ความยั่งยืน

Carbonwize ผนึกกำลัง SET ปั้นแพลตฟอร์มจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์

11 มิ.ย. 67
Carbonwize ผนึกกำลัง SET ปั้นแพลตฟอร์มจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์

‘Carbonwize’ (คาร์บอนไวซ์) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พัฒนา ‘SET Carbon’ แพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกกลาง ที่ทำให้การรายงานก๊าซเรือนกระจกแบบเดิม สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ถูกต้องแม่นยำ และเป็นที่ยอมรับในสากล โดยต่อยอดเพื่อการวางแผนลดก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

โดยการร่วมมือของทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะเร่งเครื่องบริษัทจดทะเบียนบนกระดาน SET และ mai รวมกว่า 840 บริษัท มุ่งหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ผ่านก้าวแรกที่สำคัญ คือ การจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ด้วยระบบดังกล่าวที่จะช่วยอำนวยความสะดวกบริษัทจดทะเบียนในการจัดเตรียมข้อมูล ผ่านการจัดหมวดหมู่ข้อมูลตามประเภทอุตสาหกรรม ระบบการคำนวณแบบอัตโนมัติ ระบบการบูรณาการข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ การทำรายงานตามมาตรฐาน และการรับรองความถูกต้องของข้อมูล

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาจัดทำรายงานประจำปี ‘56-1 One Report’ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้ อีกทั้งบริษัทยังสามารถนำรายงานไปเผยแพร่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุนได้อีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา Carbonwize ได้เริ่มทดสอบระบบ SET Carbon ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และอีก 20 บริษัทจดทะเบียน จากทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว

Carbonwize ชี้ เงินลงทุนสถาบันพุ่งเป้า ESG แตะ 1.2 พันล้านล้านในอีก 2 ปี

คุณนัชชา เลิศหัตถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Carbonwize เผยว่า บริษัทรู้สึกยินดีที่อย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการเตรียมระบบจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่จะช่วยบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET และ mai รวมกว่า 840 แห่ง สอดคล้องกับพันธกิจของ Carbonwize ที่มีเป้าหมายในการขยายผลสู่บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนในประเทศไทยกว่า 700,000 ราย เพื่อมุ่งสู่เส้นทาง Net Zero

โดยข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ถูกรวบรวมไว้บนแพลตฟอร์ม จะช่วยให้บริษัททั้งหลาย เข้าใจถึงแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจ เพื่อนำมาวางกลยุทธ์ สร้างแผนปฏิบัติการในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังตามมาด้วยการลงมือปฏิบัติตามแผนการเหล่านั้น เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินการสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

นอกจากนี้ การวางรากฐานระบบการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เข้มแข็งให้กับบริษัทจดทะเบียนของไทย ยังเป็นการดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน ที่ปัจจุบันเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างโปร่งใสและชัดเจน

โดย PwC คาดการณ์ว่า สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ของเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่โฟกัสประเด็นเรื่องความยั่งยืนจะสูงถึง 33.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.24 พันล้านล้านบาท ในปี 2026 เติบโตขึ้น 12.9% คิดเป็นสัดส่วน 21.5% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับวางรากฐานระบบจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกสำหรับบริษัทจดทะเบียน และการวัดประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เป็นอีกก้าวสำคัญในการก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 และยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ที่จะเข้มงวดเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

ดังนั้น การมีฐานข้อมูลที่เข้มแข็ง จะช่วยให้องค์กรวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดทั้งของไทยและของนานาชาติ รวมถึงทำให้ธุรกิจขององค์กรสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT