ถ้าหากใครติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเรื่อย ๆ ประเด็นหนึ่งที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) มักนำมาใช้โจมตี ‘กมลา แฮร์ริส’ (Kamala Harris) อยู่เสมอ คือประเด็นที่ว่าถ้าหากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี เธอจะแบน ‘Fracking’ ซึ่งเป็นการขุดเจาะน้ำมันรูปแบบหนึ่งในสหรัฐฯ และเรื่องนี้อาจทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวหลายแสนคนต้องตกงาน
ประเด็นดังกล่าวทำให้แฮร์ริสร้อนจนต้องออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เธอไม่คิดจะแบน Fracking ในสหรัฐฯ อย่างที่ทรัมป์กล่าวอ้าง แม้ว่าในปี 2019 เธอจะเคยพูดจริง ๆ ว่าจะแบนการขุดเจาะน้ำมันในรูปแบบนี้ก็ตาม
แล้ว Fracking คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่แฮร์ริสไม่กล้าเห็นต่าง บทความนี้จะพาไปหาคำตอบ
ก่อนจะอธิบายว่า Fracking คืออะไร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อน คือนอกจากบ่อน้ำมันใต้ดินแล้ว โลกของเรายังมีทรัพยากรน้ำมันในอีกรูปแบบหนึ่งคือ Shale Oil และ Shale Gas หรือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แทรกอยู่ในชั้นหินดินดาน ซึ่งไม่สามารถดูดขึ้นมาใช้งานด้วยวิธีการเดียวกับการขุดเจาะน้ำมันทั่วไปได้
ปัจจุบัน มีการค้นพบแหล่ง Shale Oil และ Shale Gas 95 แห่ง ครอบคลุม 41 ประเทศ ซึ่งมีขนาด 350,000 ล้านบาร์เรล และ 7,300 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ โดยคิดเป็น 10% ของปริมาณสำรองน้ำมันดิบ และ 32% ของปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติทั่วโลก และประเทศที่มีทรัพยากร Shale Oil หรืออีกชื่อคือ Tight Oil ในชั้นหินมากที่สุดในโลกก็คือ ‘สหรัฐอเมริกา’
ข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าในปี 2015 สหรัฐฯ มีทรัพยากร Shale Oil 78,200 ล้านบาร์เรล โดยคิดเป็น 18.7% ของทรัพยากร Shale Oil ทั้งหมดของโลก รองลงมาคือรัสเซีย 74,600 ล้านบาร์เรล และจีน 32,200 ล้านบาร์เรล โดยคิดเป็น 17.8% และ 7.7% ของทรัพยากร Shale Oil ทั้งหมดของโลก (ตามลำดับ)
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ไม่สามารถนำ Shale Oil มาใช้งานได้ เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอในการขุดเจาะ แต่เมื่อมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ความเสี่ยงด้านพลังงานก็มีมากขึ้น สหรัฐฯ จึงพยายามนำทรัพยากรของตัวเองออกมาใช้
ในปี 2008 สหรัฐฯ ก็สามารถคิดค้นวิธีนำ Shale Oil และ Shale Gas ออกมาในปริมาณมากได้สำเร็จ ซึ่งวิธีนั้นก็คือ ‘Hydraulic Fracturing’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘Fracking’ เป็นเทคนิคการสกัดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน ด้วยการใช้เครื่องมือเจาะลึกลงไปใต้พื้นดินประมาณ 10,000 ฟุตในแนวตั้ง และเจาะในแนวขนานออกไปอีกหลายไมล์ แล้วใช้แรงดันสูงในการฉีดน้ำ ทราย และสารเคมี เข้าไปในแนวแตกที่เจาะไว้เพื่อทำให้หินแตกร้าว เพื่อให้ปล่อยน้ำมันและก๊าซที่ติดอยู่ในชั้นหินออกมา
อุตสาหกรรม Fracking ช่วยเปลี่ยนสถานะของสหรัฐฯ จาก ‘ผู้นำเข้า’ ให้กลายเป็น ‘ผู้ส่งออก’ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก โดยข้อมูลจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เปิดเผยในปี 2019 ระบุว่าการเติบโตของอุตสาหกรรม Fracking ช่วยเพิ่ม GDP ของสหรัฐฯ ราว 10% ในช่วงระหว่างปี 2010 - 2015 เนื่องจากการลดราคาพลังงานภายในประเทศ ขณะที่รายงานจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ระบุว่าหากไม่มีอุตสาหกรรม Fracking ราคาน้ำมันและก๊าซของผู้บริโภคอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
การเติบโตของอุตสาหกรรม Fracking ในสหรัฐฯ ยังเป็นการสร้างงานให้กับประชากรหลายแสนคนในประเทศ โดยเฉพาะรัฐที่มีแหล่ง Shale Oil และ Shale Gas มาก เช่น เพนซิลเวเนียและเท็กซัส ซึ่งเป็นรัฐสมรภูมิ (Swing State) ที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องกอดคะแนนเสียงไว้ให้แน่นที่สุด
จากข้อมูลเหล่านี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าอุตสาหกรรม Fracking มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมาก จนทำให้แฮร์ริสไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นต่างมากนักในช่วงเวลานี้ แม้ว่าเธอจะสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด และต่อต้าน Fracking เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นวิธีการขุดเจาะน้ำมันที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณสูง ความเสี่ยงที่จะทำให้แหล่งน้ำโดยรอบปนเปื้อน และทำให้เกิดแผ่นดินไหว
ผลกระทบของอุตสาหกรรม Fracking ขัดแย้งโดยตรงกับนโยบายด้านพลังงาน และการปกป้องสภาพภูมิอากาศของพรรคเดโมแครต ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานของสหรัฐฯ ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2035 และเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิภายในปี 2050
การที่แฮร์ริสไม่กล้าแสดงความเห็นต่างมากนัก กำลังสะท้อนความท้าทายของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงานมักจะเจอแรงต้านอยู่เสมอ เนื่องจากทำให้คนกลุ่มใหญ่เสียประโยชน์นั่นเอง