เปิดฉากเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งกับการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 29 (COP29) โดยในปีนี้จัดขึ้นที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ภายใต้ธีมหลัก “In Solidarity for a Green World” ความสามัคคีเพื่อโลกสีเขียว แต่ดูเหมือนว่า การจัดงานในปีนี้จะเต็มไปด้วยดรามา เมื่องานที่ควรจะสนับสนุนพลังงานสะอาด กลับมีเจ้าภาพที่เป็นประเทศส่งออกน้ำมันแนวหน้า แถมกลุ่มผู้นำใน COP29 ยังอ้าแขนรับการลงทุนในพลังงานฟอสซิลและน้ำมัน
ประธานที่ประชุม COP29 ในปีนี้คือ มุกตาร์ บาบาเยฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งประวัติการทำงานของเขาก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เนื่องจากเขาเคยดำรงตำแหน่งด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศและการตลาด ของ SOCAR ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่ดำเนินการโดยรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน
นอกจากนี้ ยังมีคลิปวีดิโอของซีอีโอ COP29 เอลนัวร์ ซอลตานอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน หลุดออกมาในขณะที่เขากำลังดีลให้นายทุนกลุ่มหนึ่งลงทุนกับบริษัท SOCAR อีกด้วย โดยในคลิปเขากล่าวว่า “เรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านท่อส่งก๊าซจำนวนมาก เรามีแหล่งก๊าซจำนวนมากที่ต้องพัฒนา เรามีโครงการสีเขียวมากมายที่ SOCAR ให้ความสนใจ เราสามารถสร้างโครงการร่วมกันได้มากมาย SOCAR ซื้อขายน้ำมันและก๊าซทั่วโลก รวมถึงในเอเชียด้วย ดังนั้น สำหรับผม สิ่งเหล่านี้คือโอกาส ถ้าคุณอยากพูดคุยกับ SOCAR ล่ะก็ ผมก็สามารถติดต่อให้เกิดการหารือกันได้”
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า คลิปวีดิโอดังกล่าว มาจากการทำงานของ Global Witness องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเปิดโปงการคอร์รัปชั่นและปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยหน่วยงานได้จัดฉากเป็นบริษัทน้ำมันปลอม และให้ไซมอน โรช ผู้สื่อข่าวฝ่ายสืบสวน แกล้งทำเป็นสนใจที่จะลงทุนกับ SOCAR จนได้หลักฐานการเป็นตัวกลางเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทน้ำมัน
ด้านไซมอน โรช ผู้สื่อข่าวฝ่ายสืบสวน เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า เขาไม่ได้รู้สึกประหลาดใจเกี่ยวกับการดีลลูกค้าให้บริษัทน้ำมัน แต่ที่น่าประหลาดใจคือ นี่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ที่กลุ่มผู้นำใน COP พยายามเอื้อประโยชน์ให้เกิดโครงการซื้อขายเชื้อเพลิงฟอสซิลภายใต้งาน COP ที่ทุกคนควรมาหารือกันเกี่ยวกับการปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลก
กรณีที่คล้ายกันนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการประชุม COP28 เมื่อปีที่แล้ว สุลต่าน อัลจาเบอร์ ประธาน COP 28 ยังทำงานเป็นหัวหน้าของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบีที่ดำเนินการโดยรัฐ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติว่า อาจจะไม่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ใด ๆ และยังเป็นช่องทางให้เกิดดีลธุรกิจข้ามชาติด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลและน้ำมันอีกด้วย
COP29 ไปต่อหรือพอแค่นี้? เมื่อผู้นำทั่วโลกไม่เอาด้วย
นอกเหนือจากประเทศเจ้าภาพที่ถูกตั้งคำถามจากทั่วโลกอย่างหนักแล้ว ยังมีเรื่องของตัวแทนจากประเทศสมาชิกที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมลดโลกร้อนในครั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนอะไรบางอย่าง มาดูกันว่ามีผู้นำจากประเทศใดบ้าง ที่ยืนยันไม่เข้าร่วมเวทีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ถือเป็นตัวแทนจากประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีสิ่งแวดล้อมระดับโลก แต่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นในอาเซอร์ไบจาน โดยอ้างว่า ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและประเทศเจ้าภาพ มีความตึงเครียดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสประณามการโจมตีทางทหารของอาเซอร์ไบจานต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอาร์เมเนียในภูมิภาคคาราบัคที่แยกตัวออกไป
ผู้นำของมหาอำนาจยุโรปอีกประเทศหนึ่ง ที่จะไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวคือ โอลาฟ ช็อลทซ์ของเยอรมนี ซึ่งก่อนหน้านี้ มีกำหนดการที่จะเข้าร่วมประชุม COP29 แต่ล่าสุดก็ออกมาประกาศว่า จะไม่เข้าร่วมการประชุมแล้ว เนื่องจากประสบปัญหาการเมืองภายใน หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลของเขาล่มสลาย
นอกจากนี้ ผู้นำอีกหลายประเทศก็จะไม่เข้าร่วมการประชุม COP29 ด้วยเหตุผลภายในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เนื่องจากเพิ่งแพ้การเลือกตั้งและเตรียมเปลี่ยนผ่านอำนาจ, นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด, ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
ขณะที่ผู้นำปาปัวนิวกินี นายกรัฐมนตรี เจมส์ มาราเป ประกาศว่า ปาปัวนิวกินีจะไม่เข้าร่วมการประชุม COP29 เพื่อแสดงจุดยืนในการประท้วงประเทศมหาอำนาจใหญ่ ๆ ที่ไม่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ด้านจัสติน แทคคาเชนโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยืนยันว่า จะไม่มีการเดินทางไปร่วมประชุม พร้อมกล่าวว่า “ปาปัวนิวกินีจะไม่ยอมทนต่อคำสัญญาที่ลมๆ แล้งๆ และการเพิกเฉยอีกต่อไป”