Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
การหย่าคืออาชญากรรม เกาหลีเหนือส่งคู่หย่าไปชดใช้ความผิดที่ค่ายแรงงาน
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

การหย่าคืออาชญากรรม เกาหลีเหนือส่งคู่หย่าไปชดใช้ความผิดที่ค่ายแรงงาน

19 ธ.ค. 67
16:23 น.
|
225
แชร์

Radio Free Asia รายงานอ้างประชาชนในเกาหลีเหนือว่า ถ้าหากคู่สามีภรรยาหย่าร้างในเกาหลีเหนือ ทั้งคู่จะถูกส่งตัวไปยังค่ายแรงงาน เป็นเวลา 1 ถึง 6 เดือน เพื่อชดใช้ความผิด “อาชญากรรม” ที่ก่อ เพราะการหย่าร้างในเกาหลีเหนือถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่ออุดมการณ์สังคมนิยม และยังคงเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ เพราะยังคงยึดถือค่านิยมขงจื๊ออย่างลึกซึ้ง

การหย่าร้างในเกาหลีเหนือจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสทั้งสองคน รวมถึงต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ในอดีต ฝ่ายที่ยื่นขอหย่าร้างจะได้รับบทลงโทษ แม้ว่าเหตุผลที่หย่าคือถูกทำร้ายร่างกายก็ตาม แต่ปัจจุบันนี้ คู่สมรสทั้งสองคนจะต้องถูกลงโทษเมื่อการหย่าร้างเสร็จสิ้น

แหล่งข่าวในจังหวัดรยาง-กัง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือเปิดเผยว่า เขาเคยไปศาลประชาชนเขตคิมจองซอก และพบว่า มีประชาชน 12 คนขอหย่า และหลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี ทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังค่ายใช้แรงงานทันที

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา การหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศถูกล็อกดาวน์ทั้งหมด และครอบครัวส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ซึ่งความยากจน นำไปสู่ปัญหาการหย่าร้างของหลายคู่

เพื่อป้องกันไม่ให้คู่สมรสหย่าร้างในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ รัฐบาลจึงเริ่มลงโทษคู่รักที่หย่า ก่อนหน้านั้น เมื่อคู่ใดหย่าร้าง เฉพาะคนที่ยื่นเรื่องก่อนจะถูกส่งไปค่ายแรงงาน  แต่ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ทั้งคู่จะถูกส่งตัวไปยังค่ายแรงงาน

การรณรงค์เพื่อสร้างครอบครัวที่กลมเกลียว

ในเดือนมีนาคม 2023 Radio Free Asia เคยรายงานว่า เกาหลีเหนือเริ่มรณรงค์เพื่อป้องกันการหย่าร้าง ซึ่งเริ่มสูงขึ้นในช่วงโควิดระบาด โดยจะเน้นพิเศษไปที่กลุ่มผู้หญิง และมีการบรรยายต่อสมาชิกสหภาพสตรีสังคมนิยมในหัวข้อ “ขจัดปรากฏการณ์การหย่าร้างและสร้างครอบครัวอันกลมเกลียว”

ภายใต้แคมเปญดังกล่าว ยังมีการใช้มาตรการอื่นๆ ทั้งประณามพ่อแม่ของผู้ที่หย่าร้างในที่สาธารณะ และตำหนิเจ้าหน้าที่บริษัทที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออัตราการหย่าร้างในกลุ่มพนักงาน อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าจะมีการรณรงค์นี้ แต่การหย่าร้างก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้รัฐบาลใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงขึ้น

ตัวอย่างเช่น หากเจ้าหน้าที่รัฐหย่าร้าง พวกเขาอาจถูกขับออกจากพรรคแรงงานเกาหลี และสูญเสียสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การเข้าถึงการศึกษา ที่พักอาศัย และงานที่ดีกว่า

บทลงโทษที่ไม่เท่าเทียม

ผู้หญิงที่เคยถูกส่งไปใช้แรงงานในค่ายแรงงานที่จังหวัดพยองอันใต้เล่าว่า ผู้หญิงมักได้รับโทษหนักกว่าผู้ชาย โดยมีผู้หญิงประมาณ 80 คน และผู้ชาย 40 คนถูกคุมขังในค่าย เพราะผู้หญิงมักได้รับโทษที่ยาวนานกว่าผู้ชาย

เธอเล่าว่า คู่รักที่หย่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัย 30 ปี ตามมาด้วยคนในวัย 40 ปี โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการหย่าร้างคือความรุนแรงในครอบครัวจากสามี ซึ่งเกิดจากปัญหาทางการเงิน ผู้หญิงจึงมักเป็นฝ่ายยื่นขอหย่า แต่พวกเธอกลับถูกลงโทษหนักกว่า

สำหรับผู้หญิงที่มีลูกเล็ก พวกเธอได้รับการผ่อนผันให้เดินทางไป-กลับค่ายแรงงานในแต่ละวัน เพื่อดูแลลูกในเวลากลางคืน แต่ต้องมาทำงานในเวลากลางวัน อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า หากรัฐบาลทำเช่นนี้ต่อไป จำนวนคนหนุ่มสาวที่ไม่แต่งงานน่าจะเพิ่มขึ้น และจริงๆแล้วรัฐควรแก้ปัญหาด้วยการแก้วิกฤตเศรษฐกิจมากกว่า

ในขณะเดียวกัน อัตราการหย่าร้างของผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือและมาตั้งถิ่นฐานในเกาหลีใต้ยังคงสูง โดยกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้รายงานว่า ในการสำรวจผู้แปรพักตร์ 2,432 คน พบว่าผู้หญิง 28.7% และผู้ชาย 15.2% หย่าร้าง

แชร์
การหย่าคืออาชญากรรม เกาหลีเหนือส่งคู่หย่าไปชดใช้ความผิดที่ค่ายแรงงาน