ประธานาธิบดียุน ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยแถลงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในช่วงกลางดึกโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า โดยอ้างว่าพรรคฝ่ายค้านให้ความเห็นอกเห็นใจแก่เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายรัฐ
ทั้งนี้ ผู้นำเกาหลีใต้ยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะมีการใช้มาตรการใด ๆ ที่จำเพาะเจาะจงหลังจากนี้ แต่มีการอ้างถึงญัตติของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ที่จะยื่นฟ้องร้องอัยการระดับสูง และปฏิเสธข้อเสนอด้านงบประมาณของรัฐบาล
ยุน ซอกยอล กล่าวว่าการกระทำของฝ่ายค้านเป็น พฤติกรรมต่อต้านรัฐบาลที่ชัดเจน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลุกปั่นให้เกิดการก่อกบฏและยังทำให้กิจการของรัฐต้องหยุดชะงัก พร้อมทั้งกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านได้เปลี่ยนรัฐสภาให้กลายเป็นแหล่งอาชญากร ดังนั้น กฎอัยการศึกจึงเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อใช้ในการกำจัด “กองกำลังไร้ยางอาย ที่ต่อต้านรัฐบาลเกาหลีใต้และสนับสนุนเกาหลีเหนือ” เขาให้เหตุผลว่าการตัดสินใจดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อปกป้องเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อรับประกันความยั่งยืนของประเทศ เพื่อส่งต่อประเทศที่มั่นคงไปสู่รุ่นต่อๆ ไป
ทั้งนี้ กฎอัยการศึก คือการประกาศใช้กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาบริหารจัดการแทนเจ้าหน้าที่พลเรือน ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเกิดภาวะสงคราม
สำนักข่าวยอนฮัพรายงานว่า นายลี แจมยอง ผู้นำฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ ออกมาเปิดเผยว่า การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และนายฮัน ดงฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่ประธานาธิบดียุน ซอกยอลสังกัดอยู่ ยังมองว่า การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวเป็นเรื่องที่ "ผิด" และจะยับยั้ง
นอกจากนี้ยังมีรายงานเกิดการประท้วงด้านหน้ารัฐสภา และตะโกนคำว่า ไม่เอากฎอัยการศึก ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ได้ลงมติโหวตยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วเมื่อเวลา 01.00 ของวันที่ 4 ธันวาคมตามเวลาท้องถิ่น หรือ 23 นาฬิกาของวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย โดย 190 จากทั้งหมด 300 เสียง โหวตสนับสนุนการยกเลิกกฎอัยการศึก
เบื้องหลังการประกาศอัยการศึกของยุน ซอกยอล
ยุน ซอกยอลเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2022 เขาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน และชนะเลือกตั้งโดยมีคะแนนทิ้งห่างนายลี มยองแจ เพียงแค่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นผลการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดนับตั้งแต่เกาหลีใต้เริ่มจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในปี 1987
ยุนเจอกับสถานการณ์ความนิยมตกต่ำลงอย่างหนัก เนื่องจากข่าวฉาวต่างๆ โดยเฉพาะ เรื่องอื้อฉาวของภริยา ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เธอเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น และรับสินบนเป็นกระเป๋าแบรนด์เนม โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ยุนออกมาขอโทษต่อเรื่องนี้ และกล่าวว่า ภริยาของเขาควรจะทำตัวให้ดีกว่านี้
นอกจากปัญหาส่วนตัว ยุนยังเผชิญช่วงเวลายากลำบากกับการผลักดันวาระต่างๆผ่านรัฐสภา ซึ่งในเวลานี้ ฝ่ายค้านถือเสียงข้างมาก ส่งผลทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีที่ไม่มีอำนาจ เพราะการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุด พรรคฝ่ายค้านชนะครองที่นั่งในสภาอย่างถล่มทลาย ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถผ่านกฎหมายที่เขาต้องการได้
สัปดาห์นี้ พรรคฝ่ายค้านตัดงบประมาณที่รัฐบาลและพรรคพลังประชาชนต้องการผลักดันให้ผ่าน และกฎหมายงบประมาณดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์วีโต้ หรือยับยั้งได้
นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อน พรรคฝ่ายค้านยังเคลื่อนไหวในการถอดถอนสมาชิกคณะรัฐมนตรี หลักๆคือ หัวหน้าสำนักตรวจเงินแผ่นดิน เพราะล้มเหลวในการสอบสวนสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง
ผู้บัญชาการกองทัพประกาศห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
หลังการประกาศกฎอัยการศึก พลเอกพัค อันซู เสนาธิการกองทัพบก ออกกฤษฎีกาห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสิ้น รวมถึงการประท้วง และการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง โดยประกาศนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 23 นาฬิกาของวันอังคาร (3 ธันวาคม) ตามเวลาท้องถิ่น
พลเอกพัคระบุว่า กฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เพื่อปกป้องประชาธิปไตยเสรีและความปลอดภัยของประชาชนจากกองกำลังต่อต้านรัฐที่คุกคามหวังโค่นล้มประเทศชาติ
กฤษฎีกาดังกล่าวยังมีผลทำให้สื่อมวลชนทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ รวมถึงสั่งให้แพทย์ฝึกหัดที่อยู่ระหว่างการผละงานเวลานี้ ให้รีบกลับเข้าทำงานภายใน 48 ชั่วโมง
สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกจะถูกจับกุมหรือเข้าตรวจค้นได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมาย
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ผู้บัญชาการกองทัพจะเข้ามาดูแลบริหารประเทศ และกิจการด้านกฎหมายในพื้นที่ที่ประกาศใช้ และยังสามารถใช้มาตรการพิเศษในพื้นที่ได้ด้วย เช่น จับกุม บุกจับ ใช้สื่อเมื่อจำเป็น
ภายใต้กฎตัวนี้ ผู้บัญชาการกองทัพจะได้รับการกำกับกูแลจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แต่อยู่ภายใต้ประธานาธิบดีเมื่อกฎอัยการศึกได้รับการประกาศใช้ทั่วประเทศ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น