ความยั่งยืน กับการท่องเที่ยว
ในยุคที่ความยั่งยืนกำลังนิยามทุกด้านของการใช้ชีวิตไปในรูปแบบใหม่ การท่องเที่ยวยุคใหม่ก็ถึงจุดที่จะต้องใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (eco-tourism) นั้นมีโอกาสเติบโตถึงกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 10 ปีข้างหน้า (Kantar, 2024) ซึ่งเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น คนกลุ่มนี้มองว่าการเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญเพราะต้องการเห็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (69%) และการสนับสนุนวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น (65%) (Expedia Group, 2022) อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเองก็มีความสนใจเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยพบว่ามีถึง 86% ของชาวอินโดนีเซีย 80% ของชาวเวียดนาม และ 75% ของชาวจีน ที่พร้อมและอยากที่จะเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น (Booking.com, 2023)
การที่ผู้บริโภคเข้าใจและหันมาใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ได้เกิดเป็นแรงกระตุ้นให้ธุรกิจต่าง ๆ ในไทยริเริ่มสร้างทางเลือกใหม่ ๆ มากมายเพื่อรองรับความต้องการนี้ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลเรียกรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Muvmi หรือ ร้านอาหารหรูมิชลินสตาร์ในภูเก็ตที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากชาวประมงอย่าง Pru ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเกาะพะงัน ที่กำลังกลายเป็นจุดเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสุขภาพเวลเนสที่นิยมแห่งใหม่ ซึ่งรวบรวมทั้งฟาร์มของชุมชน กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเทศกาลสนุกสนานต่าง ๆ ที่เชิญชวนให้ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมารวมตัวกันชื่นชมและสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีของเกาะพะงัน (Phanganist, 2022; Thairath, 2023)
เห็นได้ชัดว่าคนนิยมที่จะเดินทางแบบยั่งยืนมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อที่จะเข้าใจผู้บริโภคเหล่านี้มากขึ้นเราจะพาไปเจาะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้
หากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) คือการรักษาทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regenerative Tourism) นั้นเป็นแนวคิดอีกขั้นที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบ แต่ยังครอบคลุมถึงการช่วยฟื้นฟูปรับปรุงการท่องเที่ยวในทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีของชุมชน เพื่อสร้างส่งผลกระทบเชิงบวกต่อแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย (Mize, 2023; EarthCheck 2023)
ตัวอย่างเช่น การที่ระบบการเดินทางโดยรถไฟของประเทศเยอรมนี (German Rail) ได้นิยามการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้คนกลับมาเดินทางภายในประเทศแทนการบินไปเที่ยวประเทศอื่น ๆ ผ่านการพลิกมุมมองใหม่ให้คนมองเห็นว่าสถานที่เที่ยวสวยงามในรูปที่ต่างประเทศมี แท้จริงแล้วในเยอรมนีเองก็มีที่ที่ดีไม่แพ้กันในแคมเปญ “Rediscover Germany” ที่ โอกิลวี่ แฟรงเฟิร์ต ได้ร่วมเสริมสร้างการเดินทางระยะใกล้และโดยการขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนกว่า (WARC, 2022)
ตอนนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงฟื้นสร้าง แต่จะมีแนวทางใดที่สามารถริเริ่มได้บ้าง กุญแจหลักทั้ง 3 นี้จึงเป็นคำตอบ:
แน่นอนว่าคนในชุมชนเจ้าบ้านเป็นหัวใจที่สำคัญของทุกแหล่งท่องเที่ยว แต่มากไปกว่านั้นการท่องเที่ยวฟื้นสร้างนั้นเปรียบชุมชนท้องถิ่นเสมือน ‘ศูนย์กลาง’ สำหรับทุกมิติในการฟื้นสร้าง และที่สำคัญไม่ได้หยุดที่การรักษาและอนุรักษ์เท่านั้น เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดชุมชนและแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกัน ความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้จริง
หนึ่งในตัวอย่างของการส่งเสริมชุมชนผ่านประสบการณ์ที่ดีคือ Six Senses Laamu รีสอร์ทที่พักยั่งยืนบนเกาะมัลดีฟส์ ที่เชิญชวนให้แขกได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวัฒนธรรมและระบบนิเวศท้องถิ่น โดยมีโครงการน่าสนใจภายในรีสอร์ทมากมาย เช่น Sea Hub of Environmental Learning (SHELL) ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับรางวัล และ Maldives Underwater Initiative (MUI) ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลผ่านการวิจัย การให้ความรู้แก่ผู้ที่มาพัก และ การร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น รวมกันแล้วทั้งสองโครงการประสบความสำเร็จในการช่วยอนุรักษ์เต่าทะเลในละแวกมากกว่า 670 ชีวิต และ รักษาแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่กว่า 10 ล้านตารางเมตร ด้วยการที่ Six Senses เป็นรีสอร์ทห้าดาวที่ทั้งสร้างความสุขสบายให้ผู้เดินทางและความเป็นอยู่ที่ดีแก่สิ่งแวดล้อมและชุมชน จึงเป็นประสบการณ์ที่เป็นที่นิยมและเหมาะกับนักท่องเที่ยวผู้หลีกหนีสู่ประสบการณ์เชิงลึก (Immersive Escapists) มากที่สุด
จากที่กล่าวไปว่าการท่องเที่ยวฟื้นสร้างนั้นเน้นการจัดการแบบองค์รวม ฉะนั้นแนวคิดนี้จึงอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องทำให้ทุกคนสามารถมาร่วมกันสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้จริง
หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ BaneGaarden หมู่บ้านรักษ์โลกที่เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและความยั่งยืนในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจากเดิมทีพื้นที่เป็นเพียงลานเก็บรถไฟร้าง จนได้รับการฟื้นสร้างใหม่ผ่านการร่วมสร้างระหว่างบริษัทรถไฟ DSB สมาคมสถาปัตยกรรม Realdania รวมถึงธุรกิจและคนในท้องที่ จนปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งที่เที่ยวที่ยั่งยืนและโด่งดัง เป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถมาร่วมกันทำสวน ปลูกผัก ทานอาหาร และเรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนไปด้วยกันอย่างสนุกสนาน และนอกจากนี้ BaneGaarden ยังมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น ตลาดนัดวินเทจ โชว์ตลก และดนตรีที่ทำให้ที่นี้มีชีวิตชีวาไม่ซ้ำ จึงทำให้เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวผู้ชื่นชมศิลปะวัฒนธรรม (Cultural Aesthetes) ทุกคนต้องอยากมาสัมผัสด้วยตัวเอง
ความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวฟื้นสร้างให้น่าสนใจไม่จำเจและเป็นสิ่งที่จะทำให้สามารถสร้างความแปลกใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ พร้อมช่วยในการสร้างโอกาสภายใต้วิกฤต ซึ่งจะทำให้เกิดการฟื้นสร้างที่ส่งผลดีอย่างยืนยาวและไร้ขอบเขตมากกว่า
ในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ Yggdrasil ค่ายเกมชื่อดังแห่งยุค และ บริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ ‘Home Sweet Home 2’ เกมสยองขวัญรูปแบบใหม่ผ่านการท่องเที่ยวเสมือนจริง (virtual tourism) ที่เป็นประตูสู่การนำเสนอวัฒนธรรมเชิงลึก (Deep Culture) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติอันถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นวัด พิธีกรรมโบราณ ความเชื่อ และเครื่องรางของขลัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่นหลังวิกฤตโควิด-19 และยังเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมเชิงลึกของไทยในขณะเดียวกัน โดยวัฒนธรรมดังกล่าวดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายล้านคนทุกปี สร้างรายได้ประจำปีเกินกว่า 54 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยเกมสยองขวัญสุดตื่นเต้นนี้ช่วยให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแนวผจญภัย (Thrill Seekers) (WARC, 2023)
ดังนั้น หากร่วมมือกันเราสามารถนิยามใหม่ให้กับความหมายของ ‘การท่องเที่ยว’ ได้ ซึ่งเป็นไปได้มากกว่าแค่การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวและค้นหาประสบการณ์ใหม่ แต่เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวก และการมีส่วนร่วมฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยว ส่งเสริมชุมชน ปกป้องธรรมชาติ และเติมเต็มประสบการณ์อันล้ำค่าให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อให้ทุกการท่องเที่ยวในวันนี้และวันหน้าของทุกคน ยังคงความสวยงาม สร้างคุณค่าทางใจและโอกาสใหม่ ให้กับโลกใบเดียวของพวกเรา
SOURCES AND REFERENCES
Introduction
Personas
Regenerative Tourism
3C’s of Regenerative Tourism
Sustainability & Social Impact