จ่อรื้ออาคารที่พักสงฆ์ สร้างคร่อมทับโบราณสถานอายุพันปี

13 มิ.ย. 67

จ่อรื้ออาคารที่พักสงฆ์ สร้างคร่อมทับโบราณสถานอายุพันปี หลังชาวบ้านออกโรงทวงคืน ปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน ชี้เป็นบทเรียนสำคัญ 

จากกรณีชาวบ้านใน อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา รวมตัวทวงคืนปราสาทหินโบราณอายุนับพันปี หลังจากที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทได้เข้ามาใช้พื้นที่โบราณสถาน สร้างอาคารปฏิบัติธรรม คร่อมทับลงกลางตัว ปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน 

ซึ่งชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ จนกรมศิลปากร มีคำสั่งลงวันที่ 29 ก.ย. 65 ให้รื้ออาคารศาลาปฏิบัติธรรมที่ปลูกสร้างในพื้นที่โบราณสถานออก เพราะก่อสร้าง โดยไม่ขออนุญาต อธิบดีกรมศิลปากร แต่ที่พักสงฆ์ได้ยื่นร้องอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองชั้นต้น จนมีการทุเลาคำสั่งของกรมศิลปากร ทำให้เรื่องพิพาทยืดเยื้อออกไป และต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 67 ระงับคำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองชั้นต้น ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

จ่อรื้ออาคารที่พักสงฆ์ สร้างคร่อมทับโบราณสถานอายุพันปี

ล่าสุดวันที่ 13 มิ.ย. 67 นายทศพร ศรีสมาน ผอ.สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวว่า โดยหลักการ ตัวโบราณสถาน ปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน มีลักษณะเป็นปราสาท 3 หลัง เมื่อมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ทับลงไป ย่อมจะต้องมีการเคลื่อนย้ายหิน หรือสิ่งก่อสร้างเดิมออกจากตัวโบราณสถาน 

และจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า ชิ้นส่วนของหินที่ใช้ในการก่อสร้างโบราณสถาน ถูกเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งเดิมชัดเจน แต่ด้วยปริมาณหินที่มีจำนวนมาก จึงยังไม่สามารถลงรายละเอียดในตอนนี้ได้ว่าเป็นชิ้นส่วนของโครงสร้างปราสาทในจุดใด แต่เรามีภาพถ่ายในอดีตมาให้ดูประกอบ ส่วนเรื่องโบราณวัตถุที่สูญหาย ตั้งแต่สำนักศิลปากรที่ 10 เข้าไปตรวจสอบ จะมีบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายออกมาจากที่เดิมหรือไม่ ยังไม่แน่ชัด เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานหลายปีแล้ว ซึ่งการบูรณะโบราณสถาน จะต้องรองบประมาณก่อนว่า จะพิจารณาอนุมัติลงมาเมื่อใด 

จ่อรื้ออาคารที่พักสงฆ์ สร้างคร่อมทับโบราณสถานอายุพันปี

ส่วนระยะเวลาในการบูรณะ มีขั้นตอนดำเนินการ เริ่มจากการขุดตรวจ ขุดแต่งตัวโบราณสถาน เพื่อให้เห็นสภาพร่องรอยเดิม ส่วนใหญ่ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการขุดตรวจ ขุดแต่ง และศึกษาออกแบบเรื่องการบูรณะ หลังจากนั้นจะไปตั้งงบประมาณการบูรณะ โดยหลักการทั่วๆ ไป ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก 

แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ศิลปากรฯ ได้เข้าไปตรวจสอบล่าสุด พบว่าที่พักสงฆ์ ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อย้ายใดๆ ออกไป และทางศิลปากรได้เข้าไปตรวจสอบในเบื้องต้น แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ  เพราะเรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางกฎหมายของนิติการกรมฯ ซึ่งจะต้องมีการตีความตามคำสั่งทางกฎหมายด้วย  ต้องรอคำสั่งการจากอธิบดีกรมศิลปากรอีกทีว่า จะให้ดำเนินการในลักษณะไหนอย่างไร แต่ยืนยันว่า ต้องมีการรื้อย้ายอาคารที่สร้างคร่อมทับโบราณสถานออกอย่างแน่นอน คาดว่าไม่นานน่าจะมีคำสั่งออกมา เบื้องต้นที่พักสงฆ์เองก็พร้อมให้ความร่วมมือที่จะรื้อถอนอาคารออกตามคำสั่งฯ 

จ่อรื้ออาคารที่พักสงฆ์ สร้างคร่อมทับโบราณสถานอายุพันปี

ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทางศิลปากรจะมีมาตรการเข้ามากำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นซ้ำ และถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับสำนักศิลปากรที่ 10 รวมถึง หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และทุกๆ ชุมชน ที่จะต้องเข้ามาช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลโบราณสถานสำคัญของชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีก ซึ่งศิลปากรเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่การดำเนินงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมายที่กำกับดูแลอยู่  ขอให้ชาวบ้านได้เชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ฯ

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส