เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘จักรวาลของ Apple’ นั้นยิ่งใหญ่ และครอบคลุมในหลากหลายวงการ อาทิ ความบันเทิง การสื่อสาร เกม ดนตรี การเงิน ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ และการมาของ ‘Apple Watch’ ทำให้ Apple ค่อยๆ กลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญในวงการสุขภาพและการแพทย์ จากการนำหลากหลายฟีเจอร์ที่ทางด้านสุขภาพ มาไว้ที่ข้อมือของผู้คน
Apple Watch รุ่นล่าสุด มีหลากหลายฟีเจอร์สุขภาพ สามารถตรวจวัดการเต้นของหัวใจได้อย่างแม่นยำ วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือดได้ แต่หนึ่งฟีเจอร์ด้านสุขภาพที่ Apple ซุ่มพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยอดีต CEO เปลี่ยนโลก Steve Jobs คือ ‘การวัดระดับน้ำตาลในเลือด’ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และยังมีประโยชน์กับกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (เกิดจากภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนลดลง ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน) ในการช่วยเตือนปริมาณระดับน้ำตาลผิดปกติ ก็จะเป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย ซึ่งล่าสุด สื่อต่างประเทศเผยว่า กำลังอยู่ในขั้นตอน 'Proof-of-Concept' หรือทดสอบความเป็นไปได้ ก่อนเริ่มโปรเจกต์จริงแล้ว
หนึ่งในเทคโนโลยีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือด คือการใช้ ‘แสง และ เซนเซอร์’ ในการตรวจวัด ด้วยกระบวนการ Spectroscopy โดยอาศัยหลักการที่ว่า เมื่อฉายแสงไปยัง ‘โมเลกุลที่แตกต่างกัน’ โมเลกุลเหล่านั้นจะดูดกลืนแสง ‘ในช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน’ ซึ่งจะสามารถตรวจวัด และคำนวณกลับไปเป็นความเข้มข้นของโมเลกุลนั้นๆ ได้
เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกับการดูปริมาณขนม M&M’s ด้วยตา ว่าในถุงที่เราซื้อมานี้ มีสีแดง เขียว เหลือง ฯลฯ มากน้อยเพียงใด จากการที่แต่ละเม็ด มีสีที่แตกต่างกัน (เพียงแต่เทคนิค Spectroscopy มักใช้แสงในช่วงความที่มนุษย์มองไม่เห็น ซึ่งมีช่วงกว้างกว่าสีรุ้ง 7 สี ที่เรามองเห็นด้วยตามากๆ ซึ่งโมเลกุลแต่ละชนิด จะจับจองช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถแยกได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ตัวไหนเป็นตัวไหน)
วารสาร Optical Fiber Technology และ Diabetes Science and Technology เผยว่า เทคนิคในการวัดปริมาณน้ำตาลกลูโคสที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ใช้เลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง ฉายลงไปถึงชั้นหนังแท้ของเรา และวัดปริมาณน้ำตาลกลูโคสจากเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดฝอย (หลอดเลือดแดง และดำ จะอยู่ลึกลงไปอีก ในชั้นไขมัน) โดยใช้วิธีตรวจวัดแตกต่างไปตามเทคนิคที่เลือกใช้ของแต่ละสถาบันวิจัย
โดยสื่อต่างประเทศรายงานว่า เทคนิคที่ Apple Watch น่าจะเลือกใช้ คือ Infrared Spectroscopy ซึ่งเป็นการเลือกฉายแสงในระดับพลังานต่ำ และเป็นช่วงที่สามารถใช้ระบุความแตกต่างระหว่างกลูโคส กับโมเลกุลอื่นๆ ได้ โดยอุปกรณ์ในปัจจุบัน ยังมีขนาดประมาณ ‘iPhone 1 เครื่อง’ และอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้มีขนาดเล็กลง และผสานเข้ากับนาฬิกา Apple Watch ได้
ความฝันในการพัฒนาฟีเจอร์การตรวจระดับกลูโคสแบบพกพานี้ มีมาตั้งแต่สมัย Steve Jobs ยังดำรงตำแหน่งซีอีโอแล้ว โดย ในปี 2010 Jobs ซึ่งขณะนั้นมีสุขภาพทรุดโทรมแล้ว ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท RareLight และค่อยๆ พัฒนาโครงการเรื่อยมา จนถึงสมัย Tim Cook ซีอีโอคนปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ Exploratory Design Group (XDG)
แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานว่า เราจะได้เห็นฟีเจอร์นี้ใน Apple Watch รุ่นไหน และเมื่อใด แต่หาก Apple คลอดโปรเจกต์นี้ได้สำเร็จ จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ Smart Watch ของ Apple และยังกลายเป็นผู้นำในด้านธุรกิจสุขภาพอีกด้วย
ที่มา : Engadget, Mac Rumors, Science Direct, Sage Journals