ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดตัวสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Finance) เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นตัวการปล่อยคาร์บอนถึง 80% ขององค์กรต่างๆ
ปัจจุบัน ธุรกิจทั่วโลกต้องเร่งปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคม และมีการบริหารจัดการที่ดีตามหลัก ESG เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่หน่วยงานระหว่างประเทศและผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น สะท้อนจากที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ เริ่มออกกฎหมายบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และเริ่มเก็บภาษีจากคาร์บอนส่วนเกิน เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้กลุ่มบริษัทใหญ่ต่างๆ ในภาคเอกชนจะมีส่วนสำคัญในการลดคาร์บอน กลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญไม่แพ้กันในการขับเคลื่อนความยั่งยืนคือ ‘ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)’ ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทใหญ่ ที่เป็นผู้จัดหาและผลิตวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตสินค้า หรือ ‘ซัพพลายเออร์’ ของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งการศึกษาชี้ว่าเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนถึง 80% ขององค์กรต่างๆ
โดย ปัจจุบัน เอชเอสบีซี พบว่า ความท้าทายสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทาน คือ การขาดเงินทุนและการขาดความรู้ความเข้าใจขององค์กรเอกชนต่างๆ ทำให้แม้องค์กรต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานภายในบริษัทให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่ก็ยังขาดความสามารถที่จะช่วยให้คู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆ กันได้
ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจผลักดันให้ซัพพลายเออร์สามารถปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามหลัก ESG ได้ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จึงได้เปิดตัว ‘สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน’ (Sustainable Supply Chain Finance) เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับซัพพลายเออร์ที่สามารถปฏิบัติตามหลัก ESG ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภาคธุรกิจบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานขององค์กร
สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนคืออะไร? มีกลไกอย่างไร?
‘สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน’ ของธนาคารเอชเอสบีซี เป็นการสนับสนุนบริษัทคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของลูกค้าองค์กรของเอชเอสบีซี ด้วยการจัดสรรแหล่งเงินทุนทางเลือกซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไป เพื่อจูงใจให้บริษัทคู่ค้าของภาคธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs นำเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรที่พวกเขาทำงานร่วมด้วยในห่วงโซ่อุปทานไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ
ในการรับประโยชน์จากสินเชื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน องค์กรธุรกิจและ thrid party ที่องค์กรว่าจ้าง จะต้องทำหน้าที่ตั้ง KPI หรือตัวชี้วัดความสามารถด้านความยั่งยืนให้แก่ซัพพลายเออร์ของตน โดยอาจใช้โมเดลการประเมินตามหลักสากล เช่น HIGG Index & SAI (Social Accountability Index), Worldwide Responsible Accredited Production (WRAP) และ BSR & SEDEX เพื่อจัดเรทความสามารถด้าน ESG ของซัพพลายเออร์แต่ละราย
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว เอชเอสบีซีจะจัดสรรเงินทุนให้แก่องค์กรธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผู้ส่งต่อเงินทุนนี้ให้แก่ซัพพลายเออร์ โดยซัพพลายเออร์ที่ปฏิบัติตามหลัก ESG ได้มากที่สุดตามเกณฑ์ขององค์กรธุรกิจที่ทำการค้าด้วย จะได้เงินทุนสนับสนุนมากที่สุด และในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไป
ดังนั้น ธนาคารเอชเอสบีซีจึงคาดว่า สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้อาจสามารถมีส่วนช่วยให้บริษัทต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 จากห่วงโซ่อุปทานได้ ตลอดจนยังอาจผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้จะมีส่วนช่วยคู่ค้าของลูกค้าองค์กรของธนาคารให้เข้าถึงเงินทุนหมุนเวียน ที่มักอยู่ในรูปแบบเงื่อนไขการชำระเงินล่วงหน้าหรือการลดอัตราดอกเบี้ยได้ เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าเหล่านี้สามารถนำเงินทุนไปใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับใช้กับโครงการด้านความยั่งยืนอื่นๆ ได้ในวงกว้างมากขึ้น
เป้าหมายของสินเชื่อนี้เป็นบริษัทประเภทไหนบ้าง?
มร.จอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเอชเอสบีซีในการขับเคลื่อนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและสนับสนุนให้ลูกค้าของเอชเอสบีซีบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปพร้อมกับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน
ดังนั้น ในช่วงแรก กลุ่มเป้าหมายของสินเชื่อนี้จึงเป็นลูกค้าของเอชเอสบีซีที่ทำงานกับซัพพลายเออร์ทั้งในและต่างประเทศก่อน แล้วจึงขยายไปยังกลุ่มบริษัทอื่นๆ ในประเทศไทย ทั้งบริษัทไทย และบริษัทต่างประเทศที่มาดำเนินธุรกิจในไทย ที่สนใจสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจของซัพพลายเชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ในด้านความพร้อมของการให้เงินทุน คุณ กฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะธนาคารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ธนาคารเอชเอสบีซีมีความแข็งแกร่งในการสนับสนุนและจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero)
โดยเอชเอสบีซีให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อบูรณาการแนวคิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุมในกลุ่มธุรกิจของธนาคาร
โซลูชั่นการเงินด้าน ESG อื่นๆ ของเอชเอสบีซี
ทั้งนี้ นอกจากสินเชื่อเพื่อห่วงโซอุปทานที่ยั่งยืนแล้ว ปัจจุบันธนาคารเอชเอสบีซียังมีโซลูชันทางการเงินด้าน ESG และความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเชื่อมโยงเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้ากับเป้าหมายทางการเงินในการทำธุรกิจ เช่น green loans, social loans, sustainability-linked loans, green bonds และ transition bonds
นอกจากนี้ เอชเอสบีซียังมีโซลูชันและทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG โดยเฉพาะที่พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแผนการเปลี่ยนผ่านและลดการปล่อยคาร์บอนในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมและครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทานของลูกค้า
นาง ทุย โง้ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ (HSBC Trade Solutions: GTS) มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ เติบโตในระดับสากล สร้างเครือข่ายใหม่ ขยายการค้าไปยังประเทศต่างๆ และมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภูมิทัศน์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
ทั้งนี้ ปัจจุบันการดำเนินงานด้านการค้าระหว่างประเทศของธนาคารเอชเอสบีซี ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศได้ถึง 90% ของมูลค่าการค้าทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้อำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับลูกค้าคิดเป็นมูลค่าถึง 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 30.7 ล้านล้านบาท โดยลูกค้ายังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารกว่า 1.3 ล้านรายทั่วโลก
นอกจากนั้น การที่ธนาคารมีความสัมพันธ์อันยาวนานทั้งกับบริษัทคู่ค้าและผู้ซื้อ ยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับพันธมิตรที่เหมาะสม ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกด้วย