Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ปิดฉาก 38 ปี "สยามกีฬารายวัน" หนังสือพิมพ์กีฬารายวันฉบับแรกของไทย
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ปิดฉาก 38 ปี "สยามกีฬารายวัน" หนังสือพิมพ์กีฬารายวันฉบับแรกของไทย

1 ก.ย. 66
09:30 น.
|
688
แชร์

ปิดฉาก 38 ปี หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน  ที่นับเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาฉบับแรกของประเทศไทยวันนี้ได้หายไปจากแผงหนังสือแล้ว แต่ทางบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ก็ยืนยันว่า ทั้ง สยามกีฬารายวัน สตาร์ซอคเกอร์  สปอร์ตพูล ตลาดลูกหนัง และสื่อกีฬาอื่นๆของบริษัทยังทำธุรกิจอยู่ แต่เปลี่ยนแพตฟอร์มไปสู่ออนไลน์ทั้งหมด แฟนๆยังสามารถติดตามกันต่อไปได้โดย ทีมงานคุณภาพ อาทิ บิ๊กจ๊ะ, แจ๊คกี้, บอบู๋, ลิตเติ้ลโจ, คุณฉุย, ไก่ป่า, ตังกุย, เจมส์ลาลีกา, ต่อ ถิรพัฒน์, คุณเฉียบ และทีมงานฟุตบอลสยาม, มวยสยาม ยังอยู่ครบครัน

สื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย ค่อยๆปิดตัวลงไปมากขึ้นเรื่อยๆตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้ผู้คนอ่านหนังสือที่เป็นแบบกระดาษน้อยลง หลายรายไม่ไหวก็ล้มหายตายจากวงการไป และหลายรายสู้ต่อปรับตัวให้เข้ากับออนไลน์แพลตฟอร์ม แต่นั่นก็ไม่ได้การรันตีว่าธุรกิจจะยังรอดพ้นภาวะความยากลำบาก เพราะการแข่งขันรุนแรงและโมเดลธุรกิจที่ต้องปรับให้ทันด้วยเช่นกัน  วันนี้ SPOTLIGHT พาย้อนดู 38 ปีบนเส้นทางของหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน 

สิบปีที่ผ่านคนไทยเสพสื่อออนไลน์มากกว่าสิ่งพิมพ์

หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ก่อตั้งโดย นายระวิ โหลทอง ซึ่งเดิมทำงานเป็นหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาลงทุนทำสื่อสิ่งพิมพ์ด้านกีฬาเริ่มจากทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 500,000 บาท โดยมีนิตยสาร “กีฬาสยาม” เป็นสิ่งพิมพ์ฉบับแรก (เลิกพิมพ์ปี 2516) หลังจากนั้น ก็มีการพิมพ์นิตยสารเพิ่มขึ้น และฉบับที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักก็คือ “นิตยสารสตาร์ซอคเกอร์” และได้มีวิวัฒนาการพิมพ์เป็นหนังสือพิมพ์กีฬารายวันฉบับแรกของเมืองไทยคือ “หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน”นั่นเอง 

หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันฉบับปฐมฤกษ์ คือ 8 มีนาคม พ.ศ.2528  และฉบับสุดท้ายคือ  31 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ปิดฉากสยามกีฬารายวัน

เพจสยามสปอร์ต  ได้โพสเรื่องราวของการปิดตัวสื่อสิ่งพิมพ์ว่า ทีมผู้บริหารสยามสปอร์ต และกองบรรณาธิการ ในนามของ ระวิ โหลทอง ประธานผู้ก่อตั้ง ได้เปิดเผยเกี่ยวกับธุรกิจหนังสือพิมพ์รายวัน ในเครือสยามสปอร์ตว่า ทางสยามสปอร์ตยังคงดำเนินธุรกิจสื่อกีฬาต่อไปอย่างแน่นอน เพียงแต่แค่ยุติการผลิตหนังสือพิมพ์กีฬารายวัน ทั้งสยามกีฬา-สตาร์ซอคเก้อร์ รายวัน, สปอร์ตพูล รายวัน และตลาดลูกหนัง รายวัน จะวางแผงฉบับหัวหนังสือวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เป็นวันสุดท้าย

ทั้งนี้เรามีการทำสื่อกีฬาออนไลน์ ครบวงจรควบคู่กับหนังสือพิมพ์รายวันมาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อหนังสือพิมพ์รายวันยุติการผลิตลง จึงต้องมาเน้นการทำสื่อออนไลน์แบบครบวงจรเต็มที่แบบเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็น ยูทูบ เว็บไซด์ เพจ อินสตาแกรม ติ๊กต๊อก ทวิตเตอร์

ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงของการเสพสื่อของคนทั่วไปได้หันไปเสพสื่อทางออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้หนังสือพิมพ์รายวัน ที่มีต้นทุนการผลิตสูง ทั่วโลกสื่อสิ่งพิมพ์รายวันค่อยๆ ปิดตัวไปเรื่อยๆ แต่ทางสยามสปอร์ตก็พยายามประคับประคองหนังสือพิมพ์รายวันของเราเอาไว้ให้ถึงที่สุด แม้จะต้องขาดทุนกับการแบกภาระต้นทุนทั้งค่ากองบก.ที่เรามีส่งผู้สื่อข่าวไปประจำสำนักงานต่างประเทศที่อังกฤษ ตระเวนทำข่าวการแข่งขัน แมตช์สำคัญของโลกมายาวนานหลายสิบปี ส่งผู้สื่อข่าวไปทุกสนามแข่งขันกีฬาทั่วประเทศ ค่าพนักงานคอมพิวต์ ปรู๊ฟ บัญชี การเงิน ฝ่ายบุคคล ค่ากระดาษ ค่าแท่นพิมพ์ ค่าสายส่งจัดจำหน่าย จิปาถะ

ทางเราเองรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหนังสือ ได้แฟนหนังสือจำนวนไม่น้อยคอยอุดหนุนซื้อหนังสือ แต่เนื่องจากสื่อกีฬารายวัน หาสปอนเซอร์สนับสนุนไม่ได้ง่ายเหมือนหนังสือพิมพ์รายวันอื่นๆ ทั่วไป ที่ยังพอมีกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจบ้างมาช่วยสนับสนุน พอเกิดเหตุการณ์ร้านขายหนังสือทยอยกันปิดตัวจำนวนมาก จนเหลือแผงขายหนังสือทั่วประเทศไม่กี่เจ้า 

ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้บริหารใหญ่ 7-11 ที่ช่วยอนุเคราะห์ช่องทางการวางขายหนังสือใน 7-11 ด้วย แต่อย่างไรก็ตามในเมื่อช่องทางการขายหนังสือลดลง ผู้อ่านหาซื้อหนังสือพิมพ์ลำบาก ทำให้ทางเราไม่อาจทนแบกภาระการขาดทุนหนังสือพิมพ์ที่ตกราวเดือนละ 3.5 ล้านบาทไหว จึงจำเป็นต้องยุติหนังสือพิมพ์รายวันไว้แค่นี้

แต่ธุรกิจอื่นของสยามสปอร์ตยังอยู่ ธุรกิจแท่นพิมพ์ เรายังรับจ้างพิมพ์งานเหมือนเดิม ซึ่งตอนนี้เรามีพิมพ์หนังสือให้เจ้าอื่นอยู่หลายเล่ม รวมทั้งการพิมพ์แม็กกาซีน รายสัปดาห์ รายเดือน และหนังสือฉบับพิเศษ เรายังผลิตอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็น สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์, ผีแดง รายเดือน, หงส์แดง รายเดือน เป็นต้น

เช่นเดียวกับการรับจัดอีเวนต์กีฬา และอีเวนต์อื่นๆ ทั่วไป รวมถึงการจัดทัวร์ดูกีฬาต่างประเทศ และทัวร์ท่องเที่ยวทั่วไป เราก็จะดำเนินการอย่างจริงจังเพิ่มรายได้ โดยทีมงานบุคลากรคุณภาพที่มีชื่อเสียง ธุรกิจเหล่านี้จะช่วยให้ทางเราพลิกฟื้นจากขาดทุนหนังสือพิมพ์รายวันจำนวนมาก มาเป็นกำไรในระยะเวลาอันรวดเร็ว

สยามกีฬารายวัน

พร้อมบุกช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม 

แฟนๆ สยามสปอร์ต แฟนหนังสือสยามกีฬา-สตาร์ซอคเก้อร์, สปอร์ตพูล จะพบกับเราเหมือนเดิมทางช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มในทุกๆ วัน โดยเราจะมีคอนเทนต์ใหม่ๆ เพิ่มเติมความเข้มข้น แข็งแกร่ง และน่าติดตามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ เจาะประเด็นข่าวฮอต ข่าวเด่นประจำวัน ทั้งกีฬาไทย และกีฬาต่างประเทศ ของสยามกีฬา การวิจารณ์ฟุตบอลต่างประเทศ แบบเจาะลึกและแม่นยำ โดยสปอร์ตพูล ทั้งนี้ ระวิ โหลทอง ประธานผู้ก่อตั้งอาณาจักรสยามสปอร์ต ยืนยันว่า ในทุกแพลตฟอร์มของสื่อสยามสปอร์ต สยามกีฬา สปอร์ตพูล เราจะทำให้ดีที่สุด และเต็มที่ ไม่ให้แฟนๆ ของเราต้องผิดหวัง


ผลประกอบการ ขาดทุนสะสมกว่าพันล้านบาท 


สำหรับ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือที่รูจักกันในชื่อทางการค้าว่า สยามกีฬารายวัน นั้น เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ กีฬาและสันทนาการ (Sports & Recreation) ได้ก่อตั้งขึ้นโดยนายระวิ โหลทอง นั้นปัจจุบันบริษัทมีหนังสือพิมพ์รายวันรวม 7 ฉบับ และนิตยสารด้านกีฬา และบันเทิงอีกกว่า 20 ฉบับ นอกเหนือจากงานด้านสิ่งพิมพ์ บริษัทยังได้มีการขยายการดำเนินธุรกิจไปยังสื่อประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬา เช่น ธุรกิจทีวีกีฬา ธุรกิจดิจิตอลมีเดีย ธุรกิจอีเว้นท์ เป็นต้น

และบริษัทประกอบธุรกิจหลักประเภทผลิตสิ่งพิมพ์ ที่ดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์ในลักษณะให้บริการครบวงจร เริ่มตั้งแต่ การวางแผนการผลิต รับจัดทำต้นฉบับ แบบแยกสี ทำเพลท ทำปรู๊ฟ พิมพ์ออฟเซท ทั้งระบบป้อนแผ่น และป้อนม้วน พับ เข้าเล่มไสกาว จนถึงสิ่งพิมพ์สำเร็จรูป หรือตามแนวคิดแบบ One Stop Printing Facility ด้วยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปีด้วยคุณภาพที่ว่า

ผลประกอบการ 5 ย้อนหลัง  บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) 

2561 รายได้ 696.76  ล้านบาท  ขาดทุน 146.23  ล้านบาท

2562 รายได้ 516.37 ล้านบาท  ขาดทุน 217.78  ล้านบาท

2563 รายได้ 413.57  ล้านบาท ขาดทุน 187.87  ล้านบาท

2564 รายได้ 427.58  ล้านบาท ขาดทุน  307.06 ล้านบาท

2565 รายได้ 326.44 ล้านบาท  ขาดทุน 354.79  ล้านบาท

รวม 5 ปี ขาดทุนสะสม 1,213.73 ล้านบาท

ที่มา บีบางปะกง ,กรมพัฒนาธุรกิจการค้า , เว็บไซต์สยามสปอร์ต 

 

แชร์
ปิดฉาก 38 ปี "สยามกีฬารายวัน" หนังสือพิมพ์กีฬารายวันฉบับแรกของไทย