กระแสคริปโตเคอร์เรนซีที่ดังที่สุดในบ้านเราตอนนี้ หนีไม่พ้นเรื่องเกม "Cryptomines แตก" ราคาเหรียญในเกมดิ่งลงกว่า 99% ซึ่งทำให้ผู้เล่นหลายคน "เจ๊งกันทั่วหน้า" และทำให้คำว่า "แชร์ลูกโซ่" ที่เพิ่งจะสลัดทิ้งได้ไปได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ กลับมาหลอกหลอนวงการคริปโตฯ อีกครั้ง
ทีมข่าว SPOTLIGHT ได้สัมภาษณ์ "นเรศ เหล่าพรรณราย" เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และซีอีโอบริษัท Ricco Wealth รวมถึงผู้เสียหายจากเกมนี้ และได้รวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้จะเข้ามาเล่นในวงการ Gamefi ที่สร้างผลตอบแทนเย้ายวนกว่า 100% เอาไว้ดังนี้
Cryptomines คืออะไร?
คือเกมประเภท Click-to-earn ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ GameFi ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจก่อนว่า NFT GameFi คือเกมที่เอาแนวคิดของ Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนบล็อกเชน มาผสมผสานกับการเล่นเกม ทำให้ได้เล่นเกมด้วย ได้รางวัลเป็นเหรียญด้วย และสามารถเอาเหรียญนั้นๆ ไปซื้อขายในตลาดรองได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า Play-to-earn
แต่ Cryptomines จะมีความเฉพาะมากขึ้นอีก เพราะเป็นเกมประเภท Click-to-earn หรือแค่ซื้อยานก็สามารถคลิกเพื่อหาเหรียญได้แล้ว ลักษณะจะต่างกับเกม Play-to-earn ตรงที่ลงทุนน้อยกว่า ไม่ต้องอัพเลเวล พัฒนาตัวเองเพิ่มแรงค์ให้ยุ่งยาก แค่ซื้อยานลำเดียวก็สามารถตะลุยคลิกเล่นเกมและเก็บเหรียญได้แล้ว โดยได้เป็นเหรียญที่ชื่อว่า ETERNAL (นิรันดร์) เพื่อใช้สำหรับซื้อขายในเกม
เกิดอะไรขึ้นกับเกมนี้?
- จากที่เกมนี้เคยฮอตฮิตจนเหรียญ ETERNAL เคยทำราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 801.59 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26,800 บาท) ราคากลับทยอยร่วงลงเป็นแนวดิ่งในช่วงไม่นานมานี้ จนเหลือเพียง 4.31 ดอลลาร์ (ราว 144 บาท) เพราะเมื่อมือต้นๆ ที่ถือเหรียญเป็นจำนวนมากเริ่มขาย ก็จะเกิดความกังวลและกลายเป็นแรงเทขายเหรียญตามมา จนกลายเป็นภาวะเกมแตกในที่สุด
นเรศ เล่าว่า GameFi ทั้ง Click-to-earn และ Play-to-earn ต่างก็มีรูปแบบของ "แชร์ลูกโซ่" (Ponzi scheme) ผสานอยู่ทั้งนั้นไม่มากก็น้อย แต่อยู่ที่ว่าใครจะตั้งใจออกแบบระบบให้เป็นเกมที่หาเงินแค่ช่วงสั้น หรีอวางระบบให้เป็นเกมที่ยั่งยืนในระยะยาว
หากจะมองภาพให้ง่ายขึ้นก็อาจลองจินตนาการ GameFi ว่าเป็นประเทศๆ หนึ่ง ที่มีผู้นำแจกเงินเพื่อดึงดูดให้มีคนเข้ามาอยู่ในประเทศนี้ แต่เกมที่ดีหน่อยจะมีการวางระบบให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นตามมา ผู้เล่นต้องมีการลงทุนและพัฒนาตัวละครเพื่อให้ได้เหรียญ เจ้าของเกมก็ต้องทำเงินจากเกมได้ด้วยจึงจะเป้นเกมที่ยั่งยืน เช่น Axie Infinity แต่ตรงนี้จะต่างจากเกมที่วางระบบไม่ดี ทำได้แค่แจกเหรียญ ซึ่งไม่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และซ้ำร้ายยังทำให้เกิดภาวะ "เหรียญเฟ้อ" ซึ่งเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง คนที่เล่นก่อนและถือครองเหรียญจำนวนมากก็จะเทขายเหรียญออกมา และนำไปสู่การปิดตัว จึงไม่ต่างอะไรกับแชร์ลูกโซ่ ไม่ว่าเจ้าของเกมจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ (บกพร่องโดยสุจริต) ก็ตาม
จุดเริ่มต้นของฟองสบู่ NFT Games แตก?
แม้จะเป็นรูปแบบที่ชวนน่าสงสัยตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากบรรยากาศในภาพรวมของคอมมูนิตี้คริปโตฯ ทั่วโลก ที่สามารถทำเงินได้มากจากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะจาก DeFi สายซิ่ง ที่เน้นลงทุนความเสี่ยงแต่กำไรสูง ที่มีการทำกำไรให้เห็นในหลัก 1,000% มาแล้ว และมีคนสามารถทำเงินได้ในหลัก 10,000 บาท/วัน จึงทำให้เหมือนกับยังอยู่ในบรรยากาศของงานปาร์ตี้กัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกม Cryptomines คือจุดเริ่มต้นของฟองสบู่ NFT Games แตก
นเรศ ได้ระบุในบทความว่า กระแสของเกม Play-to-earn เป็นกระแสที่มาแรงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่การมาของเกมส์ Axie Infinity ซึ่งสร้างรายได้จริงๆ ให้กับคนฟิลิปปินส์ และหลังจากนั้นก็มีเกมส์ประเภทนี้ออกมาอีกมากชนิดที่ออกมาแบบวันต่อวัน แต่หากใครอยู่ในวงการคริปโตมานานพออาจจะคุ้นเคยกับวัฐจักรของวงการนี้ก็คือ “เกิดมา ตั้งอยู่ โด่งดัง ดับไป เกิดใหม่” ไม่ว่าจะเป็นยุค ICO เฟื่องฟู จนฟองสบู่แตก และกลายพันธุ์มาเป็น IEO หรือยุคที่ Yield Farming เฟื่องฟูในปีที่แล้ว ก็เกิดแพลตฟอร์ม DeFi ใหม่จำนวนมากจนเกิดกระแส “ฟาร์มซิ่ง” แต่ในที่สุดกระแสของ DeFi ก็เงียบไป จนกระทั่งเกิดกระแสใหม่เป็น NFT Games ซึ่งดูแล้วน่าจะหนีไม่พ้นวัฐจักรที่ว่ามานี้เช่นกัน
เพราะ Tokenomics หรือระบบเศรษฐกิจภายในเกม จำนวนมาก ไม่เข้มแข็งพอที่จะยืนระยะได้เวลานาน เกม Cryptomines ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้โมเดล Click-to-earn หรือเพียงแค่คลิ๊กเมาส์ขุดแร่ในเกมส์ก็ได้เงิน ซึ่งก็คือเหรียญ Eternal และกำลังจะเป็นกรณีศึกษาแรกของสมมุติฐานว่า ฟองสบู่ใกล้จะแตกแล้ว เมื่อราคาเหรียญ Eternal ลดลงกว่า 99% สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ “มาช้าจ่ายรอบวง” เพราะการออกแบบระบบเศรษฐกิจของเกมเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เล่นในช่วงต้น สามารถสะสมเหรียญได้ในราคาต่ำๆ จนกระทั่งราคาปรับตัวสูงขึ้น และพร้อมเทขายได้ตลอดทาง ส่วนคนที่ถือตามๆ มา เห็นแรงเทขายก็รีบขายตามจนราคาลดลงกว่า 99% ในเวลารวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม เลขาธิเการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มองว่า NFT GameFi จะยังเป็นกระแสที่เติบโตได้ในระยะยาวแน่นอน แต่อาจจะถึงช่วงเวลาที่กลับไปทบทวนตัวเองใหม่ และเหลือแต่โปรเจกต์ที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น Axie Infinity, Sandbox หรือ Decentraland และอนาคตน่าจะมีเกมส์ที่สร้างระบบเศรษฐกิจภายในทีมีความยั่งยืนออกมาอีกต่อเนื่อง
ฟังเสียงผู้เล่นจริง "ลุกช้าจ่ายรอบวง"
จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหาย 2 ราย ผู้เสียหายรายแรกชื่อ "ก้อย" ให้ข้อมูลกับ SPOTLIGHT ว่า นี่ไม่ใช่ GameFi เกมแรกที่เธอเข้าไปเล่น ก่อนหน้านี้เธอได้เข้าไป "เสี่ยงดวง" หวังทำเงินกับเกมมาแล้วสองเกม
เกมแรก คือ "Plant vs Undead" ซึ่งเป็นเกมป้องกันฐานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกม "Plant vs. Zombies" อันโด่งดัง ในเกมแรกนี้เธอสามารถขายเหรียญทำกำไรออกมาได้ แต่ในเกมที่สอง ซึ่งมีธีมเป็นหมา(จำชื่อเกมไม่ได้) เธอไม่สามารถขายหรียญได้ทันก่อนที่มูลค่าของเหรียญจะตกลง ทำให้เธอเสียหายร่วม 10,000 บาท สำหรับเกมนี้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ก้อยกล้าที่จะลองเข้าไปแสวงหาผลกำไรจากเกม Cryptomines ที่โด่งดังในคอมมูนิตี้ชาวไทยนั้น สาเหตุแรกคือ แรงจูงใจที่เห็นเพื่อนของแฟน ลงเงินต้นไปเล่นประมาณ 2 แสนบาท แต่ได้กำไรกลับมาถึง 1.8 ล้านบาท ภายในเวลาไม่นาน และสาเหตุที่สองก็คือ คนใกล้ตัวเข้ามาอีกอย่าง "แฟน" เข้าไปเล่น คืนทุน และทำกำไรได้เป็นเท่าตัวในเวลาไม่นาน ก้อยจึงตัดสินใจกำเงินต้น 30,000 บาท เข้าไปเล่นเพื่อหวังจะได้กำไรแบบคนรอบตัว แต่เมื่อเข้าไปได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์เกมแตกดังที่เป็นข่าว ทำให้มูลค่าเหรียญตกลง ทำให้สินทรัพย์ในเกมของเธอที่เคยมีมูลกว่า 30,000 บาท สูญเสียมูลค่าไปเกือบ 100% ในช่วงข้ามคืน
สำหรับผู้เสียหายรายที่ 2 ชื่อ "แม็กซ์" โชคดีกว่านั้น เขาสามารถเข้าไปทำกำไรได้ถึง 14,000 - 15,000 บาท จากเงินต้น 12,000 บาท "ภายใน 15 วันก่อนที่เกมจะปิดตัวลง" เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า มีคนใกล้ตัวที่สนใจ GameFi อยู่แล้วเป็นคนชักชวนเข้าไป แต่เพื่อนรอบตัวไม่ได้โชคดีเหมือนเขาทุกคน เพราะหลายคนเมื่อได้กำไรแล้ว ก็ใส่เงินเข้าไปต่อ เพื่อหวังให้ได้กำไรทวีคูณขึ้นไปอีก ทั้งนี้ นอกจากเกม Cryptomines แล้ว เกมอื่นที่เขาเข้าไปเล่นอยู่ก็คือ Cryptocars (CCar) ซึ่งมีลักษณะเป็น NFT GameFi เช่นเดียวกัน ซึ่งเจ้าตัวยังคงคาดหวังว่าจะโชคดี และลุกได้เร็วกว่าเพื่อนรอบวงเหมือนเกมที่แล้ว เช่นกัน
กลต. เตือน "4 ข้อควรรู้" เมื่อจะเข้าสู่ GameFi
ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดที่ควรรู้เมื่อจะเข้าสู่วงการเกมฟาย ว่า GameFi เป็นการนำแนวคิดของ Decentralized Finance (DeFi) บริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนบล็อกเชน มาผสมผสานกับการเล่นเกม หรือเรียกว่า ได้สนุกจากการเล่นเกม ได้รางวัลเป็นเหรียญหรือโทเคน ในรูปแบบ Play-to-earn และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากเหรียญนั้นจากการนำไปซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งมีเหรียญที่เกี่ยวข้องหลากหลายประเภท เช่น NFT (Non-Fungible Token), Reward Token, Governance Token เป็นต้น
.
เมื่อการเล่นเกมพ่วงมากับสินทรัพย์ดิจิทัล จึงควรทำความเข้าใจให้รอบด้าน ดังนี้
- “ ประเมิน” ความพร้อมตัวเองก่อน พร้อมหรือไม่ ทั้งในเรื่องเงิน เวลา และทักษะเล่นเกม
- “ คิด” ก่อนจ่าย “เงินจริง" ควรศึกษาทั้งเกมและเหรียญแต่ละแบบให้เข้าใจลักษณะเฉพาะและความเสี่ยง
- “ พิจารณา” ความน่าเชื่อถือของเกมและผู้พัฒนาเกม
- “ ดูแล” ความปลอดภัยของเหรียญและวอลเล็ต (wallet) สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงศึกษาวิธีโอนสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันการโจรกรรม
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล "เพราะตลาดนี้ไม่มีใครอุ้ม"
แม้ว่า ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing rule) โดยพิจารณาว่า สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวต้องถูกกฎหมาย และไม่เป็นโครงการที่อาจเป็น การหลอกลวง (scam) รวมถึงเป็นโทเคนดิจิทัลที่มีความคืบหน้าหรือโอกาสสำเร็จของโครงการในระดับหนึ่ง "แต่โครงการเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ผู้ซื้อขายควรศึกษารายละเอียดโครงการ และติดตามความคืบหน้าด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องด้วย"
ทั้งนี้ หากมีผู้ชักชวนให้ลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First ดาวน์โหลดที่นี่ หรือศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ที่เว็บไซต์ www.smarttoinvest.com ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือแจ้งเบาะแสสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร 1207