"ผมมาที่นี่โดยไม่คิดอะไรมาก แต่ตอนนี้เริ่มรู้สึกประหม่าแล้ว หัวใจเต้นแรงเลยครับ"
มู จิน ชายโสดเกาหลีใต้วัย 32 ปี มาร่วมงาน Speed dating เป็นครั้งแรก เพราะอยากลองเสี่ยงหาคู่ชีวิตที่เข้ากันได้ ภายในงานบรรยากาศรื่นเริงแต่แฝงไปด้วยความโรแมนติก ชายโสดและหญิงโสดวัยเดียวกัน 110 คน จะถูกจับคู่แบบสุ่ม พวกเขาจะได้คุยกันสั้น ๆ ไม่กี่นาที ก่อนจะต้องสลับคู่ต่อไป แต่หากคุยกันถูกคอ ก็จะได้จับคู่และไปเดตกันต่อ งาน “เดทแบบด่วน” เช่นนี้มักจัดโดยบริษัทจัดหาคู่ แต่สำหรับเมืองซองนัม ของเกาหลีใต้ มี “รัฐบาลเกาหลี” เป็นเจ้าภาพ สวมบทกามเทพแผลงศร เพื่อกระตุ้นให้เกิดคู่รักใหม่ ๆ นำไปสู่การแต่งงานและมีลูกช่วยชาติ!
เกาหลีใต้ ไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกที่ประสบปัญญาคู่รักแต่งงานใหม่น้อยลง จนทำให้อัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ในขั้นวิกฤต สถิติการแต่งงานใหม่ของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปี ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าที่อยู่อาศัย ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้หลากคนเลือกที่จะครองโสดแบบไม่เดือดร้อนดีกว่า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและค่านิยมใหม่ ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องแต่งงานเพื่อพึ่งพาสามีทางด้านการเงินเหมือนในอดีต ส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีความคาดหวังที่สูงขึ้นเกี่ยวกับการแต่งงาน ทั้งในด้านความรัก ความเข้าใจ และความเท่าเทียม ทำให้การหาคู่ครองที่เหมาะสมเป็นเรื่องยาก
CCTV ของจีน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจีนมีคนโสดมากถึง 260 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 18.57 ของประชาการทั้งหมด โดยคนโสดเหล่านี้อาศัยอยู่คนเดียวประมาณ 90 กว่าล้านคน และคาดว่าประชากรคนโสดของจีนในอนาคตอันใกล้จะสูงถึง 400 ล้านคน เนื่องจากคนหนุ่มสาวหันมาครองตัวเป็นโสดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือนของจีน ตัวเลขคู่แต่งงานใหม่ในปี 2024 ที่มีคู่แต่งงานใหม่เพียง 6.10 ล้านคน นับว่าเป็นอัตราการแต่งงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี
อัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นก็มีความน่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดสูงที่สุดในเอเชีย และอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยอยู่ที่ราว 15.5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ สำนักข่าวNHK ของญี่ปุ่นรายงาน ผลสำรวจของรัฐบาลพบว่า ในปี 2023 มีจำนวนคู่แต่งงานต่ำกว่า 500,000 คู่ และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีกทุกปี ขณะที่สำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่าปี 2023 คู่รักแต่งงานใหม่ในเกาหลีใต้อยู่ที่ 974,000 คู่ เป็นครั้งแรกที่จำนวนคู่รักแต่งงานใหม่ในเกาหลีใต้ลดต่ำกว่า 1 ล้านคู่ นับตั้งแต่สำนักงานสถิติเกาหลีเริ่มบันทึกสถิติในปี 2015
ปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นสร้างความฮือฮาด้วยการออกมาตรการแจกเงินให้กับสาวโสดชาวญี่ปุ่นในโตเกียว ที่ไปแต่งงานกับชายหนุ่มต่างจังหวัด และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2025 นี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาประชากรลดลง และลดความแออัดของชุมชนเมืองหลวง ภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลจะขยายขอบเขตโครงการอุดหนุนที่มีอยู่เดิมสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น โดยเพิ่มวงเงินสนับสนุนสูงสุดเป็น 1 ล้านเยน (ประมาณ 240,000 บาท) สำหรับผู้ที่ย้ายออกจาก 23 เขตของกรุงโตเกียว นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากโตเกียวไปยังพื้นที่ชนบทเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ และมอบเงินอุดหนุนเพิ่มเติมหากสตรีเหล่านั้นตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ชนบทอย่างถาวร
รัฐบาลจีนก็เป็นสายเปย์ไม่แพ้กัน ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่ออกมาตรการจูงใจแตกต่างกันออกไป เช่น เมืองหลู่เหลียง มณฑลส่านซี เสนอเงิน 1,500 หยวน หรือประมาณ 7,000 บาทให้กับคู่รักที่จูงมือกันมาจดทะเบียนสมรส นับว่าเป็นเงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลียของแรงงานจีนในชนบท ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับคู่รักที่มีบุตร จะได้รับเงินมากกว่าการแต่งงานเสียอีก หากมีบุตรคนแรก รับไปเลย 2,000 หยวน (9,300 บาท) บุตรคนที่สอง รับ 5,000 หยวน (23,000 บาท) และบุตรคนที่สาม จะได้รับ 8,000 หยวน (37,000 บาท) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดต่ำลงจนเข้าขั้นวิกฤต ทั้งนี้ กระแสตอบรับเป็นไปแบบเกินคาด เพราะมีคู่รักหลั่งไหลมาจดทะเบียนจนเงินที่เตรียมแจกไม่เพียงพอต่อความต้องการ
รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศแผนที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่คู่รักที่แต่งงานใหม่สูงสุด 300 ล้านวอน (ราว 8 ล้านบาท) โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งคู่ต้องทำงานและมีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับคู่แต่งงานใหม่และครอบครัวที่มีบุตร เช่น เงินช่วยเหลือค่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูบุตร และค่าการศึกษา
นอกจากสิทธิพิเศษทางการเงินแล้ว รัฐบาลแต่ละประเทศยังออกนโยบายให้สวัสดิการพิเศษกับคู่รักที่แต่งงานใหม่และมีลูกด้วย
รัฐบาลจีนใจดีจัด:
รัฐบาลญี่ปุ่นให้เต็มที่:
รัฐบาลเกาหลีใต้หนุนสุด ๆ: