"ผักกระเบื้อง" ทางเลือกทางรอด ของเกษตรกรผู้บริโภค

12 ก.ค. 67

"ผักกระเบื้อง" ต้นทุนการผลิตต่ำ ปลอดสารเคมี และใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูกสั้น

นายสมศักดิ์ จันทรักษ์ หมอดินอาสาประจำตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินจากสถานีพัฒนาที่ดินสตูล และในปี 2563 ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนชุดปลูกผักบนกระเบื้อง และรวมกลุ่มสมาชิก จำนวน 10 ราย เป็นกลุ่มเกษตรกรผลิตผักอินทรีย์บนกระเบื้อง ภายใต้ชื่อ “สวนผักตาหวาน” จากองค์ความรู้ที่ได้รับ นายสมศักดิ์ได้มีการคิดค้นสูตรการผลิตน้ำหมักชีวภาพและสารไล่แมลงสูตรต่าง ๆ เพื่อใช้ภายในกลุ่ม ทำให้ผักมีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดี (20 กิโลกรัมต่อแคร่) สร้างรายได้ (2,000 บาท) ให้กับกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างดี

583879

นายสมศักดิ์ จันทรักษ์ หมอดินอาสา เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนตนเองประกอบอาชีพทำสวนยาง และปาล์มน้ำมัน บนพื้นที่รวมทั้งหมดเกือบ 10 ไร่ แต่ในช่วงสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ (รายได้ 200-300 บาทต่อวัน) ประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่สวนยางมาทำการเกษตรอย่างอื่น โดยได้รับคำแนะนำจากสถานีพัฒนาที่ดินสตูล ให้เข้าร่วมโครงการนำร่องหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักบนกระเบื้อง หลังจากได้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และจากการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ผ่านการลองผิดลองถูก และการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ในการปลูกผักนับเป็นเวลาเกือบ 5 ปี จนได้เทคนิคการปลูกผักให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ใช้เวลาในการจัดการ ดูแลที่ไม่ยุ่งยาก

924723

นายสมศักดิ์ จันทรักษ์ กล่าวว่า “หลังจากที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ผมก็ได้กลับมาทดลองปลูกผักที่บ้าน โดยใช้วิธีการนำล้อยางรถยนต์มาซ้อนกัน 2 ชั้น แล้วนำไม้มาพาด แล้วก็นำกระเบื้องมาวางทับอีกชั้น เพราะเป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ จากนั้นก็ค่อยๆ หาความรู้เรื่องการผสมดินปลูกจากยูทูบบ้าง จากกูเกิลบ้าง ดูจนเข้าใจในเรื่องการผสมดินปลูกในระดับหนึ่ง ก็เริ่มปลูกผักบนกระเบื้อง มีขนาดความกว้างประมาณ 7 เมตร ยาว 1.3 เมตร และทดลองปลูกจากผักสวนครัวก่อน ไม่ว่าจะเป็นกวางตุ้ง ผักกาดขาว คะน้า ปลูกแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เน้นใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ได้ศึกษาการทำน้ำหมักชีวภาพจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินสตูล แล้วนำมาประยุกต์ทำเป็นน้ำหมักสูตรของตนเอง เรียกว่า “น้ำหมักปลาตาหวาน” นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาการทำน้ำหมักสูตรอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนนมสด น้ำหมักเศษอาหาร น้ำหมักสับปะรด จุลินทรีย์หน่อกล้วย จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จนมาถึงการทำสารไล่แมลงเอง และได้มีการนำดินปลูกและน้ำหมักชีวภาพ ส่งวิเคราะห์หาธาตุอาหารกับทางสถานีพัฒนาที่สตูลอยู่เสมอ

772461

นายอิทธิศักดิ์ ขุนทอง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสตูลกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันความต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสตูล จึงมีแนวคิดในการส่งเสริมการปรุงดินและการปลูกผักบนกระเบื้อง โดยใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติและภายในท้องถิ่น มุ่งเน้นต้นทุนการผลิตต่ำ ปลอดสารเคมี และใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูกสั้น เพื่อสร้างทางเลือกและเสริมสร้างความรู้ด้านการปรุงดิน เพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นกระแส