เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เสนอแก้ไขพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เนื้อหาหลัก ๆ คือการเพิ่มโทษให้ธนาคารและค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบ หากลูกค้าได้รับความเสียหายจากการโดนตุ้มตุ๋นทางออนไลน์ ชวนให้คิดว่าบทลงโทษในกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ของประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง และมีประเทศไหนบ้างที่บทลงโทษนับว่ารุนแรงอันดับต้น ๆ ของโลก
บทลงโทษสำหรับอาชญากรรมทางไซเบอร์นั้นแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ เนื่องจากไม่มีมาตรฐานสากลที่ตกลงกันในเรื่องนี้ สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีบทลงโทษที่ไม่รุนแรง โดยพระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดบทลงโทษไว้ในหมวด 4 ดังนี้
มาตรา 70 ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูล คอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่บุคคลใด ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 72 ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลของผู้ใช้บริการ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม มีหลายประเทศที่มีบทลงโทษสำหรับอาชญากรรมทางไซเบอร์รุนแรงกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เข้มงวดที่สุดในโลก โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี สำหรับการกระทำผิดบางประเภท เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต การขโมยข้อมูล หรือการเผยแพร่ไวรัสคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ อาชญากรรมทางไซเบอร์บางประการยังสามารถถูกตีความเป็นภัยก่อการร้ายได้ โดยเฉพาะการมุ่งเป้าโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอาจมีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับสูงสุดมากถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 33.8 ล้านบาท นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีกฎหมายที่เรียกว่า "Computer Fraud and Abuse Act" หรือ CFAA ซึ่งอนุญาตให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดทางไซเบอร์นอกประเทศสหรัฐอเมริกาได้ด้วย
อีกหนึ่งประเทศที่มีกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เข้มงวดเช่นกัน นั่นคือสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องด้วยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลคุมเข้มการใช้อินเตอร์เน็ตของประชาชนอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว บทลงโทษสำหรับอาชญากรที่กระทำความผิดจึงเกี่ยวโยงกับความมั่นคงของรัฐบาล โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี เช่น การโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตราย รวมถึงการหลอกลวและต้มตุ๋นทางออนไลน์ ล่าสุด ทั้งนี้ กฎหมายต่อต้านการจารกรรมของจีนมีการแก้ไขใหม่และมีผลบังคับใช้ โดยมีบทลงโทษที่รุนแรง อาจถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต สำหรับผู้ที่กระทำความผิดในด้านการจารกรรมข้อมูลของรัฐบาล นอกจากนี้ มีการเพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมไซเบอร์
รัสเซียมีกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิด ซึ่งความผิดบางประการที่ร้ายแรง ได้แก่ การแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ การขโมยข้อมูล หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตราย สำหรับโทษปรับจะอยู่ระหว่าง 200,000 รูเบิล ถึง 1 ล้านรูเบิล หรือประมาณ 68,000 - 343,000 บาท รวมถึงผู้กระทำผิดอาจถูกสั่งให้ทำงานบริการสังคมเป็นเวลาหลายชั่วโมงและถูกจำกัดสิทธิบางประการ เช่น ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ รัสเซียยังมีหน่วยงานพิเศษที่เรียกว่า "หน่วยงานต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์" ซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทางไซเบอร์
เยอรมนีมีกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี สำหรับความผิดในการรบกวนระบบคอมพิวเตอร์ การเผยแพร่ไวรัสคอมพิวเตอร์ และการใช้คอมพิวเตอร์ในการก่ออาชญากรรม และเยอรมนีให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลเป็นอย่างมาก จึงมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Bundesdatenschutzgesetz - BDSG) แยกออกมาด้วย การกระทำผิดเช่น บริษัทที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นให้กับบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล ซึ่งมีโทษปรับสูงสุด 20 ล้านยูโร หรือราว 700 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากจีนแล้ว ในฝั่งเอเชียมีประเทศญี่ปุ่น ที่มีกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ค่อนข้างรุนแรง กำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี สำหรับการกระทำผิดบางประเภท เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต การขโมยข้อมูลของรัฐบาล หรือการเผยแพร่ไวรัสคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายที่เรียกว่า "Personal Information Protection Act" ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเดียวกับเยอรมนี มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำผิด เช่น โทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (ราว 230,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการกระทำที่ร้ายแรง เช่น การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีความเข้มงวดในกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ ต้องยกให้สิงคโปร์ ที่สร้างบทลงโทษรุนแรงที่สุดในภูมิภาคนี้ กฎหมายของสิงคโปร์ครอบคลุมอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต การฉ้อโกงทางออนไลน์ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตราย การละเมิดลิขสิทธิ์ การหมิ่นประมาททางออนไลน์ เป็นต้น ความน่าสนใจของบทลงโทษอาชญากรรมทางไซเบอร์ในสิงคโปร์ คือการเฆี่ยนตี เนื่องจาการลงโทษทางร่างกายเป็นหนึ่งในบทบัญญัติตามกฎหมายของสิงคโปร์ด้วย แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการเฆี่ยนจะไม่ใช่บทลงโทษสำหรับการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ แต่ก็อาจถูกนำมาใช้ในบางกรณีที่ศาลเห็นว่าเหมาะสม