ในช่วงระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน วิกฤตการณ์รุมเร้า และเงินเฟ้อพุ่งทะยานจนรัฐต้องออกนโยบายดอกเบี้ยแบบดุดันมาจัดการเช่นนี้ สินทรัพย์เสี่ยงทุกชนิดอยู่ในอาการซึมหนัก โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงแห่งโลกอนาคตอย่าง ‘NFT’ ที่ว่ากันว่า จะกลายเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของโลก Metaverse ในเวลาเพียง 5 เดือนมาร์เก็ตเพลส NFT เบอร์ 1 ของโลก ‘Opensea’ สูญวอลุ่มการซื้อขายไปแล้วกว่า 88% จนต้องยอมปลดพนักงานบางส่วนออก เพื่อให้เรือใบลำนี้ แล่นต่อไปได้
Devin Finzer ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Opensea แพลตฟอร์มการซื้อขายผลงาน NFT ที่มีวอลุ่มการซื้อขายสูงที่สุดในตลาด ประกาศปลดพนักงาน 20% เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ผ่านทางแถลงการณ์ภายในบริษัท ที่เขานำมาโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา แต่ไม่ได้ระบุจำนวนพนักงานที่ถูกปลดออก
โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุอีกว่า การตัดสินใจเลย์ออฟพนักงานในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทมีทรัพยากรเพียงที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก 5 ปี ท่ามกลางพายุ ‘Crypto Winter’ หรือช่วง หน้าหนาวของชาวคริปโท ที่ตลาดทรุดลงต่อเนื่องยาวนาน โดยหเขามั่นใจว่า บริษัทจะต้องพบกับการตัดสินใจที่บีบหัวใจเช่นนี้เพียงครั้งเดียว
Today is a hard day for OpenSea, as we’re letting go of ~20% of our team. Here’s the note I shared with our team earlier this morning: pic.twitter.com/E5k6gIegH7
— Devin Finzer (dfinzer.eth) (@dfinzer) July 14, 2022
นาย Finzer ระบุว่า บริษัทได้บอกข่าวนี้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทุกคนแบบส่วนตัวก่อนแถล
งการณ์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ และพนักงานที่ถูกปลดออกทุกคน จะได้รับค่าตกใจ ‘อย่างงาม’ และยังสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้จนถึงสิ้นปี
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Opensea ถูกประเมิณว่ามีมูลค่าบริษัทสูงถึงกว่า 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ Yahoo Finance รายงานว่า Opensea ได้บันทึกปริมาณการซื้อขายรายเดือน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.21 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ DappRadar เผยว่า ปัจจุบัน ปริมาณการซื้อขายของ Opensea ร่วงลงมาอยู่ที่ราว 500 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น ร่วงลงมาแล้วกว่า 88%
นอกจากภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลขาลงแล้ว Opensea ยังเผชิญปัญหานานาสารพัดในช่วงที่ผ่านมา อาทิ
-การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่อย่าง LooksRare ซึ่งเคยมีวอลุ่มแซง Opensea อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง (ซึ่งมาจากการที่ผู้ใช้งาน ‘สร้างดีมานด์เทียม’ โดยการซื้อขายกับอีกบัญชีของตน เพื่อให้ได้เหรียญของทางแพลตฟอร์มเป็นค่าตอบแทน)
-ผู้ไม่หวังดี เจาะเข้ามาซื้อผลงาน NFT ในราคาที่ถูกกว่าราคาเสนอขายอย่างมาก ผ่านบัคที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม
-การโจรกรรมผลงาน NFT มูลค่ากว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ ผ่านการโจมตีแบบ ‘ฟิชชิ่ง’
-เหตุการณ์ไล่อดีตผู้บริหารฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทออก ข้อหา ‘ใช้ข้อมูลภายในมาซื้อ-ขายก่อน’ โดยการเลือกซื้อผลงาน NFT ก่อนที่ผลงานจะถูกลิสต์บนแพลตฟอร์ม
และเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาคือ การขโมยข้อมูลรายชื่ออีเมล์ของลูกค้า โดยพนักงานของบริษัทที่ดูแลด้านการส่งอีเมล์ให้กับ Opensea ส่งผลให้ลูกค้าทุกคน เสี่ยงที่จะได้รับอีเมล์ฟิชชิ่ง ลวงเอาข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ
แม้ด้วยคอนเซปต์ของ NFT เอง จะสามารถป้องกันการทำเทียมผลงาน NFT ได้ด้วยการสร้างชุดรหัสที่สามารถมีได้เพียงชุดเดียว แต่ในทางปฏิบัติแล้ว Opensea ยังมีช่องโหว่ในการ ‘สร้างผลงานเทียม และร้านค้าเทียม’ ซึ่งหากดูโดยผิวเผินจะมีหน้าตาเหมือนกับของแท้ทุกประการ หรือร้ายกว่านั้น เพียงแค่ ‘กลับด้าน’ ผลงานจากซ้ายไปขวา ก็สามารถนำมาหลอกขายลูกค้าที่รู้ไม่ทันได้แล้ว
อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตต่อไปของ Opensea คือ ‘ค่าแก๊ส หรือ ค่าธรรมเนียม’ ที่แพงหูฉี่ จนทำให้ลูกค้าหลายราย ไหลไปยังแพลตฟอร์มเจ้าอื่น ซึ่ง Opensea ก็จัดการกับสองปัญหาหลักนี้อยู่
วิกฤตการณ์การ ‘ไล่ออกครั้งใหญ่’ ในวงการเทคโนโลยีทั่วโลก ยังคงพบเห็นได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้แพลตฟอร์มคริปโทรายใหญ่ Coinbase ได้มีคำสั่งปลดพนักงานกว่า 1,100 ตำแหน่ง ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่ Tesla สั่งปลดพนักงานกว่า 10% ทั่วโลก หรือในบ้านเราเอง Shopee เองก็ได้สั่งปลดพนักงาน Shopee Food และ Shopee Pay ทั่วโลก รวมถึงที่ประเทศไทยด้วย
ที่มา : YahooFinance, DappRadar, The Verge