CNN เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยทางสิ่งแวดล้อมชิ้นใหม่ ระบุว่า ความร้อนในมหาสมุทรที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวบนแนวปะการัง “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ” ในออสเตรเลียครั้งรุนแรงที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้ทำการสำรวจแนวประการังฟอกขาวดังกล่าว พบว่าปะการังเหล่านั้นได้ตายลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเข้าขั้น “หายนะ” เลยทีเดียว
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ติดตามการเติบโตของปะการังจำนวน 462 แห่งในบริเวณเกาะวันทรี เป็นเวลา 5 เดือนเต็ม เริ่มต้นตั้งเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ออสเตรเลียที่ต้องเผชิญกับวิฤตคลื่นความร้อนสูงสุดหรือ Heat Wave ยาวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน ในช่วงเดือนพฤษภาคม พบว่าปะการัง 370 แห่งเกิดภาวะฟอกขาว และเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ปะการังที่ฟอกขาวก็ตายไป 52 เปอร์เซ็นต์
นักวิจัยพบว่า ปะการังบางชนิดมีอัตราการตายถึง 95 เปอร์เซ็น โดยในช่วงเริ่มต้นของการเสื่อมสลาย กระดูกที่ตายแล้วจะหลุดออกจากปะการังและกลายเป็นเศษหิน และปะการังอีกสปีชีส์หนึ่งที่ชื่อว่า ปะการังหินสี หรือ Goniopora ก็เกิดการติดเชื้อราแถบดำ ซึ่งเข้าไปกัดกินเนื้อเยื่อจนทำให้ปะการังเหล่านั้นตายได้
มาเรีย ไบรน์ ผู้เขียนหลักจากคณะวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อปกป้องแนวปะการังซึ่งไม่เพียงแต่เป็นจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหารและการปกป้องชายฝั่งอีกด้วย ซึ่งพื้นที่ที่ศึกษาอยู่นี้ ได้รับการคุ้มครองของแนวปะการัง ห่างไกลจากชายฝั่งและไม่มีกิจกรรมการขุดแร่และการท่องเที่ยว ดังนั้น ความเสียหายจึงมาจากความร้อนจัดซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่นั่นเอง
แนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์มีพื้นที่เกือบ 133,000 ตารางไมล์ หรือราว 345,000 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่อยู่อาศัยของปลากว่า 1,500 สายพันธุ์ และปะการังแข็ง 411 สายพันธุ์ แนวปะการังนี้สร้างเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับเศรษฐกิจของออสเตรเลียทุกปี โดยส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว และได้รับการส่งเสริมอย่างหนักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในฐานะหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศและของโลก
การฟอกสีจำนวนมากกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ที่เกิดขึ้นทุกๆ สองปี และด้วยเหตุนี้ จึงตอกย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการระดับโลกอย่างเร่งด่วน เพื่อยึดมั่นต่อเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยมลพิษ
ชอว์นา ฟู นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกล่าวว่า การได้เห็นผลกระทบต่อแนวปะการัง โดยเฉพาะการฟอกขาวเป็นวงกว้างมาอย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นเรื่องเลวร้ายมาก อัตราการตายของปะการังและการติดโรคสูงขึ้น โดยเฉพาะปะการังในพื้นที่ห่างไกลเกาะท่องเที่ยวและปราศจากการรบกวนของฝีมือมนุษย์เช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าขั้นวิกฤต