ความยั่งยืน

แค่ปรับเท่ากับช่วยโลก กับ "5 พฤติกรรมเพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืน"

29 ก.ย. 67
แค่ปรับเท่ากับช่วยโลก กับ "5 พฤติกรรมเพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืน"

"หมอแอมป์" ปลุกกระแสรักษ์โลก ไร้โรค เวที SUSTAINABILITY EXPO 2024 (SX 2024) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเคล็ดลับสุขภาพดี ไขคำตอบ สุขภาพแย่เกี่ยวอะไรกับโลกร้อน พร้อมชวนปรับ 5 พฤติกรรม เพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

"SUSTAINABLE WELLNESS รักษ์โลก ไร้โรค" อีกหนึ่งวง TALK อัดแน่นด้วยสาระดีๆ ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 (SX 2024) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ได้รับเกียรติจาก "คุณหมอแอมป์" นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ไขคำตอบ สุขภาพแย่ทำให้โลกร้อนขึ้นได้อย่างไร? พร้อมเผยเคล็ดลับสุขภาพ "5 พฤติกรรมเพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืน" ทำอย่างไร

หมอแอมป์ นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ งาน SX 2024

สุขภาพแย่ทำให้โลกร้อนขึ้น เกี่ยวกันอย่างไร

คุณหมอแอมป์ เผยว่า โลกที่เราอยู่ก็เหมือนตัวเรา ถ้าเขาป่วย เราก็ป่วยด้วย ถ้าเขาฝุ่นเยอะ เราต้องหายใจเข้าไป ยิ่งเราทำให้โลกร้อนเท่าไหร่ เรายิ่งเจอมหันตภัยมากขึ้นเท่านั้น

คำถามที่ว่า WELLNESS (การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ) กับ SUSTAINABLE (ความยั่งยืน) เกี่ยวกันอย่างไร ถ้าโลกสุขภาพดี เราก็สุขภาพดี แต่ถ้าโลกป่วย เจอฝุ่นแบบนี้ เจอน้ำท่วมแบบนี้ และจะหนักขึ้นทุกปี ต่อไปนี้หน้าฝนเราจะเดินทางไปเที่ยวไหนไม่ได้แล้ว อากาศแปรปรวนมาก มีการประเมินกันว่า ในปีต่อๆ ไป จะมีคนเสียชีวิตจากโลกร้อนเพิ่มขึ้นปีละ 2.5 แสนคน จากโรคต่างๆ เช่น สโตรก โรคติดเชื้อ ยุง หนู มีการแพร่พันธุ์สูงขึ้น โรคที่มากับน้ำท่วม โรคขาดสารอาหาร โดยสำคัญโรคที่เกี่ยวกับ วาตภัย อุทกภัย มหันตภัยต่างๆ มา อย่าง โรคเครียด เครียดจากการสูญเสียทรัพย์สิน เมื่อไหร่ที่โลกร้อน เราก็ลำบากขึ้นเรื่อยๆ

อะไรทำให้โลกใบนี้ ขยะเยอะ โรคเยอะ ร้อนขึ้น

ประเด็นดังกล่าวประกอบด้วยหลายปัจจัย อาทิ ป่วย = สร้างขยะ หากเราป่วยผลพวงจากการที่เราป่วยคือการสร้าง "ขยะ"
ขยะจากยา ขยะจากอุปกรณ์การแพทย์ ไซริงค์ฉีดยา ต่างๆ มากมาย ยิ่งสังคมผู้สูงอายุมาเร็ว ปัจจุบันในบ้านเรามีคนอายุเกิน 60 ปี เกิน 20% เรียกว่า สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยในปี 2576 จะขึ้นมาเป็น "สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด" ก็คือเกิน 28% แล้วถ้าคนอายุเยอะแล้วเกิดป่วยหมดเลย แต่ถ้าคนอายุเกิน 60 เยอะ แต่แข็งแรง ก็จะถือว่าเราประหยัดทรัพยากร

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรความดัน โรคไขมัน โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคเครียด ปัจจุบันในเมืองไทยมีคนเสียชีวิตด้วย "โรครู้อย่างนี้" หรือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรม 380,400 คน/ปี เฉลี่ย 44 คน/ชั่วโมง โดยเฉพาะโรคอ้วน หากเราไม่อ้วนเราก็ป่วยน้อยแล้ว อย่างโควิดที่ผ่านมา โรคอ้วนเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 7 เท่า หากโควิดมาอีกระลอกใหม่กลุ่มนี้จะเสี่ยงที่สุด

หมอแอมป์ นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ งาน SX 2024

แค่ "ปรับ" เท่ากับช่วยโลก กับ "5 พฤติกรรมเพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืน"

1. อาหารจากพืช อาหารที่ยั่งยืน
ปัจจุบันการลดกินเนื้อสัตว์และหันมากินผักมากขึ้น เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น การกินแบบ เฮลตี้ อีตติ้ง, อาหารที่กินแล้วไม่อ้วน รวมไปถึงการขึ้นภาษีอาหารประเภทจังก์ฟู้ด ขึ้นภาษีน้ำตาล ต้องขึ้นภาษีอาหารประเภทนี้จะได้ลดกำลังการซื้อ นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่า เรื่องกินสำคัญ เรื่องอ้วนก็สำคัญ ถ้ากินไม่ดีก็อ้วน ความน่ากลัวของโรคอ้วนมันคือ เพชรฆาตเงียบ

ปัจจุบันคนไทยน้ำหนักเกิน 48.3% เกือบครึ่งคนในประเทศเราน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน กทม. แชมป์โรคอ้วน อ้างอิงงานวิจัยระบุว่า คนอ้วนตายก่อน 9 ปี เมื่อเทียบกับคนไม่อ้วน ซ้ำเสี่ยงมะเร็ง 13 ชนิด

2. การออกกำลังกาย กิจกรรมที่ยั่งยืน
การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญใหญ่ที่สุดในโลกของการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็งได้เยอะมาก ออกกำลังกายวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ นี่คือเคล็ดลับของการมีสุขภาพดี นอกจากนี้การออกกำลังกายทำให้แก่ช้าลง 9 ปี

การออกกำลังกายเกี่ยวอย่างไรกับโลกร้อน เมื่อครั้งโควิดมา หลายคนไม่อยากนั่งรถสาธารณะ คนหันไปขับรถกันเยอะโลกก็ร้อนขึ้นอีก ซึ่งถ้าเราอยากแข็งแรงด้วยโลกไม่ร้อนด้วยเพราะฉะนั้น เดินดีกว่า ปั่นจักรยานดีกว่า มีวิจัยว่าในช่วงที่คนสนใจเรื่องโลกร้อน คนหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น หรือ การขึ้นลิฟต์ก็ทำให้โลกร้อนแล้วนะ หันมาขึ้นบันไดดีกว่า วันหนึ่งได้ 6,000-8,000 ก้าว ถือว่าคุ้มค่าแล้ว

หมอแอมป์ นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ งาน SX 2024

3. อากาศ
เรื่องอากาศสำคัญเพราะปัจจุบัน PM 2.5 เวลาเข้าไปในปอดทะลุทะลวงหมดเลยเพราะเขาเล็กกว่าเส้นผม 20 เท่า อ้างอิงข้อมูล ปี พ.ศ. 2566 คนกรุงเทพฯ สูดดม PM 2.5 เทียบเท่าสูบบุหรี่ 3.77 มวนต่อวัน เราเดินไปเดินมาในกรุงเทพฯ เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ สูดลมหายใจเท่ากับสูบบุหรี่คนละ 4 มวนต่อวัน ส่งผลเป็นโรคปอด มะเร็ง ถ้าเราไม่รณรงค์ให้โลกเราแข็งแรง ฝุ่นควันไม่น้อยลง พวกเราอยู่ไปได้เจ็บป่วยแน่ เพราะฉะนั้นแนะนำว่า กลับบ้านต่างจังหวัดบ้าง จังหวัดไหนอากาศดีๆ คนจะแย่งกันไปอยู่ จังหวัดไหนสกปรกคนจะไม่อยากอยู่ เราก็ต้องช่วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน

4. การนอนหลับที่ดี
ข้อที่สำคัญที่สุดคือการนอน ใครที่ยังนอนไม่ดีอย่าเพิ่งไปทำอย่างอื่นให้แข็งแรง ให้กลับไปนอนให้ดีก่อนทำอย่างอื่น เพราะการนอนคือการชะล้างของเสีย การบำรุงร่างกาย ย้อนกลับไปหากเรานอนไม่ดีเราจะอ้วน เราจะป่วย สมรรถภาพร่างกายเราจะเสื่อมถอย เราจะเป็นโรคเต็มไปหมดเหมือนที่หมอเคยบอกทุกครั้ง

5. จิตอาสา
มีการวิจัยที่เผยข้อมูลว่าหลังจากสถานการณ์โควิด โลกร้อน ฝนตก เจอเฮอริเคน คนทั่วโลกเขารู้สึกว่าต่อไปนี้การทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจมาก ใครที่มีผลิตภัณฑ์รักษ์โลกนำมาขาย ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คนมีความสนใจมากขึ้น จากข่าวต่างๆ คนรู้สึกเศร้าต่อการที่น้ำแข็งละลายสัตว์ตาย ไฟป่า เหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ คนรู้สึกอยากช่วยโลก อยากจะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ด้วยมือเรา นิดหน่อยก็ยังดี นี่คือหัวใจสำคัญของจิตอาสา

"การที่หมอมายืนอยู่บนเวทีแห่งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งว่าถ้าเราไม่ช่วย คิดแค่ว่าเราเป็นหมอไม่เกี่ยวอะไรกับโลกร้อน
เราไม่ต้องทำอะไร แต่ผมก็พยายามจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ การเป็นแพทย์เราจะทำอย่างไรให้คนที่อยากสุขภาพดีอยู่แล้วมาสุขภาพดีขึ้นและช่วยโลกไปด้วย ซึ่งก็จากใน 5 ข้อดังที่กล่าวมานี้"

หมอแอมป์ นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ งาน SX 2024

หมอแอมป์ นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ งาน SX 2024

advertisement

SPOTLIGHT