ปี 2567 เป็นปีแห่งธุรกิจสุดไวรัล มีแบรนด์ดังเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบรนด์ของคนไทย อย่าง Butterbear ร้านขนมหวานชื่อดังในเครือ Coffee beans by DAO ที่มีน้องหมีเนยเป็นมาสคอตและกลายเป็น brand ambassador, Oh! Juice ร้านสมูททีสุดฮอตตอบโจทย์คนรักสุขภาพ จากเครือโอ้กะจู๋ รวมถึง 2 แบรนด์จีนชื่อดังที่ได้เข้ามาบุกตลาดไทยเป็นครั้งแรก และได้รับการตอบรับอย่างล้มหลาม จากแฟนๆ อย่าง Pop Mart ร้านอาร์ตทอย ที่สร้างกระแสยอดฮิตจนห้างแตก ผ่านของเล่นในรูปแบบ ‘กล่องสุ่ม’ และ Mixue ร้านชานมไข่มุกราคาย่อมเยา ที่ตอบโจทย์เงินในกระเป๋า
SPOTLIGHT ได้รวบรวม 4 ธุรกิจสุดไวรัล แบรนด์ดังที่สุดแห่งปี 2567 ไว้ในบทความนี้
Butterbear เป็นร้านขนมหวานในเครือ Coffee beans by DAO ที่สร้างกระแสในโลกออนไลน์อย่างล้มหลาม จากมาสคอตน้องหมีเนย
มาสคอน้องหมีเนย เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ คุณ บูม-ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ ทายาทของ คุณดาว-ณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์ เจ้าของร้านอาหาร Coffee beans by DAO ที่อยากสร้างน้องหมีเนยขึ้นมาเพื่อเป็นมาสคอต สร้างคาแรกเตอร์น้องมาเพื่อฮีลใจเด็กๆทุกคน
น้องหมีเนย สร้างปรากฎการณ์ไวรัลทั่วโลกออนไลน์ และแจ้งเกิดบนแพลตฟอร์ม TikTok จากท่าเต้นที่เป๊ะทุกท่า ที่ไม่ว่าจะเปิดเพลงไหนๆ น้องก็สามารถเต้นได้หมด outfit ที่สุดแสนจะน่ารัก ที่ปรับเปลี่ยนตามเทศกาลต่างๆ เช่นช่วงตรุษจีน น้องหมีเนยจะใส่กี่เพ้ามาพร้อมกับซองอั่งเปา ช่วงสงกรานต์ น้องหมีเนยจะใส่ชุดไทยโจงกระเบน ที่มีพวงมาลัยดอกไม้หอยคอมาพร้อมกับปื้นฉีดน้ำ หรือแม้แต่ช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแห่ง Pride Month น้องหมีเนยก็มาพร้อมกับปีกนางฟ้า และกิ๊ฟติดผมสีสายรุ้ง
จากความน่ารักของน้องเนย ทำให้เกิดกลุ่มแฟนคลับที่เรียกว่า #ด้อมน้องเนย มัดใจทั้งแฟนคลับชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน จนทางแบรนด์ได้สร้างตารางงานของน้องเนยให้แฟนๆได้ติดตาม ว่าจะมาโชว์ตัววันไหน รวมถึงมีการเปิดกลุ่ม LINE เพื่อคอยอัพเดทชีวิตประจำวันของน้องเนย ตั้งแต่ตื่นนอน ไปโรงเรียน จนกระทั่งนอนหลับ โดยกลุ่ม LINE นี้ มีกลุ่มแฟนคลับเข้ามาจำนวนมากจนไม่สามารถเปิดรับเพื่อนในกลุ่ม LINE นี้ได้อีกเพียงจากการเปิดตัวไปไม่กี่วัน
ความโด่งดังของน้องเนย ได้สร้างปรากฎการณ์อย่างที่ไม่เคยมีแบรนด์ไหนเคยทำได้มาก่อน จนเกิดปรากฎการณ์ ‘ห้างแตก’คนแห่ไปรอคิวตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อได้บัตรถ่ายรูปคู่กับน้องเนย ทำให้ห้าง Emsphere กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาดเมื่อมาเยือนประเทศไทย เพื่อได้มาสัมผัสประสบการณ์ความน่ารักของน้องเนยด้วยตาของตัวเอง
นอกจากนี้ความโด่งดังของน้องหมีเนย ยังได้ไป collaboration กับแบรนด์อื่นๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทั้งตัวแบรนด์และตัวบุคคล (น้องหมีเนย) อย่างเช่น คาลพิส แลคโตะ, เบบี้ มายด์, แบรนด์ขนตาแม่เหล็กชื่อดังอย่าง wosado, แบรนด์ร้านขนมหวาน SOURI, แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ อย่าง Pipatchara
จากกรณีศึกษา ร้าน Butterbear เราจะเห็นได้เลยว่า ผู้บริโภคไม่ได้สนใจว่า ‘ใครอยู่ในมาสคอต’ หรือ ‘ในมาสคอตนี้จะเป็นผู้หญิง หรือ ผู้ชาย’ พวกเขาสนใจเพียงแค่ ‘มาสคอตนี้สร้างความสุขให้พวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน’ และร้านขนม Butterbear ก็กลายเป็นร้านดังยอดฮิตขวัญใจกลุ่มคนเหล่านี้ได้ในชั่วพริบตา
ในช่วงปีที่ผ่านมา หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงที่หลายๆคนจับตามอง คือ เทรนด์สุขภาพ โดยหลังโควิด-19 ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องการดูแลสุขภาพที่สมดุลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับฝั่งธุรกิจ ก็เริ่มหันมาสร้างธุรกิจให้ตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้มากขึ้น อย่างเช่น Oh! Juice
Oh! Juice คือร้านสมูททีแบรนด์ใหม่ในเครือโอ้กะจู๋ โดยขายน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ ทำจากผลไม้และผักออร์แกนิกจากสวนของโอ้กะจู๋ มาในคอนเซ็ปต์ ‘No Hack, No Sugar Added’ อร่อยได้ประโยชน์จากผลไม้ล้วนๆ ไม่เติมน้ำตาล ใช้วัตถุดิบพรีเมียม
Oh! Juice ได้เปิดครั้งแรกเมื่อช่วงเดือน พ.ค.67 ที่ผ่านมา ในช่วงที่กระแสสมูทที ของ Erewhon กำลังโด่งดัง สาเหตุที่ Erewhon ได้รับความนิยม เนื่องจาก เป็นน้ำปั่นที่อุดมไปด้วยสารอาหาร และวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ แถมของที่ใช้ก็มีแต่สินค้า organic ที่การันตีถึงวัตถุดิบที่ดี ทำให้บรรดาเซเลบริตี้แถวหน้าทั้งระดับโลกและของไทย ต่างเข้าไป check in ถ่ายรูป แม้ว่าจะเป็นสมูททีที่ราคาสูงเอาเรื่อง แก้วละ เกือบ 1,000 บาท แต่ก็ยอมแลกมาด้วยเรื่องของสุขภาพ
ซึ่งเมนูสมูททีที่ขายดีที่สุดของ Erewhon คือ Coconut Cloud Smoothie สมูททีโทนสีฟ้า ตัดสีน้ำเงินและขาวแยกชั้นกัน ซึ่งดูเผินๆแล้วมีความคล้ายคลึงกับ สมูททีตัวชูโรงของ Oh! Juice นั้นก็คือตัว Ocean N Earth ที่มีราคาแก้วละ 270 บาทเลยทีเดียว
ซึ่งตอนแรกๆที่ Oh! Juice ได้เปิดสาขาแรกที่ เซ็นทรัลลาดพร้าว ก็ยังได้สร้างปรากฎการณ์คิวยาว คนยอมต่อคิวซื้อสมูททีแม้แก้วละเกือบ 300 ก็ตาม จนผ่านมาเกือบ 7 เดือน Oh! Juice สามารถขยายสาขาได้ถึง 15 สาขาทั่วกรุงเทพ
นอกจากนี้ Oh! Juice ยังได้เพิ่มกลยุทธ์ทางการตลาดเปิดตัวเมนูใหม่ สมูททีสูตรดารา ที่นำคุณชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต เซเลบริตี้ชื่อดังของไทย มาคิดสูตรสมูททีของเธอ โดยทาง Oh! Juice ได้เรียกดาราที่คิดค้นสมูททีในชื่อ Brand Admirer
โดยสมูททีที่คุณชมพู่คิดมีส่วนผสมหลักคือน้ำเชอร์รี่แท้ 100 % มาในชื่อ Chompoo Araya’s MATERIAL GIRL SMOOTHIE ราคาแก้วละ 340 บาท
จากกรณีศึกษา ร้าน Oh! Juice เราจะเห็นได้เลยว่า ‘ราคา’อาจะไม่ใช่อุปสรรคต่อกลุ่มผู้บริโภคสายสุขภาพ พวกเขายอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับประสบการณ์ที่มากขึ้น วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงรวมถึงรู้แหล่งที่มาที่ไปของวัตถุดิบตัวนั้นๆ เช่นเดียวกันกับแบรนด์ ก็ต้องไม่หยุดพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด ต้องออกโปรดักส์ใหม่ๆมาเพื่อตอบโจทย์และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เพราะไม่ว่าคุณจะมี loyal customers มากแค่ไหน หากแบรนด์ไม่ปรับตัว สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ก็อาจเกิดความรู้สึก ‘เบื่อ’ และไปหาแบรนด์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์แทน
มาต่อกันที่กระแสกล่องสุ่ม จาก POP MART ร้านของเล่นชื่อดังสัญชาติจีน ที่ได้มาเปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2566 แต่กระแสของร้านนี้แม้ผ่านมากว่า 1 ปี ก็ดูไม่มีท่าที่จะซาลงง่ายๆ ที่เราคงได้เห็นภาพ-วีดีโอตั้งแต่การต่อคิวเข้าศูนย์การค้ายังไม่เปิด และวิ่งแย่งกันไปจนถึงคลิปแกะกล่อง ทายของที่ได้หลังซื้อ
จุดเริ่มต้นของ POP MART เกิดขึ้นในปี 2553 โดย Wang Ning ผู้ประกอบการชาวจีนรุ่นใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจเมื่อครั้งเดินทางไปฮ่องกง ได้เห็นร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลายประเภท จึงอยากนำแนวคิดมาเปิดที่จีน ในที่สุดได้เปิดร้าน POP MART สาขาแรกที่ Zhongguancun นครหนานหนิง ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี ตั้งอยู่ในปักกิ่ง
ปัจจุบัน ร้าน POP MART มีสาขากว่า 460 ร้านทั่วโลก ในจำนวนนี้อยู่ในจีนกว่า 400 สาขา และอีก 60 สาขาอยู่นอกจีน ซึ่งในประเทศไทยของเรา มีมากกว่า 6 สาขาในกรุงเทพ
เสน่ห์ของ POP MART ที่ทำให้แฟนๆหลงใหล คือ ‘กล่องสุม’ (Blind Box) ซึ่งลูกค้าจะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะได้อาร์ตทอยตัวไหน และการออกแบบของอาร์ตทอยจะสามารถสะท้อนอารมณ์ของตัวละครได้ ทำให้สินค้ามีเสน่ห์ทางอารมณ์และดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี
สินค้าตัวดังของ POP MART ที่ได้รับความนิยม คือ ‘ลาบูบู้’ ตุ๊กตาหูยาวๆ คล้ายกับกระต่าย แล้วมีฟันแหลมๆ หนึ่งในตัวละครมอนสเตอร์จากอาณาจักร The Monster โดยลาบูบู้ ได้กระแสความโด่งดังในชั่วข้ามคืนจากการที่ “ลิซ่า” BlackPink ได้โพสรูปลงสตอรี่ซื้อคอลเลกชั่นใหม่ของลาบูบู้ และเจ้าตัวก็ใช้ห้อยกระเป๋า ทำให้เหล่าบรรดาแฟนคลับต่างตามหาเพื่อเป็นเจ้าของ และใช้ตามลิซ่า จนเป็นเป็นกระแส และกลายเป็นของหายากในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง และจากกระแสนี้ส่งผลให้ ราคาของลาบูบู้ พุ่งสูงไปหลายเท่าตัว จากหลักร้อยสู่หลักหมื่น
นอกจากนี้ POP MART ยังได้รุกกลยุทธ์ในการร่วม collaboration กับศิลปินชื่อดัง โดยให้ศิลปินมาร่วมออกแบบตัวละครในรูปแบบของอาร์ตทอย เช่น Cry baby ผลงานของศิลปินชาวไทย อย่างคุณมอลลี่ หรือ มด-นิสา ศรีคำดี Cry baby เป็นตัวละครสุดน่ารักที่มาพร้อมกับรูปแบบน้ำตาที่แตกต่างกันออกไป จนกลายเป็นกระแสยอดฮิตที่ต้องซื้อสะสมกันไปตามๆกัน
สําหรับผลประกอบการย้อนหลัง 4 ปีของบริษัท Pop Mart International Group Limited (HK : 9992)
จากกรณีศึกษา ร้าน POP MART เราจะเห็นได้เลยว่าหนึ่งในกลยุทธ์การทางการตลาดที่น่าสนใจของแบรนด์ คือ เรื่อง ‘จิตวิทยา’ การเล่นกับความรู้สึกของคน ทั้งความตื่นเต้น ความคาดหวังตามสไตล์ของกล่องสุ่ม แม้ว่ารูปแบบนี้ไม่ใช่รูปแบบใหม่ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า กล่องสุมของ POP MART มีเสน่ห์จากความน่ารักจากตัวสินค้า ราคาที่เข้าถึงได้ และกลยุทธ์ตัว secret คือ สิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดลูกค้าให้ยังคงกลับมาซื้อสินค้าซ้ำอย่างต่อเนื่อง
ปิดจบกันด้วย Mixue ร้านแฟรนไชส์ไอศกรีมและเครื่องดื่มสัญชาติจีน ที่ได้รุกเข้าทำการตลาดที่ประเทศไทย และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยอย่างล้มหลาม โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ ‘ราคา’ สบายกระเป๋า
Mixue เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ไอศกรีมและเครื่องดื่มชาผลไม้ ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน มีสาขาในต่างประเทศมากกว่า 11 ประเทศ ปัจจุบัน Mixue ทั่วโลกได้มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็วมากจนตอนนี้มีสาขามากกว่า 30,000 สาขา ทั่วโลก และเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นรองเพียง แมคโดนัลด์ ซับเวย์ สตาร์บัคส์ และเคเอฟซี เท่านั้น
Mixue ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2565 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Mixue ใช้ระยะเวลาแค่ 1 ปี สามารถขยาย สาขามากกว่า 200 สาขา เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในปีที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่คนไทยค้นหาผ่าน ช่องทาง Google เป็นอันดับต้นๆ รองเพียงแค่สุกี้ตี๋น้อย และชาตรามือ เท่านั้น
จุดเด่นของทางแบรนด์ คือ ราคา ความคุ้มค่า และรสชาติโดยมีราคาไอศรีมเริ่มต้น อยู่ที่ 15 บาท /โคน, น้ำมะนาว 15 บาท/แก้ว และชานมไข่มุก 40 บาท/แก้ว โดยการขายราคาถูกได้มาจากความตั้งใจของผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ปักธงว่า ต้องการเน้นขายถูกและให้ปริมาณเยอะ โดยใช้วิธีการควบคุมต้นทุนทั้งห่วงโซ่อุปทานด้วยตัวเองและมีเมนูให้เลือกหลากหลาย
นอกจากนี้ แบรนด์ยังได้สร้างการจดจำแก่ผู้บริโภคผ่านตัวมาสคอตคอตตุ๊กตาหิมะ “Snow King” และหากถ้าเราได้มีโอกาสเข้าไปซื้อของในร้านเราก็จะพบว่าทางร้านจะเปิดเพลง และมิวสิกวิดีโอที่มี มาสคอตตุ๊กตาหิมะ ที่มีเนื้อร้องแปลได้ว่า “เธอรักฉัน ฉันรักเธอ Mixue ไอศกรีมและชา” สร้างความเป็นกันเองและยังทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้
จากกรณีศึกษา ร้าน Mixue เราจะเห็นได้เลยว่า แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจชานมไข่มุกได้รับความนิยมค่อนข้างสูงจากผู้บริโภคชาวไทย จนมีร้านมากมายแบรนด์ไทยและต่างประเทศเปิดกันใหม่อยู่ตลอดเวลา จนเรียกได้ว่าเป็น Red Ocean เลยก็ว่าได้ แต่ Mixue สามารถเข้ามาเจาะนี้ตลาดนี้สำเร็จ ด้วยกลยุทธ์ ‘ราคา และ ความคุ้มค่า’ เจาะกลุ่ม mass โดยสามารถควบคุมการผลิตของตนเองได้ไม่ง้อใคร
อ้างอิง : Butterbear, Oh! Juice Thailand, POP MART, MIXUE Thailand