ยึดช้างเป็นที่ตั้ง-ให้ช้างมีชีวิตที่ดี “หมอฉัตรโชติ” พาถอดบทเรียนเลี้ยงช้างรับมือในยามฉุกเฉิน

9 ต.ค. 67

ศาสตราจารย์ปฏิบัติ .ดร.นายสัตวแพทย์.ฉัตรโชติ ทิตาราม รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุการเลี้ยงช้างไม่มีผิด-ถูก แต่ต้องยึดช้างเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปางช้างต้องมีแผนรับมือในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน

จากกรณีน้ำท่วมปางช้าง ที่ อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ อย่างหนัก เป็นเหตุให้ช้างสองเชือกของปางช้างแห่งหนึ่งในเขตอำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ ล้ม (เสียชีวิต) ลง สร้างความสะเทือนใจให้กับคนรักช้าง ขณะที่ปางอื่นๆ ใน อ.แม่แตงและพื้นที่ใกล้เคียง สามารถอพยพช้างไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ทัน

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงเป็นวงกว้าง ถึงการเตรียมพร้อมและรับมือของปางช้างที่อยู่ในพื้นที่ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุช้างล้มเพราะหนีน้ำไม่ทัน ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามถึงการรับมือของปางช้าง และอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกถกเถียงมานานและถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง คือการเลี้ยงช้างแบบใช้ตะขอ-ล่ามโซ่ กับการเลี้ยงช้างแบบธรรมชาติ ในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น แบบใดจะสามารถควบคุม-ช่วยเหลือช้างได้ดีกว่ากัน

892676
น้ำท่วมปางช้าง Elephant Nature Park /ภาพจาก แสงเดือน ชัยเลิศ-Saengduean Chailert

อมรินทร์ออนไลน์ สัมภาษณ์ “ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.นายสัตวแพทย์.ฉัตรโชติ ทิตาราม” รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นทั้งสัตวแพทย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องช้าง เพื่อหาคำตอบเรื่องดังกล่าวที่สังคมถกเถียง

สถานการณ์ช้างเลี้ยงในประเทศ

ประชากรของช้างเลี้ยงมีจำนวนคงที่ ล่าสุดน่าจะประมาณ 4,000 เชือก กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ พบมากที่สุดก็คืออยู่ที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาคือภาคใต้ ภาคอีสาน ตะวันออก กระจายกันไป ส่วนมากใช้ในการท่องเที่ยวเป็นหลัก มีภาคใต้ที่ใช้ช้างในการลากไม้ยาง ซึ่งนั่นคือเรื่องปกติ

ปัญหาที่พบมานานคือเรื่องสวัสดิภาพช้าง เรื่องการใช้งาน บางที่ใช้งานค่อนข้างเหมาะสมได้มีการเลี้ยงช้างในสถานที่ที่ดีโดยเฉพาะแหล่งที่มีความเป็นธรรมชาติ แหล่งน้ำ ใช้งานช้างเหมาะสม แต่ว่าบางที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ไม่ความเป็นธรรมชาติ มีการมัดช้างนานเกินไป อาหารคุณภาพไม่ดี ใช้งานช้างไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสวัสดิภาพของช้างได้ แต่โชคดีที่มีกฎหมายออกมา 2 เรื่อง ที่ช่วยได้มากก็คือ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563 ควบคุมเกี่ยวกับเรื่องการใช้งานช้าง ส่วนอีกเรื่องจะเป็นเป็นข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับ การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. 2565 ก็คือการจัดการปางช้างนี่แหละ ตรงนี้ช่วยได้มาก แล้วก็เป็นมาตรฐานภาคบังคับที่ปางช้างทุกแห่งจะต้องเข้าร่วมและปฏิบัติตาม

อีกเรื่องคือสถาบันคชบาลแห่งชาติร่วมกับทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่กำลังทำอยู่คือเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง เพราะช้างที่เลี้ยงขึ้นอยู่กับตัวควาญด้วย ถ้าตัวควาญดี มีความสัมพันธ์อันดีกับช้าง ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของช้างดีไปด้วย

277527032_10166076183650632_7

วิธีเลี้ยงช้าง ปัญหาที่ถกเถียงกันระดับโลก

จริงๆ แล้วการเลี้ยงช้างเป็นที่ถกเถียงกันมาเยอะมากในโลกนี้ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย สวนสัตว์ในต่างประเทศก็มีการเถียงกันค่อนข้างเยอะ ที่ใช้กันมี 2 แบบ แบบหนึ่งคือ Free contact คือการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง ซึ่งในอดีตก็ใช้แนวนี้กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สวนสัตว์ในประเทศฝั่งตะวันตก รวมทั้งช้างเลี้ยงในประเทศที่มีช้างเป็นถิ่นกำเนิด เช่น อินเดีย ศรีลังกา ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย เขาก็จะมีควาญช้าง มีการใช้ขอ การขี่ ล่ามโซ่ แล้วควาญกับช้างจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นเหมือนเพื่อน พี่-น้อง เป็นญาติ เขาจะเห็นหน้ากันทุกวัน วันนึง ก็หลายชั่วโมง

เมื่อเวลาผ่านไปในฝั่งตะวันตกบางสถานที่ เขาไม่สามารถควบคุมช้างได้ดีเพียงพอ โดยเฉพาะช้างเพศผู้ ซึ่งก้าวร้าว ดุ โดยเฉาะช่วงตกมัน ไม่สามารถควบคุมได้ มีและเกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานว่า มีจำนวนชั่วโมงในการทำงานที่ชัดเจน และ ต้องมีการเปลี่ยนกะคนทำงาน รวมถึงความปลอดภัยของผู้ดูแลช้าง (elephant keeper) เขาก็เลยใช้ระบบที่เรียกว่า Protected Contact คือไม่ใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง ให้ช้างอยู่ในคอกแล้วเจ้าหน้าที่จะทำงานผ่านรั้วหรือกรง มีการฝึกเชิงบวกเรียก และให้อาหารช้างระหว่างการฝึก ถ้าต้องมีการดูแลสุขภาพหรือการตรวจร่างกาย การตะไบเล็บเท้าช้าง การเจาะเลือด การทำแผล ก็ต้องมีการฝึกลักษณะแบบนั้น มันเลยมีความแตกต่างกันระหว่างสองแบบนี้ที่ค่อนข้างชัดเจน

istock-458477481

ใช้ตะขอ-ล่ามโซช้าง ยังคงมีความจำเป็นอยู่

ส่วนตัวผมยังคิดว่าจำเป็นอยู่ เคยมีคนพูดว่า ตะขอและโซ่เป็นสิ่งเลวร้าย คือการทำทารุณกรรมช้าง แต่ทีนี้จากงานวิจัยที่ออกมา ควาญเกือบจะ 100% เขาจะมีตะขอไว้ใช้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เอาออกมาถือไว้ก็ตาม มีไว้ในย่ามหรือเก็บไว้ที่โรงเก็บเผื่อกรณีฉุกเฉิน เพราะเป็นความปลอดภัยในการสื่อสารกับช้าง หรือบางคนอาจจะมีตะปูขนาดยาวอยู่ในมือเพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ควบคุมช้างได้

ถามว่าช้างถ้าใช้ตะขอกดเจ็บมากไหม ก็เจ็บแต่อาจจะไม่มาก ต้องไม่ลืมว่าตัวช้างมีผิวหนังหนา 2-3 เซนติเมตร แล้วจากงานวิจัยเส้นเลือดเส้นประสาทบริเวณผิวหนังช้างค่อนข้างน้อย ดังนั้นการกดด้วยตะขอก็จะไม่ถึงกับเจ็บมาก ยกเว้นถ้าใช้ตะขอสับหรือฟาดแบบที่เราเห็นกันในคลิปวิดีโอทั้งหลาย อันนั้นเจ็บแน่นอน

ส่วนหนึ่งจากงานวิจัยที่ออกมา ไม่ใช่ว่าควาญช้างทุกคนจะใช้ตะขอตลอดเวลา ถ้าช้างมีความสัมพันธ์กับควาญช้างดีอยู่แล้ว เชื่องอยู่แล้วควาญก็ไม่ได้ใช้ตะขอในการกดหรือควบคุมเลย อาจจะมีหรือพกติดตัวเฉยๆ เหมือนกับว่ามีเพื่อให้ช้างเกรง ผมอยากจะบอกอย่างหนึ่งก็คือคนที่ถือตะขอไม่สามารถฆ่าช้างได้ แต่ถ้าคนที่ถือมีดเนี่ยสามารถฆ่าช้างได้ถ้าแทงถูกจุด ดังนั้นการใช้มีดอันตรายมากกว่าการใช้ตะขอเยอะ การใช้ตะขอควาญเขาจะอยู่บนคอช้างหรือข้างๆ ตัวช้าง แล้วตะขอเป็นเครื่องมือป้องกันตัวควาญช้างด้วย เขาไม่ได้เอาไว้สับหรือทำร้ายช้าง แต่ใช้ในการสื่อสาร เพียงแต่บางกรณีควาญขี่คอช้างอยู่ แล้วมีเสียงระเบิด เครื่องบินผ่าน เสียงแตรรถดังขึ้น ช้างบางครั้งเขาก็จะตื่นตกใจ ซึ่งอันตรายมาก ในขณะที่ควาญช้างที่อยู่ข้างๆ ตัวช้างหรือบนคอช้าง เขาก็จะสามารถใช้ตะขอในการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ช้างวิ่งเตลิดวิ่งเข้าชุมชนได้

ส่วนโซ่ เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในการควบคุม ความรู้สึกของคนเราก็จะมองว่าโซ่เหมือนเป็นเครื่องพันธนาการ แต่ในบางสถานที่เขาก็ใช้เชือก สายดับเพลิง หรือเชือกชนิดพิเศษพันเท้าช้างเพื่อไม่ให้ช้างเดินไปไหน ซึ่งมีวัตถุประสงค์และหลักการเหมือนกัน แต่พอเป็นโซ่กลับยอมรับกันไม่ได้ ถ้าเป็นเชือกยอมรับได้ไม่มีปัญหา นี่คือมุมมองของชาวตะวันตก ตะขอก็เหมือนกัน ยอมรับไม่ได้แต่ถ้าถือมีดรับได้ อีกอย่างหนึ่ง คือ โซ่มีราคาถูกกว่าคอกปูนหรือคอกเหล็ก และ สามารถมัดและย้ายไปตามที่ต่างๆ ได้สะดวก และเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของประเทศไทย นี่คือความจำเป็นของการใช้ตะขอและโซ่

istock-1067012012

การเลี้ยงแแบบปล่อยธรรมชาติ ดีกว่าจริงไหม

ต้องถามด้วยว่าการเลี้ยงช้างปล่อยตามธรรมชาติ 100% เนี่ยมีอยู่จริงไหม เขาใช้คำว่า Rewilding เหมือนกับว่าปล่อยธรรมชาติ แต่แค่เฉพาะช่วงเวลากลางวัน ตอนกลางคืน นำกลับเข้าคอก หรือ มัดโซ่ ไม่ได้ปล่อยธรรมชาติตลอดเวลา ถ้าปล่อยธรรมชาติตลอดเวลาในประเทศไทยจะมี โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติของมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เราจะเห็นได้เลยว่านั่นคือปล่อยธรรมชาติจริงๆ ไม่มีการควบคุม 24 ชั่วโมง และปล่อยมามากกว่า 20 ปีแล้วในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 120 ตารางกิโลเมตร ช้างก็มีสุขภาพดี และมีอิสระในการใช้ชีวิต อันนั้นคือปล่อยอิสระโดยแท้จริง

การนำช้างไปอยู่ในที่ธรรมชาติตอนกลางวัน มีข้อจำกัดอยู่ด้วยตรงที่ว่าต้องระวัง เพราะช้างยังมีความเป็นสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าอยู่ เราไม่สามารถปล่อยช้างให้เดินไปโน่นไปนี่ได้เรื่อยๆ ต้องมีการควบคุมเช่นเดียวกัน เพราะถ้าช้างเดินไปแล้วเข้าไปที่สวนหรือบ้านชาวบ้านไปกินพืชผลหรืออาหารในครัว โดยเฉพาะถ้าเกิดการทำลายทรัพย์สิน หรือ ทำร้ายคน นั่นคือเกิดปัญหาแล้ว ดังนั้นปล่อยธรรมชาติถ้าจะให้ปลอดภัยก็คือต้องมีควาญคอยคุมอยู่

แล้วตัวช้างเขามีพื้นที่ของเขาเองด้วย บางที่มีการปล่อยแต่ช้างก็ไม่ได้เดินไปไหนไกล เหมือนเขาจะมีรั้วที่เรามองไม่เห็นคอยคุมอยู่ หรือมีช้างเชือกโน้นเชือกนี้คุมพื้นที่ของตัวเองอยู่ เพียงแต่คนเราดูไม่ออก แต่ถ้าเป็นควาญช้างเขาจะดูออกว่าช้างเชือกไหนไม่ชอบใคร ถิ่นตรงนี้ช้างเชือกไหนคุมอยู่ การมีควาญช้างอยู่สามารถช่วยได้ เคยฟังเหตุการณ์หลายครั้งจากปางช้างหลายๆ ที่ เขาเล่าว่า ช้างบางเชือกถ้าไม่มีควาญช้างอยู่ด้วย ช้างจะไม่เดินไปเลย เพราะเขากลัวช้างเชือกอื่นมาชน แต่เมื่อใดถ้าช้างมีควาญอยู่แล้วควาญพาเดิน เขาก็จะเดินไปด้วยอย่างสบายใจ เหมือนกับว่าควาญช้างเป็นผู้คอยดูแลป้องกันอันตราย

เลี้ยงช้าง ต้องมีควาญช้าง

ใช่ครับ ช้างเลี้ยงต้องมีควาญช้าง เป็นทั้งเพื่อน ทั้งผู้ดูแล และ คอยปกป้องช้าง ในสมัยก่อน ช้างหนึ่งเชือกอาจจะมีควาญสองคนหรือไม่ก็ช้างสองเชือกมีควาญสามคน เพื่อสลับสับเปลี่ยนกัน ในกรณ๊ที่ควาญช้างหลักเกิดเจ็บป่วยหรือลาพัก สมัยก่อนเขาจะเรียกว่า ควาญคอกับควาญตีน ควาญคอก็คือควาญหลัก ควาญตีนคือควาญสำรอง ซึ่งสามารถควบคุมช้างได้เช่นเดียวกันเพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้เก่งเท่าควาญคอ และเป็นตัวสำรองที่ต่อไปจะขึ้นมาเป็นควาญคอได้ แต่ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนควาญช้างเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย หาควาญช้างที่เป็นควาญโดยแท้จริงควาญช้างด้วยใจ ได้ยากมากขึ้น ดังนั้นการมีมาตรฐานวิชาชีพควาญช้าง ก็จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ จะช่วยยกระดับฐานะและยกระดับค่าตอบแทน เป็นการดึงควาญช้างที่มีคุณภาพ ที่มาด้วยใจและมีความเป็นมืออาชีพ เขาก็จะเข้ามาทำตรงนี้

istock-472111221

การเยียวยาและเฝ้าระวังสุขภาพช้างหลังน้ำลด

จุดที่เราทำงานร่วมกับทางทีมสัตวแพทย์จากสถาบันคชบาลแห่งชาติสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปางช้างแม่แตง โรงพยาบาลนานารักษาสัตว์ และ หน่วยงานอื่นๆ คือการไปช่วยดู แบ่งทีมกระจายกันไปดูเรื่องสุขภาพ เรื่องถ่ายพยาธิ เพราะพอเกิดน้ำท่วมเราบอกไม่ได้เลยว่าช้างกินอะไรเข้าไปบ้าง มีไข่พยาธิเข้าไปเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า มีโรคที่มากับน้ำท่วมหรือไม่ หรือว่ามีสิ่งผิดปกติอะไร โดยเฉพาะเรื่องระบบทางเดินอาหารเราต้องดูเป็นพิเศษ อีกส่วนหนึ่งก็คือเท้าช้าง เพราะช้างบางเชือกเขายืนแช่น้ำนานๆ ก็อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีเรื่องความเครียด เพราะปกติช้างเขาจะนอนเป็นที่ พอย้ายที่เขาจะรู้สึกแปลกที่ อาจจะนอนไม่หลับในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมันส่งผลต่อความเครียดหรือภูมิคุ้มกันของช้าง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการขาดน้ำในช่วงแรกมาจากการย้ายช้างขึ้นที่สูง และ ไม่ได้เตรียมน้ำให้ช้างอย่างเพียงพอ

หากเกิดการสูญเสีย ต้องจัดการซากให้ถูกต้อง

โดยหลักการจริงๆ ที่ผมเคยไปผ่าชันสูตรซากช้างหลายเชือก จะมีการฝังกลบคือต้องขุดดินลึก โดยให้ด้านบนของตัวช้างที่ฝัง อยู่ลึกจากผิวดิน 1.5-2 เมตร พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยกรมปศุสัตว์กำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 0.5 เมตร จากด้านบนของตัวสัตว์ที่ฝัง ซึ่งมักจะใช้ในวัว ควาย แต่ช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่กว่ามากควรจะลึกมากกว่านั้น เพราะมีการบวมขึ้นอืดตามมาด้วย และใช้เวลานานในการย่อยสลาย ซึ่ง
อย่างที่สองโดยปกติจะต้องมีการใส่ปูนขาวหรือยาฆ่าเชื้อ เพราะเราไม่ทราบเลยว่าพวกเชื้อโรคจะมาแค่ไหน ถึงแม้ว่าตัวช้างจะไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแต่สภาพภายใน แบคทีเรียต่างๆ มันมีการเจริญขึ้นมาเยอะมากอยู่แล้ว ดังนั้นต้องใส่ปูนขาวเพื่อลดภาวะการติดเชื้อตรงนี้

อีกอย่างหนึ่งคือไม่ควรฝังใกล้แหล่งน้ำ ควรไปที่ลึกๆ อย่างน้อย 50 เมตร หรืออาจจะต้องไกลกว่านั้น อย่างหนึ่งต้องเข้าใจว่าการย่อยสลายของซากช้างไม่ได้ใช้ระยะเวลาเพียงแค่อาทิตย์เดียว บางทีใช้เวลาเป็นเดือน ดังนั้นพวกของเหลวที่อยู่ข้างในซากช้างไม่ว่าจะเป็นน้ำเหลือง เลือดหรืออวัยวะภายในต่างๆ จะไหลออกมา แล้วถ้ามีฝนตกมันก็จะชะล้างแล้วไหลลงสู่เบื้องล่างด้วย ดังนั้นไม่ควรฝังช้างใกล้บริเวณชุมชนหรือใกล้แหล่งน้ำโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำธาร หรือบ่อน้ำ เพราะของเหลวจากซากช้างจะไหลลงไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้วทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

ถอดบทเรียนการเลี้ยงช้าง โดยเฉพาะการรับมือในยามฉุกเฉิน

การเลี้ยงช้างแบบมัดย้าย และ ปล่อยตามธรรมชาติ มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบท รวมทั้งลักษณะนิสัย พฤติกรรมของช้างแต่ละเชือก ถ้าเป็นช้างที่เชื่องเป็นมิตรกับทั้งคนและช้าง สามารถเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติได้ แต่ถ้าช้างที่ก้าวร้าวและดุ การเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ช้างมีสุขภาพ สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด และที่สำคัญ คือ ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดตามมา เช่น ความปลอดภัยของตัวช้างเอง และ ช้างเชือกอื่น ความปลอดภัยของควาญ ความปลอดภัยของชาวบ้านและทรัพย์สิน

และเมื่อเผชิญกับเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ควรมีการแผนให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ทำยังไงให้ช้างเขามีความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหตุการณ์ครั้งนี้งช้างทุกแห่งได้รับผลกระทบทั้งหมด จะมากจะน้อย เพียงแต่ว่าปางดังที่เป็นข่าวได้รับผลกระทบมากกว่ากว่าที่อื่น ปางช้างอื่นเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเขามีการเตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ผมว่าเราต้องมาหาข้อดี-ข้อเสียของแต่ละแบบ หาวิธีเลี้ยงช้างแบบไหนที่เหมาะสมของแต่ละที่ รวมทั้งลักษณะนิสัยและพฤติกรรมเฉพาะตัวของช้างแต่ละเชือก เพราะไม่สามารถใช้วิธีการเลี้ยงแบบเดียวกันได้กับช้างทุกเชือก คนแต่ละคน ปางช้างแต่ละแห่งก็มีวิถีของตัวเอง แต่จะทำยังไงให้เหมาะสมและเป็นผลดีต่อตัวช้างและควาญช้าง

325736787_909257166882982_905
รศ.ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม

บังคับล่ามโซ่ให้เป็นกฎหมาย?

การล่ามโซ่มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ถ้าล่ามโซ่สั้นเกินไป โดยไม่มีการปลดโซ่และปล่อยช้างออกมาเดินมันก็จะทำให้เกิดปัญหาเป็นแผลที่ข้อเท้าตามมา การไม่ล่ามโซ่ก็อาจทำให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตามต้องมีการควบคุมช้าง ไม่ว่าจะโซ่ หรือ คอก เพื่อลดปัญหาที่จะตามมา ซึ่งการใช้โซ่อาจจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของสังคมไทย ที่มีช้างเป็นจำนวนมากดังนั้นทุกอย่างมันต้องมีทางสายกลางมีทางที่เหมาะสม บังคับใช้กฎหมายล่ามโซ่ไปเลยผมก็ยังคิดว่าไม่ถึงขั้นนั้น น่าจะใช้คำว่ามีการควบคุมและสื่อสารกับช้างไม่ให้เกิดปัญหามากกว่า เพราะมันมีกฎหมาย การปฏิบัติที่ดีของปางช้าง ที่ออกมาอยู่แล้วก็คือ ถ้าล่ามโซ่ ต้องล่ามระยะไม่ต่ำกว่าเท่าไร หรือถ้าอยู่ในคอกต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่าเท่าไร อีกอย่างหนึ่งเราก็ต้องเข้าใจทางผู้ประกอบการปางช้างด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เลยทันที ในทางกฎหมายควรจะเป็นลักษณะกลางๆ และต้องฟังความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเกี่ยวข้องในหลายด้านด้วย

 

สำหรับ ศาสตราจารย์ปฏิบัติ .ดร.นายสัตวแพทย์.ฉัตรโชติ ทิตาราม รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการและสัตวแพทย์ที่ปรึกษามูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็น สมาชิกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษช้างเอเชีย (Asian Elephant Specialist Group, AsESG) ของ คณะกรรมการความอยู่รอดของสปีชีส์ (Species Survival Commission, SSC) สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature, IUCN)

เคยได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับ 6 ของโลก จากงานตีพิมพ์บทความและงานวิจัยในฐานข้อมูลชั้นนำนานาชาติ PubMed ที่ได้มีการตีพิมพ์สูงที่สุดในด้านนี้ และได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ของ ม.เชียงใหม่

และยังเคยได้รับรางวัลสัตวแพทย์ตัวอย่างคลินิกปฏิบัติสัตว์เลี้ยงแห่งปี (จรัส สืบแสง) ประจำปี พ.ศ.2565 สายวิชาการ จากสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย มอบให้สัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ที่ทุ่มเทให้กับการตรวจรักษาสัตว์ มีคุณธรรมจริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบวิชาชีพ มีการบริการและความรับผิดชอบต่อสังคม มีการเพิ่มพูนและพัฒนาตัวเองด้านความรู้ทางสัตวแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพสัตวแพทย์

289991966_10166314822090632_5
รศ.ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม

 

 

 

advertisement

ข่าวยอดนิยม