ธุรกิจการตลาด

จับชีพจร Intel แผนการคัมแบกครั้งใหญ่ จะทวงคืนมาร์เก็ตแชร์ได้หรือไม่?

18 ก.ย. 67
จับชีพจร Intel แผนการคัมแบกครั้งใหญ่ จะทวงคืนมาร์เก็ตแชร์ได้หรือไม่?

‘Intel’ บริษัทผลิตชิปมูลค่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เกือบ 3 ล้านล้านบาท) สูญเสียจุดยืนทางเทคโนโลยี นับตั้งแต่ที่ ‘TSMC’ ผู้ผลิตชิปของไต้หวัน เริ่มผลิตชิปที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมากกว่า ราคาถูกกว่า และหนาแน่นกว่า รวมทั้ง การแข่งขันจาก ‘NVIDIA’ ผู้ผลิตชิปที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และยังติด 3 อันดับบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกด้วย

จับชีพจร Intel แผนการคัมแบกครั้งใหญ่ จะทวงคืน market share ได้หรือไม่?

TSMC กลายเป็นผู้ผลิตที่หลายบริษัทเลือกใช้ รวมถึง Apple และ AMD ที่พึ่งพาชิปของ TSMC ในการผลิตชิปขั้นสูง นอกจากนี้ ความเป็นผู้นำของ TSMC ในธุรกิจโรงหล่อชิป ทำให้บริษัทได้เปรียบอย่างชัดเจน เนื่องจากความพยายามของ Intel ในการสร้างบริการโรงหล่อที่สามารถแข่งขันได้นั้นล่าช้า

ไม่เพียงเท่านี้ Intel ประสบปัญหาในการผลิตชิปขนาด 10 นาโนเมตร ทำให้การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล่าช้า และทำให้บริษัทตกยุค ในขณะเดียวกัน TSMC ก็พัฒนาไปสู่การผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรและ 5 นาโนเมตรอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตชิปที่มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงานมากขึ้นได้ ทำให้ชิปของ Intel มีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยลง ในแง่ของประสิทธิภาพและการใช้พลังงาน

ส่วน NVIDIA ใช้ประโยชน์จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของ AI และ Machine Learning ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ GPU หรือหน่วยประมวลผลกราฟิก มีบทบาทสำคัญมาก แต่ Intel มุ่งเน้นที่ CPU หรือหน่วยประมวลผลกลางเป็นหลัก ไม่ได้ลงทุนมากนักใน GPU และตัวเร่งความเร็ว AI ทำให้ NVIDIA กลายเป็นผู้นำในกลุ่มที่มีการเติบโตสูงเหล่านี้ เนื่องจาก AI และดาต้าเซ็นเตอร์ มีความสำคัญมากขึ้น ชิปของ NVIDIA จึงมีความจำเป็นมากขึ้นตาม ส่งผลให้ความโดดเด่นของ Intel ในด้านการประมวลผลประสิทธิภาพสูงลดน้อยลง

ความพยายามที่จะกอบกู้พื้นที่กลับคืนมาของ Intel มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม ก็ดูเหมือนว่า ตอนนี้ Intel กำลังมาถึงทางตันหรือไม่? โดยเฉพาะล่าสุด ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Pat Gelsinger ผู้บริหาร Intel ระงับการจ่ายเงินปันผล และปลดพนักงานออกจำนวนมาก รวมทั้ง ยังมีความเป็นไปได้ที่ Intel จะพยายามขายสินทรัพย์บางส่วนอย่าง ‘Altera’ บริษัทผลิตชิปแบบตั้งโปรแกรมได้ ที่ Intel เคยซื้อกิจการในปี 2025 และหุ้นของบริษัทใน ‘Mobileye Global’

นอกจากนี้ ‘Intel Foundry’ จะกลายเป็นบริษัทในเครืออิสระที่แยกออกจาก Intel มีบอร์ดปฏิบัติการของตัวเอง และรายงานรายได้แยกจาก รวมทั้งทำให้โครงการของ Intel ที่กำลังสร้างโรงงานในโปแลนด์และเยอรมนีเป็นเวลาสองปี หยุดไปชั่วคราว ตามความต้องการของตลาดที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างโรงงานในแอริโซนา ออริกอน นิวเม็กซิโก และโอไฮโอต่อไป

‘AWS’ ความหวังหมู่บ้าน

แม้ Intel อาจกำลังมืดแปดด้าน แต่ล่าสุดกลับมีข่าวดี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา Gelsinger กล่าวว่า ‘AWS’ ของ Amazon จะขยายความร่วมมือกับ Intel ด้วยการร่วมลงทุนด้านการออกแบบชิป และข้อตกลงในการผลิตโปรเซสเซอร์สำหรับ AI หลังจากที่แผนกการประมวลผลบนคลาวด์ของ Amazon ออกแบบชิปหลายตัวสำหรับใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์ของตนแล้ว จึงได้ว่าจ้าง Intel เพื่อจัดทำแพ็คเกจอย่างน้อยหนึ่งเวอร์ชัน โดย Intel ใช้โหนดกระบวนการ 18A ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ล้ำหน้าที่สุดที่มีจำหน่ายสำหรับลูกค้าภายนอก

ไม่เพียงเท่านี้ Intel ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ มากถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9.99 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตชิปสำหรับกองทัพ ผ่านโครงการ ‘Secure Enclave’ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างอุปทานชิปล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง สำหรับการป้องกันประเทศและข่าวกรอง

โดยทุนจากโครงการ Secure Enclave เป็นทุนที่แยกต่างหาก จากเงินช่วยเหลือมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.83 แสนล้านบาท ภายใต้โครงการ ‘Chips and Science Act’ ที่ Intel จะได้รับเพื่อสนับสนุนโรงงานต่างๆ ใน ​​4 รัฐของสหรัฐอเมริกา โครงการดังกล่าว รวมถึงโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองนิวออลบานี รัฐโอไฮโอ ซึ่ง Intel ระบุว่าอาจกลายเป็นโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กำลังเผาเงินอยู่หรือไม่?

ถึงแม้การร่วมมือกับ AWS ส่งผลให้ราคาหุ้น Intel เพิ่มขึ้น 7% รวมทั้งแผนอื่นๆ ที่จะปลดล็อกเงินทุนสำหรับการลงทุน อาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับราคาหุ้นของบริษัทได้ 40% แต่ Robert Cyran จากสำนักข่าว Reuters มองว่า สิ่งที่ Intel ทำ อาจไม่คุ้มค่า หากไม่สามารถคว้าส่วนแบ่งการตลาดคืนมาได้ หรือไม่สามารถบรรลุประสิทธิภาพที่ TSMC ทำได้ Intel อาจต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก

หาก Intel มีการขายสินทรัพย์จริง Altera มีรายได้ประจำต่อปีที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.66 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง ‘Lattice Semiconductor’ ที่มีอัตราส่วนมูลค่าต่อยอดขาย 9.5 เท่า Altera ก็จะมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 5 แสนล้านบาท ส่วน Mobileye คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.33 แสนล้านบาท

เงินสดนี้ เมื่อรวมกับคำแนะนำจาก Amazon อาจช่วยให้ Intel มีโอกาสต่อกรกับ TSMC ได้ โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำสมัยมีต้นทุนการก่อสร้างกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง 20 ปี หาก Intel ใช้เงินสดบางส่วนจากการขายสินทรัพย์เพื่อสร้างโรงงาน และสามารถทำกำไรที่ 0.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงกับผลตอบแทนที่ TSMC ได้รับ ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1.17 ล้านล้านบาท จากมูลค่าตลาดของ Intel ด้วยอัตราคิดลด (discount rate) ที่ 7%

อย่างไรก็ตาม Cyran มองว่า รายได้ของ TSMC สูงกว่าของ Intel ประมาณ 5 เท่า Intel อาจต้องเสนอส่วนลดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เนื่องจากเมื่อมีโรงงานสร้างขึ้นใหม่ มักประสบปัญหาในการเริ่มต้นธุรกิจ นอกจากนี้ เนื่องจากหน่วยธุรกิจที่ทำกำไรของ TSMC มีทรัพยากรที่เหนือกว่าในการสู้กับ Intel หากIntel ไม่มีกำลังที่มากขึ้น การลงทุนในความเสี่ยงของ Intel อาจกลายเป็นต้นทุนที่สูญเสียไป

ในขณะที่ Intel ยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจาก Wall Street กลับคืนมา หลังจากสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งมาหลายปี และเห็นความได้เปรียบทางเทคโนโลยีลดลง ปัจจุบัน Intel มีมูลค่าบริษัทต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่ได้ติด 10 อันดับบริษัทชิปชั้นนำอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน NVIDIA มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงถึง 96.6 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำ Intel กลับมาสู่เส้นทางเดิมในฐานะผู้ผลิตชิปชั้นนำ นอกเหนือจากปัญหาที่แพร่หลายซึ่งส่งผลต่อซีพียูรุ่นที่ 13 และ 14 แล้ว บริษัทยังรายงานรายได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5.33 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2024 โดยธุรกิจการผลิตชิปเพียงอย่างเดียว มีการสูญเสียการดำเนินงานมากถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงถึงราว 2.33 แสนล้านบาทในปี 2023

ที่มา Reuters, Nikkei Asia, The Verge, Bloomberg, HPC Wire, Investopedia

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT