ภาชนะดินเผาโบราณ มีลายเขียนสีแดงเป็นเอกลักษณ์ กำไลข้อมือในสภาพเกือบสมบูรณ์ และลูกกลิ้งทรงกระบอก 2 ชิ้น ที่ยังไม่ทราบการใช้งานที่แน่ชัด โบราณวัตถุทั้ง 4 ชิ้นเหล่านี้ ถูกพิสูจน์โดยกรมศิลปากรแล้วว่า มีถิ่นกำเนิดมาจากพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ตั้งรกรากและสถานที่ฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุเก่าแก่กว่า 3,500 ปี ในจังหวัดอุดรธานี
ในช่วงปี พ.ศ. 2513-2522 เครื่องปั้นและเครื่องมือดินเผาชุดนี้ถูกส่งมอบให้นายทหารชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ที่เคยประจำการ ณ ฐานบินอุดรธานี ก่อนที่จะถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่สถานทูตสหรัฐฯ เป็นอย่างดี ซึ่งล่าสุด ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ภาพของโบราณวัตถุทั้งสี่ ได้เผยแพร่สู่สายตาของชาวไทยทุกคนแล้ว ผ่าน “พิธีส่งคืนโบราณวัตถุจากแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง” โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สำนักงานยูเนสโก กระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวขอบคุณสถานทูตสหรัฐฯ สำหรับการริเริ่มส่งคืนโบราณวัตถุชุดนี้ พร้อมเปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้รับการประสานงานจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯว่า พบภาชนะสมัยบ้านเชียงที่มีอายุราว 2,000 ปี จึงได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเป็นของจริง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จึงขอส่งคืนให้กับกระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศ เพื่อเป็นการคืนมรดกให้ดินแดนมาตุภูมิที่แท้จริง และเป็นประโยชน์กับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งหนึ่ง
เปิดเหตุผล ทำไมสถานทูตสหรัฐฯ ส่งคืนโบราณวัตถุให้ไทย
สำหรับการจัดพิธีส่งคืนโบราณวัตถุจากแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง เกิดขึ้นจากแนวคิดขององค์การยูเนสโกภายใต้อนุสัญญาปี ค.ศ. 1970 ว่าด้วยวิธีการห้ามและป้องกันการนำเข้า และการส่งออก และการโอนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม โดยมิชอบด้วยกฏหมาย
ด้านนายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงว่า “สถานทูตฯหวังว่า พิธีส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงและเวทีเสวนาในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนว่าการโจรกรรม การลักขโมย และการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมอันมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในทุกประเทศนั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่วัฒนธรรม เอกลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของผู้คนได้อย่างไร”
องค์การยูเนสโกมองว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นที่ที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ก็เป็นพื้นที่เป้าหมายของอาชกรรมลักลอบสินค้าทางวัฒนธรรม แต่กลับมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับดังกล่าว อีกเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ทางองค์การยูเนสโกจึงคาดหวังว่า ประเทศไทย และชาติสมาชิกอาเซียนที่เหลือ จะเข้าร่วมในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1970 ด้วย
ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของไทยและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กระบวนการส่งคืนโบราณวัตถุเกิดขึ้นอย่างราบรื่น ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างยาวนาน เป็นเวลา 191 ปี สหรัฐฯ มีส่วนช่วยในการผลักดันและสนับสนุนโครงการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงหลายด้าน โดยเฉพาะการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี ระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมื่อ พ.ศ. 2517 ซึ่งผลการขุดค้นในครั้งนั้น ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2535
ทำไมวัตถุโบราณจึงถูกนำไปขายในตลาดมืดได้ง่าย
ด้วยบทบาทผู้นำด้านการต่อต้านการลักลอบขายสินค้าทางวัฒนธรรมของสถานทูตสหรัฐฯ และองค์การยูเนสโกระดับภูมิภาค ผสานกำลังกับการทำงานหนักของกรมศิลปากรและเจ้าหน้าที่ไทยทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง ทำให้โบราณวัตถุอย่าง “ชุดเครื่องปั้นและเครื่องมือดินเผาบ้านเชียง” หรือย้อนไปถึง “โกลเดนบอย” และโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ นับว่ามีกระบวนการส่งคืนที่ราบรื่นกว่ามาก หากเทียบกับโบราณวัตถุที่มีการลักลอบออกจากไทยและถูกนำไปขายในตลาดมืด ซึ่งตกอยู่ในมือของนักค้า-นักสะสมที่แฝงตัวอยู่ทั่วโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลและประชาชนในหลายประเทศ ไม่ได้มองโบราณวัตถุเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ ที่จะมีคุณูปการในด้านการศึกษาวิจัย แต่มองเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่มีการแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และบางประเทศอาจไม่ได้มีกฏหมายควบคุมการขนย้ายทรัพย์สินทางวัฒนธรรม พ่อค้า-นักขายที่กล่าวถึง อาจไม่ต้องแฝงตัวในตลาดมืด แต่เป็นผู้ทรงอิทธิพลในหลายประเทศ ที่สามารถจัดเรียงโบราณวัตถุทั่วโลกไว้ในงานจัดแสดงสินค้า รอให้นักสะสมผู้มั่งคั่งเดินเลือกซื้อได้อย่างสบายใจ
ดังนั้น หากโบราณวัตถุของไทยหลุดรอดสายตาเจ้าหน้าที่และถูกลักลอบขายออกนอกประเทศไปแล้ว กระบวนการเรียกคืนหลังจากนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น หากไทยไม่ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับที่ไทยได้รับคืนโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ไทยมีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่ระบุไม่ให้เอกชนหรือบุคคลครอบครองโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีการกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน ด้านผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการโจรกรรมพระพุทธรูปสำริดเก่าแก่ ศิลปะล้านช้าง ที่หายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แต่ในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ก็ตามกลับคืนมาได้สำเร็จ เนื่องจากพระพุทธรูปยังอยู่ในร้านค้าขายของเก่าที่ประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบและยึดคืน
ไทยจะมีลุ้นได้วัตถุโบราณคืนอีกหรือไม่
นี่คือคำถามแทนใจคนไทยหลายคน ที่ต่างรู้ดีว่าสมบัติของชาติไทยอาจกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ด้านนายพนมบุตร จันทรโชติ เปิดเผยว่า โบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ มีโอกาสที่ไทยจะได้รับคืนมากขึ้น โดยขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานงานกับต่างประเทศ และจะมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 3 เดือน อีกทั้งยังมีข่าวดีให้คนไทยได้ลุ้นรับคืนโบราณวัตถุอีก 2 ชิ้น เป็นประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาฮินดู ที่ถูกนำไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ศิลป์ และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการต่อไป