พบการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะ คาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

16 พ.ค. 67

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า พบการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะ พร้อมเผยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

วันที่ 16 พ.ค. 67 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า "พบการลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะรอบนี้ บริเวณจุดบนดวงอาทิตย์ AR3664

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็น แสงออโรรา จำนวนมาก สืบเนื่องมาจาก พายุสุริยะ ที่รุนแรง ซึ่งต้นกำเนิดของพายุนั้น มาจากจุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 ซึ่งเป็นจุดบนดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ และล่าสุดบริเวณดังกล่าวบนดวงอาทิตย์ได้เกิดการลุกจ้าที่เรียกได้ว่า รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การลุกจ้านี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดแสงออโรราแบบอลังการอีกครั้งแต่อย่างใด

จุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 (AR ย่อมาจาก Active Region) เกิดการปะทุมาหลายวันแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 (ตามเวลาประเทศไทย) ได้เกิดการลุกจ้าในระดับ X5.8 ตามมาด้วยการลุกจ้าครั้งใหญ่ 3 ครั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ระดับ X1.7, X1.3 และ X8.8 ซึ่งครั้งหลังสุดเป็นการลุกจ้าครั้งที่รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle)

ครั้งนี้การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (Solar flare) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ที่ปะทุปลดปล่อยรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครั้งใหญ่จากพื้นผิวบริเวณที่มีจุดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งแบ่งประเภท ตั้งชื่อตามตัวอักษร เป็นระดับ A (อ่อนสุด), B, C, M และ X (รุนแรงสุด) โดยตัวเลข 1 ถึง 10 ข้างหลังตัวอักษรบอกประเภทบ่งชี้ถึงความรุนแรงเช่นกัน เช่น การลุกจ้าระดับ X1 จะเบากว่าระดับ X9

การลุกจ้ารุนแรงที่สุดบนดวงอาทิตย์

ศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) กล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 ได้ลุกจ้าขึ้นในช่วงรังสีเอ็กซ์ในขณะที่ดวงอาทิตย์หันจุดดังกล่าวไปทางขอบทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการลุกจ้าระดับ X8.8 ซึ่งนับเป็นการลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดในวัฏจักรสุริยะรอบนี้

การลุกจ้าที่มีความรุนแรงถึงระดับ X8.8 ยังทำให้หลายคนคาดหวังว่าอาจเกิดแสงออโรราในบริเวณละติจูดที่ต่ำกว่าปกติแบบที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่าน แต่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าการลุกจ้าครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดแสงออโรราในบริเวณละติจูดที่ต่ำกว่าปกติ โดยในคำประกาศจากศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศของ NOAA กล่าวว่า “การพ่นมวลโคโรนา (CME) ที่เกิดขึ้นร่วมกับการลุกจ้าครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบทางสนามแม่เหล็กต่อโลกมากนัก”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการลุกจ้ารุนแรงบนดวงอาทิตย์ สิ่งที่ตามมาคือความเป็นไปได้ที่จะเกิด “การดับหายของสัญญาณคลื่นวิทยุ” (Radio blackout) บนโลกฝั่งที่ได้รับแสงอาทิตย์

ซึ่งเว็บไซต์ SpaceWeather.com รายงานว่า จุดบนดวงอาทิตย์ AR3664 อาจเชื่อมโยงกับการดับหายของสัญญาณคลื่นวิทยุที่ความถี่ 20 เมกะเฮิรตซ์ ที่เกิดขึ้นที่ออสเตรเลียและแถบเอเชียตะวันออก

เมื่อดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเองหันจุดบนดวงอาทิตย์ไปทางขอบฝั่งตะวันตก (ในมุมมองจากโลก) จะเป็นจังหวะที่เชื่อมต่อกันทางแม่เหล็กระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก ซึ่ง “ลมสุริยะ” หรือกระแสอนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์ จะถูกเร่งจนมีอัตราเร็วสูง และหมุนวนออกมาในวิถีโค้ง เรียกว่า “Parker spiral”

วิถี Parker spiral ซึ่งเป็นวิถีโค้งวนออกมาจากดวงอาทิตย์ไปยังห้วงอวกาศรอบนอก (รวมถึงโลก) เป็นผลจากสนามแม่เหล็กระหว่างดาวเคราะห์ (Interplanetary magnetic field : IMF) ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ (ผ่านลมสุริยะ) เหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ซับซ้อนในห้วงอวกาศรอบๆ แล้วเมื่อดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเองไปด้วย กระแสลมสุริยะจะเกิดการหมุนวนตามดวงอาทิตย์ที่หมุนรอบตัวเองไปพร้อมกับการกระจายตัวสู่อวกาศ จนมีรูปแบบการแผ่ออกมาเป็นโครงสร้างรูป spiral (คล้ายรูปขดก้นหอย) และเหนี่ยวนำให้สนามแม่เหล็กระหว่างดาวเคราะห์มีการหมุนวนในแบบ spiral ตามไปด้วย

เมื่ออนุภาคมีประจุในลมสุริยะเดินทางมาปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก อนุภาคเหล่านี้จะหมุนวนเข้ามายังบริเวณขั้วแม่เหล็กของโลก (ซึ่งใกล้กับบริเวณขั้วโลก) จนเกิดอันตรกิริยากับบรรยากาศโลกในพื้นที่แถบขั้วโลก และเกิดผลกระทบต่อการส่งสัญญาณคลื่นวิทยุช่วงความยาวคลื่นสั้น รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุของเครื่องบินที่บินผ่านแถบขั้วโลก"


ขอบคุณข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด