหานคร

จากข้อมูลของ City Monitor ปัจจุบัน เมืองใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลกก็คือ เมือง ‘ออสโล’ จากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวถึง 68% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด โดยเมืองใหญ่อื่นๆ ที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดติด 5 อันดับแรกของโลกมีดังนี้

  1. ออสโล,นอร์เวย์ มีพื้นที่สีเขียว 68% ของพื้นที่ทั้งหมด
  2. เวียนนา, ออสเตรีย มีพื้นที่สีเขียว 50% ของพื้นที่ทั้งหมด
  3. สิงคโปร์, สิงคโปร์ มีพื้นที่สีเขียว 46.5% ของพื้นที่ทั้งหมด
  4. ซิดนีย์, ออสเตรเลีย มีพื้นที่สีเขียว 46% ของพื้นที่ทั้งหมด
  5. เฉิงตู, จีน มีพื้นที่สีเขียว 41% ของพื้นที่ทั้งหมด

เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง หน่วยงานที่ดูแลเมืองเหล่านี้ต่างได้ออกมาตรการมามากมาย เพื่อรับประกันว่าทุกคนในเมืองจะมีสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวอย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด โดยมาตรการเด่นๆ ที่แต่ละเมืองได้ดำเนินการไว้มีดังนี้

  • ออสโล: มีการสร้างสวนภายในเมืองให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะเดิน 10 นาที การแบนไม่ให้มีการใช้ยานยนต์ส่วนบุคคลทุกชนิดในเขตกลางเมือง ทำให้เมืองสามารถนำพื้นที่จอดรถในเขตนั้นมาเปลี่ยนทำเป็นสวน ทางคนเดิน หรือว่าทางขี่รถจักรยานได้
  • เวียนนา: เวียนนามีสวนสาธารณะระดับเขตมากถึง 990 สวน มีความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-และบุคคลในการปลูกต้นไม้ภายในเมือง โดยรัฐฯ ปลูกต้นไม้ไว้ริมถนนในเวียนนาถึง 95,000 ต้น ประชาชนปลูกต้นไม้ถึง 190,000 ต้นในพื้นที่ส่วนบุคคล และเอกชนร่วมปลูกอีก 1,900 ในพื้นที่การค้า
  • สิงคโปร์: มีมาตรการในการขยายพื้นที่สีเขียวและสร้างสวนใจกลางเมือง เช่น โครงการ Garden by the Bay การปลูกต้นไม้เขตร้อนชื้นข้างถนนที่มีร่มเงาใหญ่เพื่อช่วยลดความร้อนบนพื้นผิวถนน การขยายเครือข่ายขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมเพื่อให้ประชาชนลดการใช้ยานยนต์ส่วนตัว การสร้างพื้นที่คนเดิน และทางสำหรับรถจักรยาน
  • ซิดนีย์: มีมาตรการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อลดความร้อนบนพื้นผิวถนน และเพิ่มปริมาณสวนและพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง โดยตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2023 ซิดนีย์มีปริมาณต้นไม้ใหญ่เพิ่ม 24% และปริมาณสวนและพื้นที่สีเขียวเพิ่ม 13% 
  • เฉิงตู: สร้างเครือข่ายสวนสาธารณะและเส้นทางสีเขียวขนาดใหญ่ และเปลี่ยนสภาพเฉิงตูให้กลายเป็น ‘เมืองในสวน’ ไม่ใช่สวนในเมือง เริ่มต้นจากโครงการสวนป่าชุมชนเมืองเฉิงตู Longquan ที่ทางเมืองตั้งใจจะขยายให้มีขนาดถึง 1,200 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างโครงข่ายทางเดินและทางจักรยานสีเขียวทั่วเมืองที่ชื่อว่า Tianfu Greenway ซึ่งจะมีความยาวถึง 17,000 กิโลเมตร

 

กทม. ไม่มีอำนาจและงบ ต้องขอความร่วมมือเจ้าของที่ดิน

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้แต่ละเมืองประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่สีเขียวคือความเด็ดขาดและอำนาจของหน่วยงานดูแลในการควบคุมการใช้พื้นที่ในเมือง และความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินและพื้นที่ในเมืองที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองโดยไม่เห็นแก่ผลกำไรที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้พื้นที่นั้นในทางอื่น

ทั้งนี้ ความร่วมมือนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพมหานคร เพราะปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลกรุงเทพฯ ไม่ได้มีงบประมาณ อำนาจ หรืออิทธิพลในการจัดสรรการใช้ที่ดินในเมือง เหนือเจ้าของที่ดินในพื้นที่ และผู้ที่จะได้ผลประโยชน์จากการที่ประชาชนในยานพาหนะส่วนตัวในเมือง ที่อาจมองว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นมีค่าเหนือผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา กทม. มีปัญหามาตลอดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเพราะหน่วยงานไม่มีงบประมาณในการเวนคืนที่ดินซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงลิ่วได้ ทำให้เมื่อต้องการเปลี่ยนที่ดินเป็นพื้นที่สีเขียวต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรมธนารักษ์, กรมทางหลวง, การเคหะแห่งชาติ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการต้องขอความร่วมมือนี้ สะท้อนในแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีการดำเนินการทั้งหมดใน 5 แนวทาง แบ่งเป็น 

  • การกำหนดเป้าหมายการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของประชาชนภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที 
  • การหาพื้นที่พัฒนา pocket park ขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่โดยศึกษาพื้นที่ของทั้ง ราชการ และเอกชน อาทิ สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอพื้นที่ศักยภาพน่าพัฒนา
  • การอาศัยกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ กทม.พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี
  • การเปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการ อาทิ โรงเรียน สำนักงานต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา
  • การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ การหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการ เช่น ดูแลต้นไม้และทำความสะอาดพื้นที่โดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ เป็นต้น

จากรายละเอียดจะเห็นได้ว่า กลไกในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกทม. นั้น เกิดจากการขอความร่วมมือและสร้างแรงจูงใจทางภาษีเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการปกครองภายในพื้นที่ ทำให้การนำพื้นที่ที่มีมาสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวทำได้อย่างยากลำบาก หรือไม่รวดเร็วเท่าที่ควร

 

อ้างอิง: City MonitorBangkok Metropolitan Administration (BMA)

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT