มหากาพย์โครงการคอนโดหรู แอชตัน อโศก ที่ต่อสู้กันมานานเกือบ 7 ปี จบลงเมื่อ 27 ก.ค.2566 เมื่อศาลปกครองสูงสุด แผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 ได้มีการอ่านคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก ทำให้ขณะนี้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (เจ้าของคอนโด แอชตัน อโศก) กำลังเร่งหาทางเยียวยาให้กับลูกบ้าน และเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการนี้ต้องรับผิดชอบ นับเป็นคดีประวัติศาสตร์และเป็นกรณีศึกษาให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย
ข้อพิพาทสำคัญคือ ที่ดินบริเวณนั้น รฟม.หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ไปเวนคืนมาจากเจ้าของเดิม และรฟม.นำมาพัฒนาสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในขณะที่ทางบริษัท อนันดาเองก็มีการทำสัญญาสร้างอาคารจอดรถ และขอใช้ทางเข้าออกในพื้นที่นั้น แต่ขนาดความกว้างไม่เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด
ซึ่งการฟ้องร้องในคดีนี้ไม่ได้เป็นการฟ้องบริษัท อนันดาโดยตรง แต่ผู้ถูกฟ้อง คือ ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คนคือ ผอ.สำนักการโยธา กทม. ,ผู้ว่าฯ กทม.,ผู้ว่าการฯ รฟม. และ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยทางบริษัท อนันดา ก็ได้ต่อสู้ปัญหานี้มาโดยตลอดด้วยการชี้ถึงกระบวนการก่อสร้างโครงการนี้ว่าได้ผ่านกระบวนการพิจารณา ตรวจสอบทุกอย่างถูกต้องจากหน่วยงานรัฐมาโดยตลอด และขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหากับผู้อยู่อาศัยที่เข้าไปอยู่ในโครงการแอชตัน อโศก ที่ได้รับผลกระทบเรื่อยมาด้วยเช่นกัน
โครงการแอชตัน อโศก มูลค่า 6,480 ล้านบาทท เป็นคอนโดมิเนียมสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 668 ยูนิต มีผู้อยู่อาศัยราว 580 ครัวเรือน เป็นคนไทย 438 ราย ต่างชาติจาก 20 ประเทศ 142 ราย นี่คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มานานหลายปี
อย่างไรก็ตามบริษัท ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยสรุปคือ น้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่มีการเรียกร้องให้ภาครัฐรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยยืนยันในกระบวนการก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ทำด้วยความถูกต้องสุจริตทุกขั้นตอนผ่านการอนุมัติจาก 8 หน่วยงานราชการ มีใบอนุญาติ 9 ฉบับ และขอความเห็นก่อนดำเนินการจาก 7 หน่วยงาน ทั้งนี้จะมีการเข้าพบเพื่อขอความเป็นธรรมจากทางผู้ว่ากทม.และ ผู้ว่ารฟม.ต่อไป
คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นอันสิ้นสุดคดีนี้ที่ต่อสู้กันมายาวนานเกือบ 7 ปี แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีคำถามที่รอความชัดเจน อาคารสูง 51 ชั้น แอชตัน อโศก ที่ตั้งอยู่กลางสุขุมวิท จะต้องถูกทุบทิ้ง ? หรือจะมีหนทางอื่นใดในการแก้ปัญหานี้ได้อีกหรือไม่ นี่เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญให้กับโครงการก่อสร้างอื่นๆที่อาจมีการเข้าข่ายลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่ และต้องหาทางออกอย่างไร สุดท้าย คือผลกระทบกับผู้อาศัยในโครงการนี้ ที่เชื่อว่าไม่มีใครรู้ว่า การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของตัวเองในวันนั้นจะนำมาซึ่งปัญหาในวันนี้