ธุรกิจการตลาด

TikTok Shop ขึ้นอันดับ 2 อีคอมเมิร์ซอาเซียน หลังโต 4 เท่า แซง Lazada

17 ก.ค. 67
TikTok Shop ขึ้นอันดับ 2 อีคอมเมิร์ซอาเซียน หลังโต 4 เท่า แซง Lazada

ในช่วง 3-4 ปีนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่มีเจ้าถิ่นเดิมอย่าง Shopee และ Lazada ที่ต่างเปิดตัวฟีเจอร์มากมายเพื่อดึงกลุ่มผู้ใช้งานเดิมไว้ และในขณะเดียวกัน พยายามหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งหลังจากที่ TikTok Shop ได้ก้าวเข้าสู่ตลาดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ การแข่งขันกลับดุเดือดมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะดูเหมือนว่า TikTok Shop มีการเติบโตที่สูงขึ้นมาก และทำให้หลายแพลตฟอร์มรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ

รายงานจาก Momentum Works เผยว่า TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นภายใต้ ByteDance ได้ก้าวขึ้นสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อันดับสองในภูมิภาคอาเซียน แซงหน้าผู้เล่นในท้องถิ่นอย่าง Lazada ของอาลีบาบาเป็นที่เรียบร้อย 

โดยปริมาณสินค้ารวม (GMV) ของ TikTok Shop เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่า จาก 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2022 เป็น 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงถึง 5.9 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในบรรดาคู่แข่งในภูมิภาค

ซึ่งเมื่อรวมกับแพลตฟอร์ม Tokopedia ของอินโดนีเซีย ที่ TikTok ถือหุ้นใหญ่ในปีที่แล้ว แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ TikTok ได้แซงหน้า Lazada กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับสองในภูมิภาคอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 28.4% จากปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ในรายงานระบุว่า มูลค่ารวมของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคมีมูลค่า 1.146 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ​ หรือ 4.149 ล้านล้านบาทในปี 2023 เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า โดย Shopee ครองตำแหน่งสูงสุดด้วยส่วนแบ่ง 48% ตามมาด้วย Lazada ที่ 16.4% ส่วน TikTok และ Tokopedia ต่างครองส่วนแบ่ง 14.2%

Jianggan Li ซีอีโอของ Momentum Works กล่าวว่า TikTok ได้กลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญมากในอาเซียน ซึ่งบริษัทให้คำมั่นที่จะลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ โดยสำหรับปีนี้ หากมีการบูรณาการที่พวกเขามีกับ Tokopedia พวกเขาอาจกลายเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย

นับตั้งแต่ TikTok เปิดแพลตฟอร์มตัวอีคอมเมิร์ซในปี 2021 บริษัทได้มีการจ้างงานในอาเซียนอยู่ต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้เล่นท้องถิ่นกลับลดจำนวนพนักงานลงเพื่อพยายามทำกำไร ซึ่งภายในปี 2023 TikTok มีพนักงานเพิ่มขึ้นสี่เท่าเป็นกว่า 8,000 คน เทียบเท่ากับจำนวนพนักงานของ Lazada

นอกจากนี้ TikTok ได้ขยายฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซ โดยใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันไลฟ์สตรีม ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์และร้านค้าจะแสดงทุกอย่าง ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ความงามและแฟชั่นไปจนถึงเครื่องใช้ในบ้าน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ซื้อสินค้าแบบเรียลไทม์

ในขณะที่ Shopee ซึ่งได้ลดต้นทุนเพื่อสร้างผลกำไร ได้รุกเพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาดจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นกับ TikTok ซึ่งในเดือนสิงหาคม Sea บริษัทแม่ของ Shopee กล่าวว่าจะเพิ่มการลงทุนในด้านความสามารถในการสตรีมสดและโลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม TikTok กำลังเผชิญกับการถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และเผชิญกับความล้มเหลวในอาเซียนเช่นกัน อย่างในอินโดนีเซีย TikTok Shop ถูกบังคับหยุดให้บริการหลังจากรัฐบาลสั่งห้ามการทำธุรกรรมช้อปปิ้งออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย ทำให้ TikTok ตัดสินใจเข้าถือหุ้น Tokopedia กว่า 75% เพื่อเริ่มธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ในประเทศอีกครั้ง

ทั้งนี้ TikTok และ Tokopedia เติบโตขึ้นจนครองส่วนแบ่งการตลาด 39% ในอินโดนีเซีย ตามหลัง Shopee ที่ 40% ส่วนในเวียดนาม TikTok Shop กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่อันดับสองโดยมีส่วนแบ่งตลาด 24%

ที่มา Nikkei Asia

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT