Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ไทยสมรสเท่าเทียม: ช่องทางสมหวังของคู่รักต่างชาติ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ไทยสมรสเท่าเทียม: ช่องทางสมหวังของคู่รักต่างชาติ

25 ม.ค. 68
09:39 น.
|
386
แชร์

“ก่อนหน้านี้ เราก็กำลังตัดสินใจกันอยู่ว่าจะไปจดทะเบียนกันที่ประเทศไหนดี ที่กฎหมายรับรองการแต่งงานเพศเดียวกัน พอเราได้ข่าวว่าเมืองไทยกำลังจะอนุญาตให้มีสมรสเท่าเทียม… ลงตัวเลย!” 

เมื่อพูดประโยคนี้จบ เคเซนเนีย ชาวรัสเซียดีดนิ้วและยิ้มอย่างพอใจ ขณะเล่าให้ Spotlight ฟังว่าทำไมเธอและภรรยาถึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากรัสเซีย และเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จดทะเบียนสมรส เพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างเป็นทางการ

เคเซนเนียและเอเลน่า คู่สมรสชาวรัสเซีย เคเซนเนียและเอเลน่า คู่สมรสชาวรัสเซีย และเพื่อน ๆ ที่มาเป็นพยานรัก

เคเซนเนียและเอเลน่า เป็นชาวรัสเซียที่พำนักอยู่ในพัทยามาเป็นเวลา 8 เดือนแล้ว ด้วยความที่หลงรักอากาศและอาหารของเมืองไทย และเคยเดินทางมาหลายรอบแล้ว จึงตัดสินใจมาทำธุรกิจที่เมืองติดชายทะเล แถมยังเป็นเมืองที่ชาวรัสเซียอยู่กันเยอะ ซึ่งวันพฤหัสที่ 23 มกราคมที่ผ่านมานี้ ทั้งคู่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อมาจดทะเบียนสมรสใน “Marriage Equality สมรสเท่าเทียม” จัดขึ้น ณ พารากอนฮอลล์ พร้อมกับกลุ่มเพื่อนที่มาเป็นพยานรักด้วย

23 มกราคม พ.ศ. 2568 นับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ความเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศก้าวหน้าไปอีกหนึ่งขั้น เนื่องจากเป็นวันแรกที่สมรสเท่าเทียมมีผลทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 บรรยากาศในเขตอำเภอทั่วประเทศมีคู่รัก LGBTQ หลั่งไหลเข้ามาจดทะเบียนสมรสพร้อมกับเพื่อน ๆ และญาติสนิทที่มาร่วมเฉลิมฉลอง ซึ่งมีคู่รักที่มาจดทะเบียนทั่วประเทศ 2,799 คู่ ในจำนวนนี้เป็นคู่สมรสเพศเดียวกัน 1,839 คู่ และมีผู้ที่เดินทางมาจดทะเบียนที่งานสมรสเท่าเทียม ณ สยามพารากอน ทั้งหมด 185 คู่ ซึ่งภาครัฐขนทีมงานมาอำนวยความสะดวกให้ ณ ศูนย์การค้าแห่งนี้ 

ในจำนวนตัวเลขนี้ มีคู่สมรสไม่น้อยเลยที่คนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและอีกคนเป็นคนไทย เช่นเดียวกับคู่ของคุณนพรัตน์ เดวาหมัด และคุณปีเตอร์ เบซิล เดอซูซา ชาวสิงคโปร์ ที่คบหาดูใจและใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมาแล้ว 22 ปี ทั้งคู่ตัดสินใจมาจดทะเบียนสมรสที่สยามพารากอนเช่นกัน และเลือกที่จะจดทะเบียนในวันแรกที่กฎหมายอนุญาตเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เมื่อถามความรู้สึกที่ได้ขยับสถานะทางกฎหมายจากคนโสดสู่คู่สมรส ทั้งคู่รู้สึกดีใจและตื้นตันใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยคาดฝันว่าวันนี้จะมาถึงเสียที และยังมีอีกความรู้สึกหนึ่งคือความรู้สึก “อุ่นใจมากขึ้น” 

“เราก็จะมีความกังวลใจว่า ถ้าเขาเป็นอะไรขึ้นมา เราจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจทางการแพทย์ให้เขาไหม หรือถ้าอีกคนเป็นอะไรไป ทรัพย์สินทางมรดกที่เรามีร่วมกันจะเป็นอย่างไร และก่อนหน้านี้ ผมเองก็มีการซื้อคอนโดด้วย ก็จะติดปัญหาเอกสาร เราก็จะเจอกับความยุ่งยากต่าง ๆ ในเอกสารมาโดยตลอด วันนี้ก็รู้สึกอุ่นใจมากขึ้นครับ ที่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นคู่ชีวิตกันตามกฎหมาย” คุณนพรัตน์กล่าว ก่อนที่จะไปถ่ายภาพคู่พร้อมทะเบียนสมรส กับเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติที่มาเซ็นเป็นพยานให้กับคู่รัก และร่วมเดินพาเหรดพรมแดงสีรุ้งพร้อมกับบรรดาคนดังแนวหน้าในไทยจากทุกวงการ

คุณนพรัตน์ เดวาหมัด และคุณปีเตอร์ เบซิล เดอซูซา ชาวสิงคโปร์ คุณนพรัตน์ เดวาหมัด และคุณปีเตอร์ เบซิล เดอซูซา ชาวสิงคโปร์ คุณนพรัตน์ เดวาหมัด คุณปีเตอร์ เบซิล เดอซูซา ชาวสิงคโปร์  และเพื่อน ๆ ชาวอเมริกันและชาวอินโดนีเซียซึ่งสมรสกันในสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้

เส้นทาง “สมรสเท่าเทียม” ที่ยังต้องสู้ต่อไปในเวทีนานาชาติ

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสในวันนี้ มีปัญหาหรือติดขัดอย่างไรบ้างไหม สำหรับคุณนพรัตน์และคุณปีเตอร์รู้สึกว่าขั้นตอนในวันจดทะเบียน ณ สยามพารากอน เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาไม่ถึง 15 นาทีในการยื่นเอกสาร กรอกข้อมูลและเซ็นเอกสารจนเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน แต่สิ่งที่ยากที่สุดในกระบวนการจดทะเบียนสมรสของทั้งคู่ คือการเตรียมเอกสารในฝั่งของคุณปีเตอร์ โดยเฉพาะใบรับรองสถานะสำหรับการแต่งงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งจะต้องยื่นขอจากสถานทูตสิงคโปร์

“ขั้นตอนที่ยากจริง ๆ คือการขอเอกสารจากสถานทูตสิงคโปร์ เนื่องจากว่ากฎหมายของสิงคโปร์ เขายังไม่รับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งต้องบอกว่าเราเตรียมเอกสารมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก็คือประมาณ 3-4 เดือนเลย และเราก็เพิ่งได้เอกสารจากสถานทูตมาไม่กี่วันมานี้เอง ก็ลุ้นและโทรตามกันอยู่ครับ แต่ก็ต้องขอบคุณทางสถานทูตที่ช่วยอำนวยความสะดวก จนเราสามารถนำเอกสารต่าง ๆ มายื่นในวันนี้ได้”

แม้เส้นทางการต่อสู้ด้านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยจะใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2556 แต่ก็นับว่าเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เนื่องจากประเทศไทยนับเป็นชาติที่ 3 ในเอเชีย และชาติแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ขณะที่สิงคโปร์ก็ขยับตัวมาในทิศทางที่ดีขึ้น โดยรัฐสภาสิงคโปร์ได้ยกเลิกกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายเมื่อปี พ.ศ. 2565 

ความเข้มข้นของสิทธิเสรีภาพด้านความหลากหลายทางเพศที่ไม่เท่ากันนี้เอง เป็นหนึ่งในอุปสรรคของคู่รัก LGBTQ ต่างชาติที่อยากจะเข้ามาจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย สอดคล้องกับข้อมูลของ คุณจิตวิภา เบญจศีล ผู้อำนวยการกองสังคม กรมองค์กรระหว่างประเทศ ที่กล่าวในเวทีเสวนา “เช็กความพร้อม: สมรสเท่าเทียมและก้าวต่อไป” ระบุว่าบางประเทศยังมีกฎหมายที่ลงโทษประชาชนด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ หรือมีการเลือกปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม คุณจิตวิภาเปิดเผยว่า ความคืบหน้าในไทยที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปีที่แล้ว สร้างบทบาทผู้นำในการขับเคลื่อนสิทธิเสรีภาพในเวทีระหว่างประเทศ โดยไทยเป็นชาติแรกในเอเชีย ที่ได้อยู่ในกลุ่ม Equal Rights Coalition (ERC) บนเวทีพหุภาคีของสหประชาชาติ ทำหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทวงต่างประเทศและสถานทูตต่าง ๆ ยังพร้อมให้การอำนวยความสะดวกแก่คู่รัก LGBTQ ต่างชาติทุกคู่ที่ต้องการจดทะเบียนสมรสในไทย 

เวทีเสวนา “เช็กความพร้อม: สมรสเท่าเทียมและก้าวต่อไป”

กฎหมายผ่านได้ เพราะสังคมไทยมีความพร้อม

เคเซนเนียและเอเลน่า เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากรัสเซียทั้งคู่ แม้คนใดคนหนึ่งไม่ใช่คนไทย แต่กฎหมายก็อนุญาตให้พวกเขาแต่งงานกันได้ในดินแดนแห่งนี้ได้ หากเทียบกับกับกฎหมายและสังคมของประเทศรัสเซีย ที่นี่น่าจะทำให้พวกเขาแสดงความรักต่อกันได้อย่างเปิดเผยและสบายใจกว่าประเทศบ้านเกิด ซึ่งสำนักข่าวเอพี รายงานว่า รัฐบาลรัสเซียได้ออกกฎหมายการห้าม "การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เป็นไปตามขนบธรรมเนียม" ในปีพ.ศ. 2565 ส่งผลให้กิจกรรม LGBTQ+ ในที่สาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และในปีเดียวกันนั้นเอง มีการจับกุมตัวคู่รักเพศเดียวกันที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านกฎหมายเลือกปฏิบัติดังกล่าว

นอกจากด้านกฏหมายไทยที่อนุญาตให้เคเซนเนียและเอเลน่าเป็นคู่ชีวิตกันได้แล้ว สังคมไทยยังโอบรับและพร้อมให้ความช่วยเหลือด้วย โดยส่วนใหญ่คู่รักต่างชาติที่มาจดทะเบียน จะมีฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย จึงสื่อสารและแปลภาษากันได้สะดวกกับเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับคู่รักชาวรัสเซียคู่นี้ไม่ได้มีล่ามแปลภาษามาด้วย และไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ แต่โชคดีที่ได้คุณเปรมปรีดา ปราโมช นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงเพื่อน ๆ ของเธอตั้งใจมาร่วมงานในวันนี้ เพื่อเป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือในการเซ็นเป็นพยานสำหรับคู่รักที่ไม่มีเพื่อนหรือญาติมาด้วย และเธอได้กลายมาเป็นล่ามอาสา ช่วยแปลภาษาระหว่างคู่รักกับเจ้าหน้าที่ ทำให้การจดทะเบียนของพวกเขาในวันนี้สะดวกขึ้นมาก 


เรื่องราวมุมเล็ก ๆ ข้างต้นเป็นสิ่งสะท้อนว่าสังคมไทยยอมรับและให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ รวมถึงคุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองและเสรีภาพ มองว่าสังคมไทยให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น หากเทียบกับเมื่อ 15 ปีก่อน คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของการไม่เลือกปฏิบัติ  บวกกับภาครัฐที่ไฟเขียวในเรื่องขั้นตอนการแก้กฎหมาย และภาคเอกชนที่พร้อมปรับตัวในเรื่องสิทธิของ LGBTQ ในองค์กร โดยเฉพาะการมอบสวัสดิการต่าง ๆ เมื่อทุกภาคส่วนมองไปในทิศทางเดียวกันเช่นนี้ ทำให้วันนี้ไทยมี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ในที่สุด


แชร์
ไทยสมรสเท่าเทียม: ช่องทางสมหวังของคู่รักต่างชาติ