Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
องค์กรไทยควรทำอย่างไร ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทันโลก? เมื่อ AI มาแทนที่คน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

องค์กรไทยควรทำอย่างไร ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทันโลก? เมื่อ AI มาแทนที่คน

9 ส.ค. 67
16:42 น.
|
384
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการทำงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการมาของ AI ที่สามารถเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ที่รวดเร็วและลึกซึ้งขึ้น จนเกิดกระแส ‘Future of Work’

การนำ AI เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เกิดความกังวลกับคนทำงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกับแนวคิด ‘AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์หรือไม่?’ จนทำให้บางองค์รกรยังมีวิสัยทัศน์ในแง่ลบกับ AI และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก หรือบ้างเห็นถึงโอกาสตรงนี้และลงทุนไปกับ AI มูลค่ามหาศาล แต่กลับลืมไปว่า ‘องค์กรยังไม่มีความพร้อม’

SPOTLIGHT มีโอกาสเข้าร่วมงาน ‘Techsauce Global Summit 2024’ และรับฟังการเสวนาในประเด็นของการสร้างพื้นที่ทำงานที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ประสบความสำเร็จ กลยุทธ์ในการเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานยุคดิจิทัล และส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในการใช้ประโยชน์จาก AI ผ่านหัวข้อ ‘Harnessing AI: Transforming Workspaces for the Future’

โดยผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ‘คุณประนัปดา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly Space (Dragonfly360); คุณกรกนก ยงสกุล ผู้ก่อตั้ง Training; และ ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA ไ้ด้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรในภาคส่วนต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จในยุคของ AI และการออกแบบสภาพแวดล้อมในสำนักงานและวัฒนธรรมองค์กรใหม่อย่างรอบคอบ เพื่อสนับสนุนพนักงานทุกคนในยุคดิจิทัล

องค์กรต้องสื่อสารให้พนักงานเปิดใจเรื่อง AI

สำหรับแนวคิด ‘AI แทนที่แรงงาน’ คุณประนัปดา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly Space (Dragonfly360) มองว่า เป็นเรื่องจริงที่ AI สามารถแทนที่งานของมนุษย์ได้ และในความเป็นจริง (ที่โหดร้าย) คนบางกลุ่มอาจมีความต่อต้านหรือไม่สามารถนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการทำงานได้เสมอ เพราะการนำ AI มาใช้ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายเหมือนกัน

สำหรับฝั่งบริหาร การใช้ AI ไม่ได้เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การจ้างงานที่เป็นกลางมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์มีอคติโดยไม่รู้ตัวและมีแนวโน้มที่จะจ้างคนที่คล้ายกับตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์ได้ เทคโนโลยี และ AI จึงสามารถช่วยคัดกรองคนทำงานที่มีทักษะหรือความสามารถที่องค์กรต้องการ ผ่านการมองข้ามเพศ อายุ สัญชาติ เพื่อจ้างงานได้อย่างยุติธรรมมากขึ้น

แต่สำหรับฝั่งพนักงาน หรือคนทำงานทั่วไป สิ่งที่องค์กรและผู้บริหารควรมอง คือ องค์กรจะยกระดับทักษะ และเทรนพนักงานให้มีความพร้อม และใช้เทคโนโลยีและ AI เป็น ได้อย่างไร? แน่นอนว่า ระบบการศึกษาเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด แต่อย่าลืมว่า เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องรู้ทั้งทักษะและเครื่องมือ และวิธีใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

แน่นอนว่า พนักงานบางคนอาจมีความรู้สึกต่อต้านหรือถูกคุกคามโดย AI เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหานี้เริ่มต้นจากการที่หัวหน้าต้องแน่ใจว่า พวกเขาสื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจว่า งานของพวกเขาจะไม่ถูกคุกคามโดย AI เพราะเมื่อพนักงานรู้สึกปลอดภัยและไม่รู้สึกถูกคุกคามอีกต่อไป พวกเขาจะมีความมั่นใจมากขึ้นต่อประโยชน์ที่จะได้รับจาก AI

นอกจากนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานแบบองค์รวม ที่มีการสนับสนุนพนักงานในทุกมิติเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งผู้บริหารต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่า พนักงานไม่ทำงานหนักเกินไปจนทำให้เกิดปัญหาทั้งทางกายและใจ โดยเฉพาะในยุคที่สุขภาพกลายเป็นหัวข้อที่สำคัญมาก และการมาของ AI ที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นก็ตาม 

การปรับตัวเข้ากับ AI ต้องเริ่มจากการลดช่องว่างระหว่างคนกับเทคโนโลยี

จากประสบการณ์ในฐานะผู้ก่อตั้ง Training คุณกรกนก ยงสกุล เผยว่า แม้ตนจะเชี่ยวชาญด้านบุคคลมากกว่าด้าน AI แต่การมาของ AI และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ทำให้บริษัทต้องปรับตัวเป็นทั้งผู้ดำเนินการ และผู้ลดช่องว่างระหว่างบุคคลและเทคโนโลยีภายในองค์กร ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหาร

โดยปัจจัยที่ต้องเปลี่ยนแปลงในมุมของคุณกรกนกมีทั้งหมด 4 ด้าน ผ่าน framework ที่เรียกว่า ‘4W’ ดังนี้:

  1. Work (งาน) : กำหนดประเภทของงานให้ชัดเจน ว่าต้องมีการแทรกแซงของมนุษย์หรือไม่ และประเมินความต้องการงานเฉพาะ
  2. Worker (คนทำงาน) : ระบุประเภทคนงานที่องค์กรต้องการดึงดูด และเน้นทักษะกับคุณลักษณะที่ต้องการ
  3. Workplace (สถานที่ทำงาน) : ปรับปรุงการทำงานร่วมกันและการจัดการในรูปแบบการทำงานระยะไกล (WFH)
  4. Worth (มูลค่า) : ประเมินคุณค่าที่ผู้คนนำมาสู่งานของตน และเพิ่มผลผลิตสูงสุดด้วย AI ในขณะที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมที่เป็นเอกลักษณ์ของพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และความสามารถด้านเทคโนโลยี

โดยการฝึกอบรมและพัฒนาทุกภาคส่วนเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ในยุค AI และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน เพราะการฝึกอบรมทักษะใหม่ เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป และต้องลงมือทำผ่านกระบวนการดังนี้:

- วางแผนเพื่อพัฒนาพนักงานให้ทำงานกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- ทำงานร่วมกับแผนกกลยุทธ์และทรัพยากรบุคคลเพื่อวัดและพัฒนากลุ่มผู้มีความสามารถ

- กำหนดเป้าหมายเฉพาะและทักษะที่ต้องการสำหรับการสรรหาบุคลากร

- กำหนดวิธีการวัดผลกระทบของ AI โดยยอมรับความท้าทายในระยะเริ่มแรก

- ปรับกรอบความคิดในระยะแรกของการบูรณาการ AI

นอกจากนี้ การหาพนักงานใหม่เข้ามาในองค์กร ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้เข้าสมัคร เช่น สนับสนุน HR ในการจัดหาพนักงาน และการจ้างงานโดยใช้ AI เพื่อปรับปรุงกระบวนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งออกแบบโปรแกรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรวมพนักงานใหม่เข้ากับวัฒนธรรมของบริษัท และมีแนวทางในการ upskill (ยกระดับทักษะ) และ reskill (เพิ่ททักษะใหม่) เพื่อส่งเสริมการเติบโตของพนักงานด้วย

ทั้งนี้ คุณกรกนก มองว่า การเทรนนิ่งฝึกอบรมพนักงาน ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาวิธีเดียวเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กว้างขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะและผลลัพธ์ โดยดัชนีชี้วัดควาสำเร็จ (Key Performance Indicator - KPI) ควรสะท้อนมากกว่าตัวเลข เพราะควรรวมถึงความคิด การไตร่ตรอง และกรอบความคิด

‘ไทย’ ยังมีช่องว่างในทักษะด้าน AI และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

ในขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้า AI ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่มักสร้างความตื่นเต้นให้กับคนทั่วโลก เนื่องจากมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดใหม่มากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งโอกาสและความเสี่ยงมากมาย อย่างประเทศไทยเอง ได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านดิจิทัล โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลาด โซเชียลมีเดีย และการกำกับดูแลด้าน AI 

อย่างไรก็ตาม ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA ชี้ว่า แม้ประเทศไทยเน้นผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่เรามีนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเองและสตาร์ทอัพด้าน AI จำนวนจำกัด และยังพบช่องว่างในด้านทักษะระหว่างองค์กรขนาดใหญ่และ SMEs ในแง่ของความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเจอกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หลังจากการวัดความสมบูรณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในไทยเผยให้เห็นช่องว่างที่กว้าง ในบางพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลสูง และบางพื้นที่ที่ต่ำมากและกำลังประสบปัญหาในการใช้เครื่องมือดิจิทัลอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งมักจำกัดอยู่เพียงการมใช้งานในระดับเบื้องต้นเท่านั้น เช่น การชอปปิงออนไลน์ และการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียล

แม้จะมีแผนที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่การพัฒนาแกัปัญหาด้านดิจิทัลก็ยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมุมมองในอนาคต บ่งชี้ว่า คนไทยอาจยังไม่พร้อมรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว 

ดร.ตฤณ มองว่า เพื่อพัฒนาการเปลี่ยนแปลงนี้ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและโครงสร้างของหน่วยงานรัฐฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนในองค์กรเห็น รวมทั้ง การส่งเสริมความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ มาตรการจูงใจทางภาษี เป็นโครงการหนึ่งในการดึงดูดผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยี แต่ก้ยังมีความจำเป็นในการสร้างคนไทยที่มีความสามารถในท้องถิ่น ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ และให้ความสำคัญกับการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อปิดช่องว่างด้านทักษะ

การพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญ และเลือกโซลูชันที่เหมาะสมที่สุด สำหรับภูมิทัศน์ดิจิทัลที่กำลังพัฒนา ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า พนักงานจะทำงานกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ขั้นสูง และจำเป็นต้องมีทักษะใหม่ๆ เพราะถึงแม้ AI จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง การทำความเข้าใจคุณประโยชน์และการประยุกต์ใช้ AI จึงจะช่วยเร่งให้เกิดการยอมรับ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมขององค์กรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยอมรับ AI และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยเริ่มต้นจากการจัดการระดับบนสุด และค่อยแพร่กระจายทั่วทั้งองค์กร

แชร์
องค์กรไทยควรทำอย่างไร ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทันโลก? เมื่อ AI มาแทนที่คน