ภารกิจกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน บริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน

11 ก.ย. 67

ภารกิจกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน บริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน

กรมพัฒนาที่ดิน มุ่งเป้าสู่องค์กรอัจฉริยะทางดิน ดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตร ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนาที่ดินในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้เหมาะสมด้วยระบบบริหารจัดการเชิงรุก เพื่อให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินให้เกิดความ สมดุลและยั่งยืน และการปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมลดลง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรดินและที่ดินด้วยชุดข้อมูลที่มีมูลค่าสูง ยกระดับแผนการใช้ที่ดินไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภารกิจกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน บริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน

นายชาคริต อินนะระ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน โดยกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน ได้ขับเคลื่อนการ ดำเนินงานผ่าน 2 โครงการสำคัญ ได้แก่

  1. โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ Zoning by Agri-Map เป็นการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพตรงตามศักยภาพของที่ดินและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยจะกำหนดเขตเหมาะสมในการปลูกพืช นำข้อมูลทางวิชาการในการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อมูล ดิน น้ำ อากาศ สภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ นํามาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลความต้องการในการผลิตพืช รวมทั้งวิเคราะห์ความต้องการของตลาด เพื่อหาความเหมาะสมของการทำการเกษตรในแต่ละพื้นที่ ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูง รวมถึงการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อปรับโครงสร้างที่ดินในพื้นที่ไม่เหมาะสม ให้เหมาะสมกับการผลิตในพื้นที่ตาม Agri-Map ในการปลูกพืชผสมผสานและพืชชนิดอื่นนั้น กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุน การจัดทำ ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้เกษตรกรมีความพร้อมสำหรับปรับเปลี่ยนการผลิตให้ทันก่อนฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกร วิเคราะห์ความต้องการของตลาด เพื่อหาความเหมาะสมของการทำเกษตรในแต่ละพื้นที่ ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูง ส่งผลให้เกษตรกรจะได้รับผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากการเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม รายได้ที่มากขึ้นจากความเหมาะสมในการผลิต เกษตรกรมีรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายลดหนี้สินของครัวเรือน เกิดการจ้างงานในชุมชน สังคมอยู่รอด เกษตรกรอยู่ได้ สามารถทำการเกษตรต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
  2. โครงการแผนการใช้ที่ดินระดับตำบล การทำแผนการใช้ที่ดินจากการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ที่ดินในพื้นที่สร้างการรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง มุ่งเน้นสนับสนุนการทำงานแบบมีส่วนร่วมในระดับความร่วมมือระหว่างผู้ใช้ที่ดิน เกษตรกร อบต. หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในพื้นที่ พัฒนาการวางแผนการใช้ที่ดินจากระดับนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ด้วยแนวคิดการวางแผนการใช้ที่ดินตามปัญหา ความต้องการของชุมชน ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ จากการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ชุมชน แบบมีส่วนร่วม Participatory Rural Appraisal หรือ PRA ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลด้วย DPSIR Framework ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมตามบริบทพื้นที่ เพื่อหาต้นตอปัญหา ผลกระทบและแนวทาง รวมถึงวิธีแก้ปัญหา การขับเคลื่อนจัดแผนการใช้ที่ดินระดับตำบลนั้น ในการจัดทำแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการจัดทำ แผนการใช้ที่ดิน จำนวน 7,255 ตำบล ภายในปี 2570 เพื่อให้เกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้ มีอาชีพมั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน

ภารกิจกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน บริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน

นายชาคริต อินนะระ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน กว่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินการส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกรในการพัฒนาพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ตามแผนฯ ผ่านโครงการหรือกิจกรรมต่างๆของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และโครงการกิจกรรมและหน่วยงานในพื้นที่ ที่มุ่งเป้าร่วมกับพัฒนาตำบลให้เกิดประโยชน์เหมาะสมตามบริบทของชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือ นำทางในการบูรณาการงานพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน โดยให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในตำบลของตนเอง มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะเป็นการกำหนดแนวทางในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ถูกต้องตามศักยภาพของดิน และเกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในตำบลให้ดีขึ้น เกิดผลเป็นรูปธรรม

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม